สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกตะวันออกกลางประจำเดือนพฤษภาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 23, 2008 16:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าไทย-ตะวันออกกลาง 5 เดือนแรก ปี 2551 (มค.-พค.)
มูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 14,957.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 53.39 แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก3,613.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.40 มูลค่าการนำเข้า 11,343.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 65.69 ไทยขาดดุลการค้าตะวันออกกลาง -7,730.02 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้มูลค่าการส่งออก 5 เดือนแรกปี 2551 (มค.-พค.) ขยายตัวร้อยละ 24.40 เกินเป้าหมายปี 2551 ที่กรมฯ ตั้งไว้ที่ร้อยละ 20 สินค้าส่งออกมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกคือ
1. รถยนต์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 762.3 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวร้อยละ 33.72
2. ข้าว มีมูลค่า 323.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวร้อยละ 132.23
3. อัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 280.7 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวร้อยละ44.74
การส่งออกไปตะวันออกกลางเดือนพฤษภาคม 2551
การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2551 มูลค่า 837.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 163.83 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน2551 สำหรับอัตราการขยายตัวเดือนพฤาภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.81 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550
สินค้าส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
1. เคมีภัณฑ์ มีมูลค่า 103.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากร้อยละ 169.73 เป็น 322.39
2. เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น มีมูลค่า 42.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากร้อยละ -1.41 เป็น 166.84
3. ข้าว มีมูลค่า 323.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากร้อยละ-28.05 เป็น132.23
ประเด็นสำคัญทางการค้า
1. ซาอุดิอาระเบียมีแผนจะเข้าไปลงทุนปลูกข้าวในประเทศอื่น หวังเพิ่มหลักประกันเรื่องผลผลิตอาหาร เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องได้รับผลกระทบมากนัก จากวิกฤตราคาอาหารแพงในขณะนี้รัฐมนตรีช่วยเกษตรของซาอุดิอาระเบีย ยืนยันว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้หารือเรื่องนี้ กับเจ้าหน้าที่ในซูดาน อียิปต์ ยูเครน ปากีสถาน และตุรกี เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ อนุญาตให้บริษัทสัญชาติซาอุฯ ได้เข้าไปวางโครงการปลูกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง ข้าวสาร และธัญพืชชนิดอื่นที่ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ ทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย หวังปูทางให้นักธุรกิจในประเทศ ได้นำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเงินทุน เข้าไปใช้ในโครงการเพาะปลูกพืชอาหารในประเทศอื่น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศเหล่านั้นมีผลผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ทางซาอุดิอาระเบีย ก็จะได้ประโยชน์ร่วมด้วย ในการสร้างหลักประกันว่า คนซาอุฯ จะมีผลผลิตอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ แม้จะเป็นผลผลิตที่ไปเพาะปลูกในประเทศอื่นก็ตามขณะที่บริษัทซาโวล่า กรุ๊ป ของซาอุดิอาระเบีย ก็มีแผนจะทุ่มงบอย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์ เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทธุรกิจการเกษตร ในซูดาน ยูเครน และอียิปต์ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตน้ำตาล และน้ำมันพืช นอกจากซาอุดิอาระเบียแล้ว ก่อนหน้านี้ ก็มีรายงานว่า ประเทศบาห์เรน ต้องการจะเข้าไปลงทุนปลูกข้าวในฟิลิปปินส์เช่นกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่า บาห์เรนจะมีข้าวไว้บริโภคมากขึ้น (ข้อมูลจาก INN News)
2. ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและผู้นำเข้าน้ำมันรวม 36 ประเทศ ออกแถลงการณ์ปิดการประชุมสุดยอดที่จัด ณ นครเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2551ว่า เห็นพ้องให้เพิ่มการลงทุนด้านการผลิตน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นใจว่าตลาดจะมีน้ำมันเพียงพอ และสร้างความโปร่งใสในตลาดค้าน้ำมันล่วงหน้า แต่ที่ประชุมไม่ได้ออกมาตรการเร่งด่วนใดๆที่จะฉุดรั้งราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเฉียด 140 ดอลลาร์อยู่ในขณะนี้ มีซาอุดิอาระเบียเพียงชาติเดียวที่ยืนยันอีกครั้งว่าจะเพิ่มเพดานการผลิต เป็น 9 ล้าน 7 แสนบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนบาร์เรลจากเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้กษัตริย์อับดุลเลาะห์ พระประมุขแห่งซาอุดิอาระเบีย ทรงเสนอให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกจัดตั้งกองทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการวางยุทธศาสตร์ในการบรรเทาวิกฤติราคาน้ำมัน และซาอุดิอาระเบียจะจัดสรรอีก 500 ล้านดอลลาร์เป็นเงินกู้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาด้านพลังงาน นอกจากนี้ พระองค์ตรัสกล่าวโทษว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การเก็บภาษีน้ำมัน และการเก็งกำไร ขณะที่นายซามูเอล บ็อดแมน รัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐ บอกว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่านักเก็งกำไรเป็นต้นเหตุให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่กล่าวโทษว่าเป็นเพราะปริมาณการผลิตตามไม่ทันความต้องการและเตือนว่าจะไม่มีวิธีแก้ไขแบบเร่งรัดที่จะทำให้โลกพ้นวิกฤตน้ำมันได้อย่างรวดเร็ว (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจonline )
3. โรงพยาบาลกรุงเทพ เตรียมลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ลงทุนในตะวันออกกลาง รับแผนขึ้นศูนย์กลางทางการแพทย์ในอีก 5 ปี ข้างหน้านพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้านการตลาดกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวว่า แผนการลงทุนปี 2552-2554 บริษัทจะขยายธุรกิจในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง เช่น อาบูดาบี ซาอุดี อาระเบีย ฮาย่า ฯลฯ เพื่อรับมือการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในตะวันออกกลางในอีก 5 ปีข้างหน้าการขยายธุรกิจในตะวันออกกลางครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีทางแพทย์ ทำให้ในอนาคตประชากรจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรักษาสุขภาพเหมือนปัจจุบัน สำหรับในปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพ 3 แห่ง คือ หัวหิน อาบูดาบี และพนมเปญ ใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท และในปีหน้าจะใช้งบอีก 3,000 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลที่อาบูดาบีเพิ่มอีก 1 แห่ง ขนาด 250 เตียง ซึ่งสาขาในต่างประเทศจะใช้ชื่อ รอยัล แบงค็อก ฮอสพิทัลลิตี ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนขยายตลาดไปยังอเมริกาและยุโรปด้วย (ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551)
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ