การแปรรูปสัตว์น้ำและอาหารทะเลของเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2008 14:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวม
สาขาประมงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเวียดนามโดยมีสัดส่วน 4.0% ของ GDP ( ปี 2550 ) และ
สามารถทำรายได้จากการส่งออกถึง 3.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำรายได้มากเป็นอันดับ 4 รองจากน้ำมันดิบ สิ่งทอ
และรองเท้า ปัจจุบันเวียดนามเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก
เวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 3,260 กิโลเมตร มีเกาะมากกว่า 3,000 เกาะ และมีแม่น้ำกว่า
2,860 สาย รวมทั้งปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อทะเล ทำให้เวียดนามเป็นผู้ผลิตสัตว์น้ำรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกรอง
จาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
แหล่งจับปลาที่สำคัญของเวียดนามคือ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ( Mekong River Delta )
ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเขตที่การจับปลาได้ผลผลิตสูง โดยมีพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร เขตสามเหลี่ยมปาก
แม่น้ำแดง( Red River Delta ) ทางภาคเหนือ และยังมีพื้นที่ของแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่น ๆ ในแผ่นดิน
อีก 4,200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตารางกิโลเมตร ในช่วงน้ำท่วมตามฤดูกาล
ผลผลิตสัตว์น้ำมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยในอัตรา 10.51% จากปี 2534 — 2543 อัตรา
12.14 % จากปี 2544 — 2548 และ 11.52 % จากปี 2549 — 2550 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการเพาะ
เลี้ยงสัตว์น้ำจากที่เคยมีสัดส่วน 26% ในปี 2543 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 50.3% ในปี 2550 เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด
ส่งออกและการเติบโตของตลาดในประเทศอันเนื่องจากรายได้ของประชาชนสูงขึ้น
ตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเวียดนามที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและ
สหภาพยุโรป ส่วนการส่งออกอาหารทะเลมีผู้นำเข้าที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
รัฐบาลเวียดนามให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปโดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจัดตั้ง
นิคมอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ( Exclusive Economic Zone : EEZ ) ซึ่งตั้งเรียงราย
บริเวณเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครอบคลุมพื้นที่กว่าล้านตารางกิโลเมตร และ ตั้งเป้าการเติบโตของผลผลิตโดยเฉลี่ย 3.8%
ต่อปี โดยมีผลผลิตสัตว์น้ำ 3.5—4.0 ล้านเมตริตันตันต่อปี และมีอัตราเติบโตของมูลค่าส่งออกเป็น 10.63% ต่อปี โดย
มีรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 4.0 — 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
2. การผลิต
เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าประมงได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย
และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2550 ผลิตได้ถึง 4,149 พันตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ 2,063.8 พันตัน
หรือคิดเป็นสัดส่วน 49.7% และเป็นการเพาะเลี้ยงจำนวน 2,085.2 พันตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50.3% ซึ่งเป็นปีแรกที่
สัดส่วนผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงมากกว่าการจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ เพราะอัตราการเติบโตจากช่วงปี 2549—2550
สูงถึง 73% ขณะที่การจับสัตว์น้ำเติบโตเพียง 6.4%
ปลาเป็นสัตว์น้ำที่มีปริมาณผลผลิต (คิดจากน้ำหนัก)มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 75.5% ของการจับสัตว์น้ำ
และ 71.7% ของการเพาะเลี้ยง ส่วนกุ้งเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 77.6% ของผลผลิตกุ้งทั้งหมดของเวียดนามปี 2550
ตารางที่ 1 : ผลผลิตสัตว์น้ำของเวียดนาม
หน่วย : พันเมตริกตัน
2547 2548 2549 2550 2551
( ม.ค.- พ.ค.)
ผลผลิตทั้งหมด 3,142.5 3,465.9 3,720.5 4,149.0 1,639.0
- ปลา 2,229.5 2,469.0 2,689.8 3,053.6 1,259.0
- กุ้ง 388.9 435.1 463.2 498.2 143.0
- อื่น ๆ 524.1 561.8 567.5 597.5 237.0
ปริมาณสัตว์น้ำจากการประมง 1,940.0 1,987.9 2,026.6 2,063.8 912.0
- ปลา 1,467.9 1,497.0 1,532.7 1,558.8
- กุ้ง 107.1 107.9 108.7 111.6
- อื่น ๆ 365.0 382.1 385.2 393.4
การเพาะเลี้ยง 1,202.5 1,478.0 1,693.9 2,085.2 727.0
- ปลา 761.6 971.2 1,157.1 1,494.8
- กุ้ง 281.8 327.2 354.5 386.6
- อื่น ๆ 159.1 179.6 182.3 203.8
ที่มา : General Statistics Office (GSO) , Ministry of Fisheries (MoFi)
2.1 การจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
- การทำประมงทะเล ส่วนใหญ่กระทำโดยเรือขนาดเล็ก บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเลแต่จำนวนสัตว์น้ำ
เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเวียดนามจึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ออกไปจับสัตว์น้ำในบริเวณนอกชายฝั่ง
มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้วิธีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเปลี่ยนเป็นอาชีพอื่น เช่น ค้าขาย ท่องเที่ยว และบริการด้าน
การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
ปัจจุบันการประมงนอกชายฝั่งให้ผลผลิตประมาณ 34—40% ของปริมาณการจับสัตว์น้ำทางธรรมชาติ
ทั้งหมดโดยเป็นปลาประมาณ 1.7 ล้านตัน/ปี กุ้งและปูประมาณ 50,000-60,000 ตัน/ปี และปลาหมึกจำนวน 60,000—
70,000 ตัน / ปี
- การทำประมงน้ำจืด สามารถจับได้ประมาณ 200,000-250,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่เป็นการ
บริโภคในประเทศ โดยเป็นการจับสัตว์น้ำในทะเลสาบประมาณ 9,000 ตัน/ปี ส่วนที่เหลือเป็นการประมงในแม่น้ำ
รวมทั้งในบริเวณน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในบริเวณ Mekong Delta จะจับปลาได้ไม่ต่ำกว่า30,000 ตัน/ปี
2.2 การเพาะเลี้ยงสัตว์
มีการเติบโตอย่างมากในช่วง 2 — 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนของผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มจาก 26.2 %ในปี
2543 เป็น 50.3 %ในปี 2550 ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาทั้งด้านเทคนิคการผลิตและการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง การเพาะ
เลี้ยงจะมีทั้งในทะเล น้ำกร่อยและน้ำจืด โดยในปี 2549 มีพื้นที่ใช้เพาะเลี้ยงถึง 1,050 พันเฮคตาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 64%
จากปี 2543 ซึ่งมีเพียง 641.9 พันเฮกตาร์ สัตว์น้ำที่จับได้มีหลายชนิด แต่มากที่สุดคือกุ้ง และ catfish ( ปลาหนังลื่น )
ปลา Catfish เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงในน้ำจืดมากที่สุดโดยเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างรวดเร็วตามความ
ต้องการของตลาดต่างประเทศ ผลผลิตต่อปีเพิ่มจาก 400,000 เมตริกตันในปี 2547 เป็น 600,000 และ 800,000
เมตริกตัน ในปี 2548 และ 2549 ตามลำดับคาดว่าผลผลิตในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเมตริกตัน
การเพาะเลี้ยงกุ้ง เดิมมีเฉพาะการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อการส่งออก แต่ต่อมาได้เริ่มหันมาเลี้ยง กุ้งขาว
มากขึ้น โดยรัฐบาลอนุญาตให้บางจังหวัดเลี้ยงกุ้งขาวได้ คาดว่าภายใน 3—5 ปี ผลผลิตกุ้งขาวของเวียดนามอาจ
มากกว่าไทยหากมีการพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวกว่าและแนวโน้มเกษตรกรรายย่อยลดลง
การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีความหนาแน่น 25—35 ตัว/ตารางเมตร ส่วนการเลี้ยงกุ้งขาว มีความหนาแน่น 100
ตัว / ตารางเมตร
3. การแปรรูปสัตว์น้ำ
เวียดนามมีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลถึง 470 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิตอาหารทะเล
แช่แข็ง 296 แห่ง โรงงานถนอมอาหาร ( preserved ) และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแห้ง 32 แห่ง โรงงานผลิต
อาหารทะเลกระป๋อง 9 แห่ง และโรงงานปลาป่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 17 แห่ง ทั้งนี้ 70% ของโรงงาน
ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของเวียดนาม 24% ตั้งอยู่ในภาคกลางและอีก 6% ตั้งอยู่ในภาคเหนือ
อุตสาหกรรมอาหารทะเลของเวียดนามมีการลงทุนอย่างมากเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการค้ากับต่าง
ประเทศ โรงงานขนาดใหญ่หลายโรงงานได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัยของอาหารจากประเทศนำเข้าที่สำคัญ
และบางโรงงานก็ได้นำมาตรฐานการควบคุมคุณภาพการผลิต เช่น HACCP GMP และ SSOP เป็นต้น มาใช้แต่อย่างไร
ก็ตาม ก็ยังคงมีโรงงานแปรรูปจำนวนหนึ่งที่ยังมีปัญหาด้าน food safety และมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
เวียดนามมีโรงงานประมาณ 246 แห่งที่ผ่านการทดสอบแล้วและสามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหภาพ
ยุโรปได้และ 34 แห่งได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้
การแปรรูปและการบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในเวียดนามได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรม
ห้องเย็นก่อนหน้านั้นอาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดที่บริโภคในประเทศต้องนำเข้า แต่ปัจจุบันหลายโรงงานได้เน้นการแปรรูป
เพื่อจำหน่ายตลาดในประเทศ และหลายโรงงานเน้นเฉพาะตลาดส่งออกเวียดนามมีคลังเก็บสินค้าแช่แข็ง ( cold
storage) จำนวน 643 แห่ง และคลังเก็บสินค้าแช่เย็น ( cool storage) จำนวน 146 แห่ง
4. การค้าอาหารทะเลของเวียดนาม
4.1 การส่งออก
การส่งออกสินค้าอาหารของเวียดนามในปี 2549 มีปริมาณ 811.5 พันเมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
29.4% ปลา catfish และกุ้งมีสัดส่วนส่งออกมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 22 % และ 44 % ของรายได้จากการส่งออกตามลำดับ
ตารางที่ 2 : การส่งออกอาหารทะเลของเวียดนาม
ปริมาณ : พันเมตริกตัน มูลค่า : พันเหรียญสหรัฐ
สินค้า 2548 2549 2550 ( ม.ค.-มี.ค.)
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
ส่งออกรวม 626,921 2,738,798 811,510 3,348,291 186,427 715,661
กุ้งสดแช่แข็ง 159,243 1,371,380 158,447 1,460,586 23,369 236,858
ปลาสดแช่เย็น / แช่แข็ง 274,602 687,720 444,709 1,145,086 117,183 315,101
- ปลา catfish 140,703 328,082 286,600 736,872 80,851 206,338
- ปลาทูนา 26,761 81,173 44,822 117,133 11,677 34,075
Frozen Cephalopods 61,956 182,198 69,763 222,190 16,415 53,515
ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแห้ง 35,910 130,300 35,479 142,195 8,777 33,249
ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 95,210 367,200 103,112 378,234 20,683 76,938
ที่มา : VASEP
ในปี 2550 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกอาหารทะเลถึง 3.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12%
จากปีที่ผ่านมาและคาดว่าในปี 2551 จะมีรายได้ถึง 4.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าการตรวจสอบด้านสุขอนามัยและ
ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นไปอย่างมีคุณภาพ
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ( MARD ) ได้กำหนดเป้าหมายที่จะได้รับรายได้จากการ
ส่งออกอาหารทะเลในช่วงปี 2553 — 2563 เป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะทำให้สาขาอาหารทะเลมีการพัฒนา
เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ตลาดที่สำคัญเวียดนามส่งอาหารทะเลออกไปจำหน่ายยัง 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
เป็นตลาดใหญ่ที่สุดสองลำดับแรกแต่ในปี 2551 ( ม.ค.- เม.ย.) สหภาพยุโรปกลายเป็นผู้ นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่
ที่สุด โดยนำเข้ามูลค่า 280 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 26% ของมูลค่าส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของเวียดนาม
ส่วนญี่ปุ่นยังคงนำเข้าเป็นอันดับสองมูลค่า 179 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17.4% สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าลง
13% และ 15.2% ของปริมาณและมูลค่า ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้การสั่งซื้อกุ้งลดลงเพราะถูก
มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ high — end
ตารางที่ 3 : ตลาดส่งออกสินค้าอาหารทะเลของเวียดนาม
ปริมาณ : พันเมตริกตัน มูลค่า : พันเหรียญสหรัฐ
ประเทศ 2548 2549 2550 ( ม.ค.-มี.ค.)
ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า ปริมาณ มูลค่า
ส่งออกรวม 626,921 2,738,798 811,510 3,348,291 186,427 715,661
ญี่ปุ่น 127,721 813,334 123,889 842,614 19,332 121,722
สหภาพยุโรป 130,699 436,635 219,967 723,505 55,926 174,635
สหรัฐอเมริกา 91,643 633,912 98,883 664,340 18,152 131,036
เกาหลีใต้ 75,469 162,283 84,903 210,319 20,366 53,289
อาเซียน 48,268 123,233 60,335 150,961 14,854 41,678
จีน 47,519 134,416 48,470 145,573 11,107 36,855
ออสเตรเลีย 21,757 96,781 24,303 126,493 4,373 21,710
รัสเซีย 13,130 33,624 58,705 126,393 16,820 37,239
ไต้หวัน 34,643 121,678 30,623 99,289 6,559 22,097
ประเทศอื่น ๆ 36,072 182,900 61,432 258,804 18,938 75,401
ที่มา : VASEP
ตารางที่ 4 : การส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่นๆของเวียดนามมายังไทย
มูลค่า : พันเหรียญสหรัฐ
ประเภท 2548 2549 2550 2551 อัตราการเปลี่ยนแปลง (%)
(ม.ค.-เมย.) 2549 2550 2551(ม.ค.-เม.ย.)
ส่งออกรวม 28,771 28,357 38,400 12,978 -1.4 35.4 34.4
เนื้อปลาแช่เย็น / แช่แข็ง 13,945 15,580 25,719 9,831 11.7 65.1 47.8
หอย / ปลาหมึก แช่เย็น แช่แข็ง 7,281 7,999 8,735 2,310 9.8 9.2 -7.9
ปลาแช่แข็ง 834 853 1,937 442 2.3 126.9 33.1
กุ้งแช่เย็น / แช่แข็ง 6,677 3,892 1,894 377 -41.7 -51.3 150.9
ปลาแห้ง 33 0.55 101 40
ปลามีชีวิต 0.06 - 10 6 -17.9
ปลาแช่เย็น 0.09 32 4 0.14 -87.3 -87.6
ที่มา: Glabal Trade Atlas , กรมศุลกากรของไทย
4.2 การนำเข้า
แม้ว่าเวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลรายใหญ่ แต่ยังต้องนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตและ สัตว์น้ำแปรรูป
เพื่อการบริโภคในประเทศซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากความต้องการของโรงแรมและภัตตาคาร รวมทั้ง supermarket โดยนำ
เข้าจากหลายแหล่งด้วยกันคือ
- นำเข้าปลาสวยงามและพันธุ์ปลาจากจีน ไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซีย
- ปลาแซลมอนมีชีวิตจากนอรเวย์และสหรัฐอเมริกา
- ปลาแช่เย็นและแช่แข็งจากญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย นอรเวย์และประเทศอื่น ๆ
- พันธุ์กุ้งกุลาดำจากจีน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
- กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อการแปรรูปจากจีนและอินเดีย
ในปี 2549 เวียดนามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นมูลค่า 95.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมีมูลค่า
10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 รองจากนอรเวย์ และอินเดีย
5. ความท้าทายของธุรกิจสัตว์น้ำของเวียดนาม
โอกาสที่ธุรกิจสัตว์น้ำของเวียดนามจะเติบโตยังเป็นไปได้อีกมาก เพราะเวียดนามมีจุดเด่นคือ
- เวียดนามมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลและแหล่งน้ำที่ยังอุดมสมบูรณ์และสามารถพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อีกมาก
- มีค่าแรงต่ำ ( เช่น ต้นทุนต่อการ pack กุ้งพร้อมขายของเวียดนามเป็น 0.8 เหรียญสหรัฐ/กิโลกรัม
ส่วนไทยมีต้นทุน 2.0 เหรียญสหรัฐ / กิโลกรัม )
- รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างจริงจังโดยกำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาสาขาประมงจนถึง ปี 2553
แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าเวียดนามจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจสัตว์น้ำของเวียดนามมีจุดด้อย คือ
- ยังขาดเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัย
- ในส่วนของกุ้งแช่แข็งยังมีปัญหาเรื่อง food safety เพราะไม่สามารถควบคุมคุณภาพการเลี้ยงกุ้งตั้งแต่
ต้นน้ำได้ เนื่องจากมีเกษตรกรรายย่อยถึง 80% การทำ contract farming กับเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำยังเป็นไป
ได้ยากแต่เริ่มทำกับเกษตรกรเลี้ยงกุ้งขาวแล้ว
- ขาดแรงงานที่มีความชำนาญ เพราะอัตราการเปลี่ยนงานสูง
เมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้ว ไทยมีจุดแข็งด้าน food safety เพราะสามารถควบคุมการใช้ ยาปฏิชีวนะ
ตั้งแต่ต้นน้ำและไทยมีการพัฒนาทางเทคนิคมากกว่าเวียดนาม แต่ไทยมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ และค่าแรงโดยเปรียบเทียบที่สูง
กว่าเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนและรัฐบาลก็กำลังตื่นตัวถึงปัญหาสารตกค้างโดยเฉพาะจากสารเคมี จึงมีการ
รณรงค์ให้ลดการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปัจจุบันเริ่มมีการทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งออร์แกนิคในเขต Mekong
Delta แล้ว
สคต. นครโฮจิมินห์
Upload Date : 6 มิถุนายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ