อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของประเทศเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนเป็น 0.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และสามารถทำรายได้ให้ประเทศถึง 498 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ ไว้ถึง 35—40% ต่อปีต่อเนื่องตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี 2553 ( คศ.2010) โดยคาดว่าจะมีรายได้ระหว่าง 800-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะทำให้เวียดนามเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ส่งออกและรับจ้างผลิต (Outsourcing) ซอฟท์แวร์ในตลาดโลก
เวียดนาม : แหล่งผลิตซอฟท์แวร์เกิดใหม่
อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักของตลาดโลกตั้งแต่ปี 2547 เมื่อบริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐฯ คือ AT Kearny ได้จัดอันดับให้เวียดนามเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุดด้าน Software Outsourcing
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนามเป็นที่น่าสนใจของประชาคม IT ระหว่างประเทศ นอกจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ แล้ว ( วิศวกรด้าน IT ของเวียดนาม มีอัตราค่าจ้างเดือนละประมาณ 800 เหรียญสหรัฐ เทียบกับอัตราค่าจ้างของวิศวกรด้าน IT ในบางประเทศซึ่งอยู่ระหว่าง 2,000 — 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ) การที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน IT เข้ามาลงทุนในเวียดนาม เช่น Intel เข้ามาลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในสิ่งอำนวยความสะดวกแก่โรงงานผลิต chip ใน Saigon High — Tech Park ณ นครโฮจิมินห์ และ Microsoft เปิดสำนักงานในเวียดนามเพื่อปกป้องด้านลิขสิทธิ์แล้วยังให้การพัฒนาสาขา IT โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษาด้าน IT เป็นต้น ยิ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นเป้าหมายแห่งใหม่ของการผลิต Software
ลูกค้าสำคัญ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็น 1 ในลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของคนเชื้อสายเวียดนาม — อเมริกันที่ทำงานในบริษัท IT สำคัญๆ ในสหรัฐฯ และบางส่วนได้กลับมาลงทุนตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ขนาดใหญ่ เช่น Pyramid Software Development, Global Cybersoft, TMA Solutions, Glass Egg และ Silkroad เป็นต้น บริษัทอเมริกันที่มีคนเชื้อสายเวียดนาม — อเมริกันร่วมทำงานมักเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท Software processing ในเวียดนามด้วย
ส่วนญี่ปุ่นได้เริ่มเข้ามาเมื่อ 2 -3 ปีที่ผ่านมา โดยหลายบริษัทเข้ามาเพื่อหาคู่ค้าสำหรับจัดตั้งบริษัทผลิต Software เช่น Unico Vietnam, Ichi Corporation, Individual System, Aplis Vietnam และ Fusione เป็นต้น และเพื่อสามารถสนองตอบความต้องการของญี่ปุ่นกลุ่มของวิศวกรด้าน IT ของเวียดนามที่ทำงานในญี่ปุ่นได้รวมตัวกันจัดตั้ง Kobekara Company ขึ้นในนครโฮจิมินห์เพื่อเชื่อมโยงระหว่างบริษัทคู่ค้าญี่ปุ่นและเพื่อฝึกอบรมวิศวกรด้าน IT ของเวียดนามให้มีความสามารถทำงานได้ตามที่บริษัทคู่ค้าต้องการ
ผู้ส่งออกซอฟท์แวร์ของเวียดนามให้ความสำคัญต่อตลาดญี่ปุ่นมากที่สุดเพราะเป็นตลาดซอฟท์แวร์ที่มีมูลค่าทั้งหมดถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นมูลค่า 20 % ของตลาดซอฟท์แวร์ของโลก ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม (VINASA) คาดว่าภายในปี 2553 เวียดนามจะมีรายได้จากการส่งออกซอฟท์แวร์ไปยังญี่ปุ่นเป็นมูลค่าถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การจะบรรลุเป้าหมาย ได้เวียดนามจะต้องมีบุคลากรด้าน software programmer จำนวนกว่า 20,000 คน
นอกจากนี้ บริษัท IT ของเวียดนามบางบริษัทเช่น FPT Software ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามโดยมีวิศวกรประมาณ 2,500 คน ได้เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์ศักยภาพด้าน Software processing และเพื่อหาลูกค้าในญี่ปุ่นด้วย
ส่วนบริษัทซอฟท์แวร์ของเวียดนามรายอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น Lac Viet, HPT, Viet Software, AZ Solutions, Tan Thien Nien Ky และ CMS Software เป็นต้น ต่างก็พยายามเพิ่มศักยภาพการผลิตและขยายตลาดโดยการร่วมทุน ( joint venture ) กับบริษัทต่างชาติเพื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ด้วย
ความท้าทาย : ค่าจ้างแรงงานต่ำไม่สามารถรักษาลูกค้าไว้ได้
แม้อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตถึง 50% ในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น ( infant industry)ที่ต้องการการพัฒนาอีกมากเพื่อรักษาความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคและเพื่อการได้รับสัญญาว่าจ้างการผลิตในโครงการขนาดใหญ่ขึ้น
ปัจจุบันเวียดนามมีผู้ผลิตซอฟท์แวร์มากกว่า 750 บริษัท โดยมีวิศวกรจำนวน 25,000 คน สามารถทำรายได้ปีละ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วบริษัทซอฟท์แวร์ของเวียดนามมีขนาดเล็กทั้งจำนวนพนักงานและปริมาณผลผลิตมีเพียง 2 — 3 บริษัทเท่านั้นที่มีพนักงานเป็นวิศวกรมากกว่า 1,000 คน บริษัทซอฟท์แวร์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงรับช่วงการผลิตในบางส่วนของโครงการเท่านั้นในขณะที่การเติบโตอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งด้านแรงงานและคุณภาพเพื่อให้สามารถดำเนินการในโครงการซอฟท์แวร์ขนาดใหญ่ที่ความซับซ้อนมากขึ้นได้
ปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนามในปัจจุบัน คือการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณสมบัติ ทักษะด้านภาษาและประสบการณ์ บริษัทซอฟท์แวร์ขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดหวั่นเกรงการขาดแคลนพนักงานด้านวิศวกรIT มากกว่าการไม่มีสัญญาว่าจ้างเสียอีก บริษัทซอฟท์แวร์ท้องถิ่นบางบริษัทต้องพลาดจากการทำสัญญาการผลิตเพราะความอ่อนด้อยด้านภาษาต่างประเทศนอกจากนี้ วิศวกรในท้องถิ่นยังต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเพื่อติดตามความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม IT ระหว่างประเทศเพื่อสามารถเข้าไปรับงานผลิตในโครงการขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้นได้
การพัฒนาวิศวกรด้าน IT : ตั้งเป้าเป็น 1 ใน 15 ของประเทศผู้ผลิตซอฟท์แวร์โลก
รัฐบาลเวียดนามตระหนักดีว่าค่าจ้างแรงงานที่ต่ำเป็นปัจจัยแรกที่จูงใจบริษัทต่างชาติต่อการจ้างผลิตซอฟท์แวร์ แต่ไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวโดยเฉพาะเมื่อค่าครองชีพในเวียดนามสูงขึ้นอย่างมากเช่นปัจจุบัน จำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นเพื่อรักษาลูกค้าไว้ในระยะยาว จึงให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเพิ่มศักยภาพของวิศวกร IT โดยตั้งเป้าให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางในการผลิตและฝึกอบรมแรงงานด้านซอฟท์แวร์
ยุทธศาสตร์ที่เวียดนามใช้ในการพัฒนาบุคลากร คือ การร่วมมือกับธุรกิจซอฟท์แวร์ของประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในการฝึกอบรมวิศวกรของเวียดนาม โดยมีประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในปี 2551 ที่สำคัญ คือ
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีโครงการเข้ามาลงทุนตั้งโรงเรียนฝึกสอนด้านสารสนเทศในวงเงินลงทุนระหว่าง 50—80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะให้ผู้ประกอบวิชาชีพของญี่ปุ่นเข้ามาฝึกอบรม software programmer ของเวียดนามให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทั้งนี้ 20% ของนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมจากโรงเรียนแห่งนี้จะได้ไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการดำเนินการกล่าวจะทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเวียดนามกับตลาดซอฟท์แวร์ของญี่ปุ่นมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังติดขัดปัญหาด้านการก่อสร้างที่ญี่ปุ่นมีเงื่อนไขต้องใช้บริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่น
ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่มี software programmer ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 4 รองจากจีน อินเดีย และเกาหลีใต้
เดนมาร์ก
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รัฐบาลเดนมาร์กและเวียดนามได้ร่วมลงนามในความตกลงให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนามตามโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตแก่เวียดนาม โดยรัฐบาลเดนมาร์กจะให้ความช่วยเหลือจำนวน 4.8 ล้านเดนมาร์กโคร์น ( หรือประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ) และจะช่วยสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม ( Vietnam Software Assoiation : Vinasa ) ในการวางแผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรรมซอฟท์แวร์ จัดทำรายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม สรัง portal sites สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างบริษัทซอฟท์แวร์ของเดนมาร์กและเวียดนาม และจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้ลูกจ้างของ VINASA โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 - 2554
การสนับสนุนของรัฐบาล
รัฐบาลเวียดนามได้ผ่านความเห็นชอบโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในปี 2010 ( พ.ศ.2553) โดยการดำเนินการตามโครงการมีเป้าหมาย คือ
- สามารถสร้างรายได้ถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีวิศวกรถึง 60,000 คนที่สามารถทำรายได้คนละ 15,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
- จะต้องมีบริษัทซอฟท์แวร์ขนาดใหญ่ที่มีวิศวกรมากกว่า 1,000 คนจำนวนมากกว่า 10 บริษัทและบริษัทมีวิศวกรมากกว่า 100 คนจำนวนมากกว่า 200 บริษัทที่ได้รับการพัฒนาแล้ว
- เป้าหมายที่ท้าทายที่สุดคือต้องทำให้เวียดนามเป็น 1 ใน 15 ประเทศของโลกที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตซอฟท์แวร์
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามได้อนุญาตให้ภาคเอกชนจัดตั้งมหาวิทยาลัยด้าน IT และเสนอเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยต่างชาติที่จะเข้ามาติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกสอนด้าน IT ในเวียดนาม นอกจากนี้ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร( Ministry of Information and Communication ) ของเวียดนามได้ยกร่างแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้าน IT ภายในปี 2015 และ 2020 ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดให้ภายในปี 2015 จะต้องมีแรงงานด้าน IT ไม่น้อยกว่า 330,000 คน ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน IT ไม่น้อยกว่า 240,000 คน
การดำเนินการของเอกชนในท้องถิ่น
บริษัทซอฟท์แวร์เองก็ได้พยายามพัฒนาบุคลากรให้กับบริษัทของตนเช่น บริษัท FPT Software ได้ตั้งมหาวิทยาลัย IT เพื่อผลิตพนักงานที่ตรงกับความต้องการบริษัท TMA Solutions และบริษัท CMS Software ก็กำลังจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยของตนเองเช่นกัน รวมทั้งสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม ( VINASA) ได้วางแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทสมาชิกในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อการฝึกอบรมแรงงานด้าน IT ในอนาคตอันใกล้
การบริโภคในประเทศ
จากการสำรวจพฤติกรรมของบริษัทในเวียดนาม โดย VCCI ( Vietnam Chamber of Commerce and Industry ) พบว่ามีบริษัทท้องถิ่นเพียง 40% ของจำนวนบริษัทที่ให้สัมภาษณ์ว่าได้จ่ายเงินเพื่อการใช้ซอฟท์แวร์
ประมาณ 20% ของการใช้ซอฟท์แวร์ของบริษัทในประเทศเป็นซอฟท์แวร์แบบง่ายๆ ส่วนมากเป็นซอฟท์แวร์สำหรับสำนักงาน และมีเพียง 1.1% ของบริษัทในเวียดนามที่ใช้ Enterprise Resource Planning Solutions และ 97.3% ยังไม่เคยใช้ e—commerce
อย่างไรก็ตามปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในเวียดนามยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของเวียดนาม โดยประมาณ 88% ของการใช้ซอฟท์แวร์ทั้งหมดในเวียดนามเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
สคต. ณ นครโฮจิมินห์
Upload Date : 30 พฤษภาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th