บทนำ
ประเทศไทยส่งออกน้ำปลาไปยังสหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามซึ่งบุกตลาดสหรัฐฯ ก่อนไทยเล็กน้อย แต่ปริมาณการนำเข้าน้ำปลาเวียดนามในสหรัฐฯ ได้ลดลงเป็นลำดับเนื่องจากภาวะสงครามเวียดนาม และหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง เมื่อสหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์กับเวียดนาม การนำเข้าน้ำปลาจากเวียดนามจึงลดลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่น้ำปลาเวียดนามขาดแคลนในสหรัฐฯ จึงเป็นโอกาสสนับสนุนการขยายตลาดของน้ำปลาไทยในสหรัฐฯ
ผู้บริโภคน้ำปลาในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ คือ ชาวเอเซีย ได้แก่ ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น น้ำปลาที่จำหน่ายในสหรัฐฯ นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น สหรัฐฯ นำเข้าน้ำปลาในปี 2550 เป็นมูลค่า 21.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแหล่งนำเข้า ได้แก่ ไทย เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่สุด หรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 82 แหล่งนำเข้าอื่น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.1) ฮ่องกง (ร้อยละ 3.8) เวียดนาม (ร้อยละ 3.5) เกาหลี (ร้อยละ 2.3) และ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 1) สหรัฐฯ ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าน้ำปลาจากกลุ่มประเทศพันธมิตร (MFN: Most Favorite Nation)
น้ำปลาไทยและน้ำปลาเวียดนามในสหรัฐฯ
เวียดนามกล่าวหา น้ำปลาไทยบางแบรนด์ ละเมิดลิขสิทธิ์โดยใช้ชื่อน้ำปลาเวียดนาม "Phu Quoc" พิมพ์ ลงบนฉลากสินค้าเพื่อหวังผลประโยชน์ในการขาย ซึ่งเป็นการ หลอกลวงผู้บริโภค
Phu Quoc เป็นเกาะตั้งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาที่มีคุณภาพดีที่สุด น้ำปลาที่ผลิตจากเกาะ Phu Quoc เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ปิดป้าย เครื่องหมายการค้ "Phu Quoc" ได้
กระทรวงประมงเวียดนามได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "Phu Quoc" ในต่างประเทศรวมทั้งใน สหรัฐฯ ปัจจุบัน เวียดนามกำลังเจรจากับกลุ่มประเทศประชาคม ยุโรป (European Community : EC) ให้ยอมรับในเครื่องหมาย Phu Quoc และจะมุ่งเจรจากับกลุ่ม ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ญี่ปุ่น และ ออสเตรียเลีย เป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป
เวียดนามส่งออกน้ำปลาไปยังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาโดยมีมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 เวียดนามได้ส่งออกน้ำปลาภายใต้เครื่องหมายการค้า Phu Quoc มายังสหรัฐฯ เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำปลาเวียดนามของแท้
เวียดนามวางกลยุทธ์การขยายตลาดน้ำปลาในสหรัฐฯ โดยเน้นว่าน้ำปลาเวียดนามเป็น สินค้าได้มาตรฐาน เป็นของแท้มีหลักฐานแหล่งที่มาของสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ซึ่งระบุว่าผลิตและบรรจุขวดจากเกาะ Phu Quoc และผลิตถูกต้องตามระเบียบกระบวนการของกระทรวงประมงเวียดนามที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
แนวโน้มตลาด
ปัจจัยหลายๆ ด้านมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ตลาดน้ำปลาไทยในสหรัฐฯ มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง (Dynamic) รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มหลักของสหรัฐฯ ยุคปัจจุบันที่หันมากสนใจแนวทางประกอบอาหารและการกิจอาหารจากตะวันออกและเอเซีย
ปัจจุบัน น้ำปลาไทยไม่จำกัดตัวเองอยู่ในวงผู้บริโภคชาวเอเซีย หรือ ตามร้านชำชาวเอเซีย น้ำปลาไทยได้ยกระดับตัวเองไปสู่ตลาดผู้บริโภคกลุ่มหลักของประเทศ (Mainstream) จากการสำรวจพบว่า มีน้ำปลาไทยบางแบรนด์ และน้ำปลาไทยซึ่งเป็น Private Label ของผู้นำเข้า วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์ตชั้นนำตามเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว น้ำปลาไทยขยายตัวเข้าสู่กลุ่มธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ ได้แก่ ร้านอาหารอเมริกันที่ให้บริการเมนูอาหารเอเซีย โดยพ่อครัวร้านอาหารอเมริกันดังกล่าว ได้หันมาใช้น้ำปลาไทยเข้าไปช่วยปรุงรสอาหารเพื่อให้บริการลูกค้า
นอกจากนั้นแล้ว ผู้บริโภคสามารถซื้อน้ำปลาไทยผ่าน Internet ได้ด้วย หากเข้าไปใน เวฟไซต์ AMAZON.COM ก็สามารถสั่งซื้อน้ำปลาได้เช่นกัน หรือสั่งซื้อผ่าน Web Site B-2-C หลายๆ แห่ง เช่น Importfood.com, simplythai.com เป็นต้น
ปัจจุบัน ตำราปรุงอาหารไทย (Thai Cook Book) สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีให้เลือกหลายเล่ม จากร้านขายหนังสือชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Barnes & Nobles หรือ Borders ซึ่งผู้เขียนตำราปรุงอาหารไทย ทั้งเป็นคนไทยหรือเป็นคนอเมริกัน จะแนะนำให้ผู้สนใจปรุงอาหารไทยใช้น้ำปลาในการปรุงแต่งรสอาหาร เพื่อให้ได้รสชาติเป็นแบบไทย
นอกจากนั้นแล้ว สื่อมวลชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ นิตยสารอาหารและเครื่องดื่มได้กล่าวถึงน้ำปลาไทยบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่และให้ข้อมูลสรรพคุณน้ำปลาไทยแก่ผู้บริโภคสหรัฐฯ เป็นอย่างดี เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือ Chicago Tribune ของนครชิคาโก ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ได้ลงบทความเรื่องน้ำปลาไทย มีสาระเป็นไปในทางสนับสนุนและให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ทราบและทดลองใช้ อีกทั้งแนะนำแหล่งที่สามารถซื้อน้ำปลา ข่าวสารของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสินค้าน้ำปลาไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นปัจจัยช่วยสร้างความต้องการใช้น้ำปลาไทยในอนาคต
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
1. จากการสอบถามร้านอาหารไทย พบว่า ร้านอาหารไทยนิยมใช้น้ำปลาชนิดที่บรรจุในขวดพลาสติก (PET Bottle) มากกว่าน้ำปลาที่บรรจุขวดแก้ว เนื่องจากจับได้ถนัด กระชับมือ และ ไม่ลื่นเหมือนขวดแก้ว ในขณะที่ครัวเรือนนิยมใช้น้ำปลาบรรจุขวดแก้วมากกว่าน้ำปลาบรรจุขวดพลาสติกดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณาใช้ขวดบรรจุทั้งสองชนิด
2. ปัจจุบัน เวียดนามกำลังดำเนินกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงสัดส่วนตลาดน้ำปลาของไทย ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกไทย ควรจะพิจารณาขยายตลาดน้ำปลาไทยไปสู่กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ (Mainstream) และตลาดธุรกิจบริการอาหาร ( Food Service) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีลู่ทางแจ่มใสในอนาคต และเวียดนามยังไม่มีเป้าหมายสำหรับตลาดนี้ และเพื่อให้สินค้าเป็นยอมรับและต้องการของตลาด ผู้ผลิต/ส่งออกจะต้องพัฒนาสินค้าในด้านการลดกลิ่นน้ำปลาให้อ่อนลง ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา คือ รูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเหมาะกับตลาดสหรัฐฯ ดังนี้
ข้อพิจารณา ตลาด Main Strem ตลาด Food Service
1. รูปแบบบรรจุภัณฑ์ - เป็นขวดแก้วขนาดเล็กมีรูปทรง - ขวดพลาสติก PET หรือ PP
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่จะดึงดูด
ความสนใจจากผู้บริโภค
2. ปริมาตรบรรจุ - ประมาณ 140-200 ml. หรือ 5 -7 ออนซ์ - 750 ml. และ 1 Gallon
3. ปัจจุบัน เวียดนามกำลังดำเนินเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าน้ำปลา "Phu Quoc" เพื่อ เป็นการรักษาผลประโยชน์และป้องกันน้ำปลาปลอมที่แอบอ้างใช้ชื่อน้ำปลาเวียดนาม ซึ่งหากเกิดการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและเวียดนามในเรื่องเครื่องหมายการค้า "Phu Quoc" จะส่งผลกระทบต่อน้ำปลาไทยจำนวนหนึ่งที่ไปใช้ชื่อ "Phu Quoc" ไม่สามารถจำหน่ายในสหรัฐฯได้ ซึ่งจะเป็นผลให้การนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยลดลงไป ดังนั้น ภาครัฐและอุตสาหกรรมน้ำปลาของไทยควรร่วมกันหารือเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น
4. ชาวอเมริกันที่คุ้นเคยกับอาหารไทยหลายๆคน มักจะเรียก Nam Pla แทน Fish Sauce และ มีความเห็นว่า ควรจะเรียกน้ำปลาทับศัพท์ภาษาไทย โดยสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า "NAM PLA" แทนการแปลเป็นภาษาอังกฤษ "FISH SAUCE" ซึ่งการใช้ชื่อดังกล่าวเป็นการบ่งบอกและสร้างความเป็นเอกลักษณ์เป็นของน้ำปลาไทย และตอกย้ำให้ผู้บริโภคนึกถึงประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคเรียกชื่อเส้นก๊วยเตี๋ยวของอิตาลี่ว่าทับศัพท์ว่า "Pasta" หรือในสหรัฐฯ เมื่อพูดถึง Steak Sauce ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "A1" หรือการเรียกปลากดิบ (อาหารญี่ปุ่น) Sushi มากกว่าที่จะเรียกว่า Raw Fish เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยควรจะพิจารณาในเรื่องการวางตำแหน่งสินค้าน้ำปลา
ไทยไปในทำนองเดียวกันกับ Steak Sauce หรือ Sushi คือ เมื่อกล่าวถึงซ้อสปรุงรสของไทย ทุกคนต้องนึกถึง "Nam Pla"
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
Upload Date : 18 กรกฎาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th