สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกจีนประจำเดือนพฤษภาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 22, 2008 15:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าไทย - จีน เดือนพฤษภาคม 2551 (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า)
มูลค่าการค้ารวม 15,075.12 US$m ขยายตัวร้อยละ 30.48 ไทยขาดดุลการค้า 1,235.50 US$m แบ่งเป็นการนำเข้า 8,155.31 US$m ขยายตัวร้อยละ 31.87 การส่งออก 6,919.81 US$m ขยายตัวร้อยละ 28.87 ทั้งนี้กรมส่งเสริมการส่งออกได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปจีนไว้ร้อยละ 20
สินค้าส่งออก 3 อันดับแรกได้แก่ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 2. ยางพารา 3. เม็ดพลาสติกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.54 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปจีน
สินค้านำเข้า 3 อันดับแรกจากจีนคือ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ 3. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.94 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีน
สินค้า Top 20 ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก 1. น้ำมันดิบ (5) 2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ (17) 3. ผลิตภัณฑ์พลาสติก (20) โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 140.51, 71.19 และ 69.58 ตามลำดับ
สินค้า Top 20 ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวลดลง 3 อันดับแรก 1. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (9) 2. เคมีภัณฑ์ (6) 3. แผงวงจรไฟฟ้า (7) โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 42.69, 36.24 และ 6.84 ตามลำดับ
สำหรับผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง มีมูลค่าการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 46.71 มูลค่าการส่งออกรวม 58.8 US$m คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.85 โดยมีมูลค่าการส่งออกอันดับที่ 16 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีน
ข้อสังเกต
มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุจากการบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นปริมาณมันสำปะหลังจึงไม่เพียงพอต่อการส่งออก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นการค้า
1. รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมิน ตั้งเป้าว่า ภายในปี ค.ศ.2020 มูลค่าเพิ่มของภาคบริการใน GDPและบุคลากรในภาคบริการของเมืองเซี่ยเหมิน ต้องสูงถึงร้อยละ 50 โดยรัฐบาลเซี่ยเหมินจะมุ่งเน้นการพัฒนาภาคบริการใน 9 สาขาได้แก่ โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การเงิน การจัดงานแสดง การบริการข้อมูลและซอฟแวร์ การค้า วัฒนธรรม อสังหาริมทรัพย์และเอเจนซี
2. นิตยสาร Containerization International ได้ประกาศรายชื่อท่าเรือที่มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลกประจำปี ค.ศ. 2007 โดยอันดับ 1 เป็นของประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานกว่า 27.90 ล้านตู้ ขณะที่ท่าเรือเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน มีปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานทั้งสิ้นกว่า 4.6271 ล้านตู้ อยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก (เช่นเดียวกับปีก่อนหน้า๗ ทั้งนี้ เดือนมกราคม - เมษายน 2551 ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าส่งออกของมณฑลฝูเจี้ยนมีจำนวนสูงถึง 38,900 ตู้ เพิ่มขึ้น 17.9 เท่า และมีมูลค่ารวม 103 ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้น 30.8 เท่า
3. เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ฝูโจว เริ่มเปิดรับนักลงทุนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 เป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้สามเมืองใหญ่ของไต้หวัน (กรุงไทเป ไทจง และซินจู๋) มากที่สุด หลังจากที่มีการเปิดการคมนาคม 3 ทางกับไต้หวันแล้ว เขตแห่งนี้มีบทบาทที่เด่นชัดมากขึ้น ในแง่ของการมีส่วนในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งระหว่างช่องแคบไต้หวัน โดยเขตฯ แห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับการคัดแยก แปรรูป กระจายและขายสินค้า รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การกระจายสินค้า และจุดถ่ายสินค้าที่สำคัญในระดับภูมิภาค
4. กรมสถิติแห่งชาติจีน แถลงสถิติดัชนีราคาอุปโภคบริโภค (Consumer Price Index) ของมณฑลหูเป่ยในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 โดยหลักเพิ่มขึ้น 2 ด้าน คือ ราคาอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ 22.6 และราคาที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 7.8
5. กระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้อนุมัติงบประมาณพิเศษจำนวน 2,500 ล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในพื้นที่มณฑลเสฉวน ส่านซี กานซู ยูนนาน และนครฉงชิ่ง โดยผู้ประสบภัยที่ไร้ที่อยู่อาศัย สูญเสียรายได้จะได้เบี้ยชดเชยช่วยเหลือ 10 หยวนต่อวันตลอดระยะเวลา 3 เดือน ผู้ประสบภัยที่เป็นเด็กกำพร้า ผู้สูญเสียครอบครัว ผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพ จะได้เบี้ยชดเชยช่วยเหลือ 600 หยวนต่อเดือน
6. คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ว่าเริ่มจากวันที่ 20 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินจะปรับเพิ่มขึ้นตันละ 1,000 หยวน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องบินจะปรับเพิ่มขึ้นตันละ 1,500 หยวน หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป อัตราค่าไฟฟ้าของทั้งประเทศจีนจะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.025 หยวนต่อกิโลวัตต์
7. "Pegatron Corporation เป็นเครือบริษัทคอมพิวเตอร์ Asus ได้เข้ามาตั้งแหล่งผลิตในประเทศจีนอีกแห่งหนึ่งที่เมืองจี๋อัน (Ji'an City) มณฑลเจียงซี โดยใช้เงินทุนทั้งสิ้น 3,000 ล้านหยวน เน้นการผลิตสายไฟฟ้าทองแดง (Copper wire) และส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เมนบอร์ด และประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คอีกด้วย โดยคาดว่าในแต่ละปี ฐานการผลิตแห่งนี้จะผลิตสินค้าออกมาเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านหยวน และสร้างมูลค่าการส่งออกได้ราว 500 - 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ"
8. วันที่ 23 มิ.ย. 2551 Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่สัญชาติซาอุดิอารเบีย ได้ประกาศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ SINOPEC บริษัทน้ำมันใหญ่ของจีน โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ เมือง Jeddah ประเทศซาอุดิอารเบีย การลงนามในครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทจะขยายกรอบความร่วมมือให้กว้างขึ้น ทั้งด้านการวิจัย ด้านเทคนิค การจำหน่าย และการผลิตผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันลงทุนในประเทศจีน
9. เมื่อวันที่ 28 พค. 51 สำนักนายกรัฐมนตรีจีน ได้ประกาศปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้า 5 หมวด ได้แก่ อาหาร น้ำมันพืช อาหารสัตว์ เภสัชภัณฑ์ ฝ้าย และสินค้าจำเป็นอื่นๆ รวม 26 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ใช้เป็นอาหาร ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ มณฑลเสฉวนของจีน ทำให้มณฑลเสฉวนมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิย. 51 ถึง กย. 51 หรือ ธค. 51
กลยุทธ์/ ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ "การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดClosest Strategic Partnership "
1. สร้างความสัมพันธ์รายภูมิภาค โดยเน้นที่ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ Pan Pearl River Delta, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Dongbei Area), เขตเศรษฐกิจโบ๋ไห่ (Bohei Area), เขตสามเหลี่ยมฉางเจียง (Changjiang River)
2. การเชื่อมโยงธุรกิจไทย — จีน จะเน้นการเป็นคู่ค้าและการร่วมลงทุนทั้งในจีนและในไทย
3. สร้างความรู้จักและคุ้นเคย Awareness และความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการไทย
4. สร้างNetwork การกระจายสินค้าไทยในจีนเพิ่มขึ้น และสร้างเครือข่ายผ่านห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
5. เพิ่มการลงทุน / การท่องเที่ยว/ ธุรกิจบริการ ใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์ให้ครอบคลุมเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว
6. ใช้ประโยชน์จากการที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก 2008 และเซี่ยงไฮ้ Expo 2010 ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการไทย
สินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ
สินค้า
1. ยางพาราและผลิตภัณฑ์
2. มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์
3. ข้าว
4. ผัก ผลไม้สดและแห้ง
5. อัญมณีและเครื่องประดับ
6. ของตกแต่งบ้าน
ธุรกิจบริการ
1. ภัตตาคารไทย
2. ธุรกิจสปาและสุขภาพความงาม
3. บริการออกแบบก่อสร้าง
4. การศึกษา
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ