ตลาดเครื่องสำอางในอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 8, 2008 11:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สุภาพสตรีชาวอิหร่านนิยมความสวยความงามเช่นเดียวกับสตรีชาติอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านการแต่งกายตามหลักศาสนา แต่สุภาพสตรีชาวอิหร่านก็นิยมแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางอย่างสวยงาม ทำให้อิหร่านเป็นประเทศที่นำเข้าเครื่องสำอางสูงประเทศหนึ่งในโลก และจัดเป็นประเทศที่มีมูลค่าการใช้เครื่องสำอางสูงสุดในบรรดาประเทศในแถบตะวันออกกลางเลยทีเดียว โดยในแต่ละปี สตรีชาวอิหร่านซื้อเครื่องสำอางเฉลี่ยรวมกันเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ชาวอิหร่านส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องสำอางที่นำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าเครื่องสำอางที่ผลิตภายในประเทศ โดยเครื่องสำอางที่มีขายในท้องตลาดอิหร่านในอัตราส่วนร้อยละ 90 เป็นเครื่องสำอางจากต่างประเทศ ซึ่งยี่ห้อที่ได้รับความนิยมได้แก่ นีเวีย, L'oreal, Etode, Manhatan, Bourjous, Max, Factor, VOV, GIO นอกจากนี้ ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมแต่ราคาค่อนข้างสูงได้แก่ ยี่ห้อ Clinic, Mac, Lancome โดยลิปสติกที่ราคาต่ำสุดของยี่ห้อดังกล่าวราคาประมาณถึงแท่งละ 120,000 เรียล หรือประมาณ 400 บาท
สถานที่ขายสินค้าเครื่องสำอางจะตั้งในห้างสรรพสินค้าที่กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งผู้ขายจะแสดงสินค้าเครื่องสำอางชนิดต่างๆ และเปิดโอกาสให้ลูกค้าทดลองใช้ เช่น สิปสติก น้ำหอม มาสคาร่า ฯลฯ ซึ่งสุภาพสตรีชาวอิหร่านจะสนใจซื้อ และขอทดลองใช้สินค้าอย่างเนืองแน่น
สภาพตลาด
ปัจจุบัน สินค้าเครื่องสำอางปลอมจากจีนได้เข้ามาตีตลาดเครื่องสำอางในอิหร่าน โดยมีผู้นำเข้าสินค้าเครื่องสำอางผิดกฎหมายและผลิตลอกเลียนแบบคุณภาพต่ำในราคาถูกกว่าเครื่องสำอางของแท้ ทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ และบางรายเกิดผลต่อสุขภาพ ผุ้บริโภคจึงจำเป็นต้องซื้อเครื่องสำอางจากร้านที่เชื่อถือได้เท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกแยะสินค้าเครื่องสำอางของปลอมกับของแท้ได้ จึงมีการลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางปลอมจากชายแดนประเทศอย่างแพร่หลาย
ทั้งนี้ อิหร่านมีโรงงานผลิตเครื่องสำอางทั่วประเทศประมาณ 400 โรงงาน แต่การผลิตเครื่องสำอางภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องสำอางจากต่างประเทศได้ เนื่องจากความสามารถทางการตลาดเช่น การพัฒนายี่ห้อ (brand name) การบรรจุหีบห่อ คุณภาพของวัตถุดิบ คุณภาพของสินค้า การประทับตรา การพิมพ์ข้อความบนหีบห่อ รูปแบบสินค้า ยังมีคุณภาพต่ำ และไม่ได้รับความเชื่อถือ
กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอาง
สินค้าประเภทอาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เป็นสินค้าที่กระทรวงสาธารณสุข การบำบัดและการแพทย์ศึกษาของประเทศอิหร่าน (Ministry of Health, Treatment and Medical Education of Iran) กำหนดกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เข้ามาในประเทศอิหร่าน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าของประเทศและการตรวจสอบแหล่งต้นกำเนิดของผู้ผลิตสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ จากสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน โดยผู้นำเข้าอิหร่านทุกรายจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ ในการนำเข้าสินค้าดังกล่าว มาในประเทศอิหร่าน โดยมีขั้นตอนและเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขออนุญาตนำเข้าสินค้า ดังนี้
1. ใบรับรองการเป็นผู้แทน และใบอนุญาตการนำเข้า เอกสารใบรับรองการเป็นตัวแทนหรือผู้แทนจากผู้ส่งออกอย่างเป็นทางการและลงทะเบียน ต่อกระทรวงพาณิชย์อิหร่าน ทั้งต้นฉบับและสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ พร้อมด้วยสำเนาใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้าของบริษัทอิหร่าน ออกโดยกระทรวงพาณิชย์อิหร่าน (ในกรณีนี้อาจหมายถึงการเป็นตัวแทนแต่ผู้เดียว Exclusive Agent ในยี่ห้อ หรือรุ่นหรือแบบสินค้าของผู้ส่งออก (แต่ตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็น Exclusive Agent หรือ Exclusive Importer ของผู้ส่งออกหรือโรงงานผู้ผลิต)
2. ใบ Certificate of Free Sale ใบอนุญาตการขายสินค้า Certificate of Free Sale ในประเทศผู้ผลิต (ในกรณีนี้ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขไทย) เป็นต้นฉบับ และในประเทศอื่นซึ่งมีรายละเอียดคุณสมบัติและเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกัน โดยการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านในประเทศที่ผู้ผลิตตั้งอยู่
3. ใบรับรองการวิเคราะห์ การวิเคราะห์รายละเอียดของสินค้าที่จะนำเข้า ออกบนหัวหนังสือของผู้ส่งออก Company Letterhead และลงนามพร้อมประทับตราของบุคคลผู้มีอำนาจของบริษัทผู้ผลิต การวิเคราะห์จะต้องรวมถึงการตรวจสอบทางด้านจุลชีวภาพ microbiology ทางเคมี chemical คุณสมบัติทางกายภาพ physical characteristic ส่วนผสมและอัตราส่วนของสินค้า ingredients and percentage สินค้าส่งออกจะต้องระบุเลขที่การผลิต manufacturing serial number ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุของสินค้า manufacturing and expiration dates และจะต้องนำเอกสารการวิเคราะห์ของแต่ละ consignment นำส่งให้ผู้นำเข้าหรือผู้ได้รับอำนาจหรือตัวแทนการนำเข้าสินค้ายื่นแก่เจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการออกสินค้า
4. ใบรับรองสาธารณสุข ตามกฎระเบียบข้อที่ 16 ของกฎหมายสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และสินค้าสุขภาพของอิหร่าน Law of Foodstuff, Beverage, Cosmetics & Hygienic Products ระบุจะต้องมีเอกสารใบรับรองต้นฉบับจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศผู้ผลิต ยื่น แก่ศุลกากรอิหร่าน และรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านในประเทศที่ตั้งของผู้ผลิต
5. ทะเบียนใบ PMF ผู้นำเข้าจะต้องยื่นแก่กระทรวงฯ เพื่อขอจดทะเบียนใบ (PMF) ซึ่งประกอบด้วย Product Master File และ Plant Master File ซึ่งเป็นการรับรองการเป็นผู้ผลิตสินค้าจริง ทั้งนี้ หากในกรณีผู้ส่งสินค้าเป็นผู้ส่งออกและมิใช่เป็นผู้ผลิตสินค้า จะต้องส่งรายละเอียดของโรงงานผู้ผลิตสินค้าให้ผู้นำเข้า คณะกรรมการฯ จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการขอใบ PMF ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ มีประเด็นความแคลงใจว่า ข้อมูลที่ยื่นมิใช่เป็นโรงงานผู้ผลิตตามที่กล่าวอ้าง คณะกรรมการฯ อาจจะพิจารณาส่งผู้วิเคราะห์เดินทางไปสำรวจโรงงานในประเทศผู้ผลิตฯ เพื่อไปตรวจสอบยืนยันการผลิตและมาตรฐานจริง โดยทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าว ค่าใช่จ่ายที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่ที่จะไปวิเคราะห์ทั้งหมดจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ยื่นขอ แต่หากไม่มีข้อสงสัย คณะกรรมการฯ จะดำเนินการอนุมัติออกใบ PMF แก่ผู้นำเข้า (ในกรณีนี้ เมื่อผู้นำเข้าสั่งซื้อสินค้าเดิมจากผู้ส่งออกหรือโรงงานเดิมเมื่อใด ก็สามารถกล่าวอ้างเลขที่ของใบ PMF ได้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการครั้งเดียว)
6. ใบ Farsi-written Plan นอกจากนี้ ผู้นำเข้าจะต้องลงทะเบียนใบรายละเอียดสินค้าที่จะนำเข้าเป็นภาษาท้องถิ่น โดยระบุรายละเอียดเป็นภาษาท้องถิ่น (ฟาร์ซี) เรียกว่า Farsi-written Plan ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
- ชื่อสินค้า (Product Name)
- ชื่อผู้ผลิต (Manufacturer Name)
- แหล่งผลิต (ประเทศ) (Manufacturing Country)
- วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ และเลขที่สินค้า (Manufacturing and Expiration Dates, Manufacturing Serial Number)
- วิธีการใช้สินค้า (ถ้ามี) (Instruction to Use)
- ข้อระวัง (ถ้ามี) (Probable Risk)
- เลขที่ใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงสาธารณสุขฯ (Import Permission Number issued by Ministry of Heath)
หากสินค้าได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ และเลขที่สินค้าบนหีบห่อไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุเป็นภาษาฟาร์ซีอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ต้องมีประโยคเป็นภาษาฟาร์ซีเพิ่มเติมว่า “วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ และเลขที่สินค้าได้พิมพ์อยู่บนหีบห่อของสินค้าแล้ว” ทั้งนี่เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคท้องถิ่น และในกรณีที่สินค้าไม่สามารถจัดพิมพ์บนสินค้าเพราะไม่มีพื้นที่หรือพื้นนี่ขนาดเล็กเกินไป เช่น สินค้าลิปสติ๊ก มาสคารา ปากกาเขียนคิ้ว เป็นต้น รายละเอียดทั้งหมดนี้จะต้องถูกระบุอยู่บนหีบห่อในหน่วยเล็กที่สุดที่บรรจุสินค้า
7. การสุ่มตรวจ ในกรณีที่สินค้าได้ส่งออกมาถึงประเทศอิหร่านแล้ว เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีสิทธิ์ที่สุ่มตรวจสินค้าด้วยสายตาหรือพิจารณาให้ดำเนินการส่งสินค้าตัวอย่างไปทดสอบหรือตรวจสอบสินค้าก่อนอนุญาตให้นำออกจากเขตกักกันสินค้าได้
หากผู้ส่งออกไทยรายใดสนใจที่จะส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไปยังตลาดอิหร่าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน ทาง E-mail: thaicomaff@kanoon.net, หรือโทร +(98-21) 2205 7378 & 9, (98-21) 2205 9776
รายงานจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
Upload Date : สิงหาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ