ความเป็นมา
ฮ่องกงได้พิจารณาออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ
1. กฎหมายความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food safety law) ที่ให้ความสำคัญกับการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
2. กฎหมายฉลากโภชนาการ(nutrition labeling law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นส่วนที่แก้ไขจาก Food and Drugs Composition Labeling Regulation ภายใต้ Food and Drugs of the Public Health and Municipal Services Ordinance(Caption 132) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติของ ฮ่องกงแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภค
Food and Environmental Hygiene Department (FEHD) ของรัฐบาลฮ่องกงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้เสนอให้มีการแก้ไข Food and Drugs Composition Labeling Regulation ในการเพิ่มกฎหมายฉลากโภชนาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ(nutrition facts) แก่ผู้บริโภคและควบคุมมิให้มีการโฆษณาสรรพคุณสินค้าเกินจริง ข้อเสนอกฎหมายใหม่นี้กำหนดให้สินค้าอาหาร ทุกประเภทต้องแสดงรายละเอียดคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีการโฆษณาสรรพคุณ(อาทิ “ปราศจากน้ำตาล” “ไขมันต่ำ” “มีเส้นใยมาก” “ไม่มีคอเลสเตอรอล”
FEHD ได้ประเมินท่าทีและรวบรวมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ อาทิ ภาคเอกชน ประชาชน ผู้แทนทางการทูตในฮ่องกง ก่อนที่จะแก้ไขและเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่แสดงท่าทีห่วงกังวลต่อการออกกฎหมายนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อศักยภาพของฮ่องกงในการเป็นเมืองที่มีลักษณะ cosmopolitan ซึ่งจะทำให้ความหลากหลายของสินค้าลดลง โดยสินค้าร้อยละ 65 ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไทย จะมีต้นทุนในการผลิตสูงขี้น ประกอบกับฮ่องกงเป็นตลาดขนาดเล็ก จึงเป็นไปได้ว่าประเทศดังกล่าว อาจย้ายตลาดส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน
คณะผู้แทนต่างประเทศในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ได้หารือและประชุมกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายนี้ อาทิ ญี่ปุ่น ไทย(ผู้แทนจากสคต.เข้าร่วมประชุม) เพื่อจุดร่วมในการเรียกร้องให้แก้ไขร่างกฎหมายและได้พยายามลอบบี้ Dr. York Chow ตำแหน่ง Secretary for Food and Health ขอให้แก้ไขร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติฮ่องกง โดยขอให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายฉลากโภชนาการกับสินค้าที่มียอดขายน้อยกว่า 30,000 ชิ้น และขอให้ผ่อนปรนกับสินค้าที่มีการติดฉลากที่โฆษณาสรรพคุณตามความเป็นจริงและทดสอบถูกต้องแล้วในทางวิทยาศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า
- สินค้าที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่มีปริมาณไม่มากและมักมีการโฆษณาสรรพคุณ
- ผู้บริโภคจะมีทางเลือกสินค้าที่หลากหลาย
- ปริมาณสินค้าจากที่เคยนำเข้าน้อยอาจเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง เพราะอาจเป็นที่นิยม ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉลากโภชนาการที่ต้องมีการแสดงรายละเอียดคุณค่าโภชนาการ
- และฮ่องกงจะสามารถรักษาศักยภาพในการเป็นตลาดเสรีที่มีลักษณะเปิดกว้าง
สถานะล่าสุด
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 สภานิติบัญญัติของฮ่องกงได้พิจารณาอนุมัติกฎหมายฉลากโภชนาการแต่ไม่อนุมัติในส่วนของข้อเสนอของรัฐบาล (นำโดยนาย Donald Tsang ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง และ Dr. York Chow) ในการแก้ไขกฎหมายฉลากโภชนาการที่ขอให้มีการยกเว้นสำหรับสินค้า 2 ประเภท คือ
- สินค้าที่มียอดจำหน่ายน้อยกว่า 30,000 ชิ้นต่อไป
- สินค้าอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณไร้ trans-fat โดยข้อเสนอดังกล่าได้ถูกคัดค้านจากเสียงส่วนใหญ่ในสภานิติบัญญัติด้วยคะแนนเสียงคัดค้าน 27 เสียง ต่อเสียงสนับสนุน 26 เสียง จึงทำให้ ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายต้องตกไป
หลังจากที่กฎหมายฉลากโภชนาการผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติฮ่องกงแล้ว กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า (1 ก.ค. 2553) โดยจะมีการตรวจสอบผลหลังจากมีการบังคับใช้แล้ว 1 ปี (2554)
ภายใต้กฎหมายฉลากโภชนการฮ่องกงได้กำหนดรูปแบบเฉพาะของฉลากแสดงคุณค่าโภชนาการที่สำคัญได้แก่
- การแสดงหน่วยการให้พลังงานเป็น kilo-calories(kcal) หรือ kilo-joules(kl) และการแสดงหน่วยสัดส่วนของสารอาหารเป็น ต่อ 100 กรัมต่อมิลลิลิตร(100 g/ml) หรือต่อการรับประทาน 1 ครั้ง(per serving)
- ฉลากแสดงคุณค่าทางโภชนาการ ต้องจัดทำในรูปแบบตารางเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน หรือทั้งสองภาษา และจะต้องไม่อยู่ในส่วนของฉลากสินค้า
- ฉลากแสดงคุณค่าทางโภชนาการจะต้องปรากฎสารอาหาร ได้แก่ 1) พลังงาน 2)โปรตีน 3)คาร์โบไฮเดรต 4) ไขมัน 5)กรดไขมันอิ่มตัว 6) กรดไขมันทรานส์ 7) โซเดียม และ 8)น้ำตาล (Nutrition Facts: energy plus 7 core nutrients — protein, carbohydrates, total fat, saturated fat, transfat, sodium and sugars + claimed nutrient) และหากมีการกล่าวอ้าง/โฆษณาสรรพคุณสารอาหารอื่นใดเพิ่มเติม(นอกเหนือจาก 7 สารอาหารนี้) จะต้องแสดงคุณค่าทางโภชนาการของสารอาหารตัวนั้นๆ เพิ่มด้วย
- ห้ามกล่าวอ้าง/โฆษณาสรรพคุณเฉพาะที่ยังขาดมาตรฐานและหลักฐานการพิสูจน์ทางสากล ได้แก่ สารโอเมก้า 3 เช่น ห้ามการอ้าง “High Omega-3” “Healthy Heart” “No Casein”
- สินค้าที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดฉลากโภชนาการ (Nutrition Label) ได้แก่
1) สินค้าอาหารสดธรรมชาติ(nature Fresh Food) ที่ไม่มีการใส่ส่วนผสมใดเพิ่มเติม เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ผลไม้สด/แห้ง ผักสด/แห้ง
2) สินค้าที่มีพื้นผิวบนบรรจุภัณฑ์น้อยกว่า 100 ตร.ซม.
3) สินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยมากๆ เช่น ใบชา เครื่องเทศ
ผลกระทบของกฏหมายฉลากโภชนาการต่อฮ่องกง
1. ตลาดที่เคยส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงอาจเปลี่ยนการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ แทน เนื่องจากกฎหมายฉลากโภชนาการจะมีต้นทุนในการจัดทำฉลากโภชนาการใหม่
2. ผู้ผลิตอาจต้องขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากต้องผลักภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภค
3. ความหลากหลายของสินค้าในฮ่องกงน้อยลง คาดว่า จะส่งผลให้สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 15,000 รายการจะหายไปจากตลาดฮ่องกง
4. ฮ่องกงอาจสูญเสียการเป็นเมืองที่มีลักษณะ cosmopolitan ทั้งในสายตามของชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ด้วย
ผลกระทบของกฎหมายฉลากโภชนาการต่อไทย
1. สินค้าประเภทอาหารที่บรรจุห่อแล้ว(pre-packaged) ที่ไทยส่งออกไปยังฮ่องกงที่ยังไม่มีการติดฉลากรายละเอียดทางโภชนาการ จะต้องมีภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการจัดทำฉลากโภชนาการ และถึงแม้ว่าสินค้าอาหารบางประเภทที่บรรจุห่อแล้วและมีการติดฉลากทางโภชนาการครบถ้วน อาจต้องจัดทำฉลากทางโภชนาการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการแสดงคุณค่าทางโภชนาการของฮ่องกง ตัวอย่าง เช่น FEHD ของฮ่องกง กำหนดให้สินค้าที่ส่งออกไปยังฮ่องกงต้องแสดงรายละเอียดทางโภชนาการ 8 อย่าง(อาทิ พลังงานโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันอิ่มตัว โซเดียม น้ำตาล และสารอาหารหลักอีก 1 ชนิด) ในขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกประเภทเดียวกันไปยังประเทศอื่นๆ อาจแสดงรายละเอียดทางโภชนาการน้อยกว่า 8 ชนิด (ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ)
2. จากสถิติของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ แสดงให้เห็นว่าสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยที่ส่งออกไปยังฮ่องกง อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป (ร้อยละ 3.61) ข้าว (ร้อยละ 2.17) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 0.25) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (ร้อยละ 0.22) ผลิตภัณฑ์ข้าว (ร้อยละ 0.17) สิ่งปรุงรส (ร้อยละ 0.09) จะต้องแสดงรายละเอียดโภชนาการ แต่ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของฮ่องกง ดังนั้น กฎหมายฉลากโภชนาการของฮ่องกงไม่น่าจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าประเภทนี้ของไทยไปยังตลาดฮ่องกง
ผู้ส่งออกที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.fehd.gov.hk/safefood/foodlaw1.html)
สคต. ณ เมืองฮ่องกง
Upload Date : กรกฎาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th