แนวโน้มตลาดสินค้าในประเทศแคนาดา (Market Trend in Canada)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 18, 2008 15:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          แคนาดามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มจี 8 (G 8) ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปี GDP ของแคนาดาในปี 2550 มีมูลค่า 1,274 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 38,200 ดอลลาร์สหรัฐ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 39.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แคนาดามีระบบการค้าเสรีและพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศถึงร้อยละ 45 ของ GDP โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และเยอรมนี สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่ เครื่องยนต์ รถยนต์ กระดาษ ไม้เนื้ออ่อน พลังงานปิโตรเลียมดิบ แก๊สธรรมชาติ ไฟฟ้า อะลูมิเนียม อุปกรณ์สื่อสาร ชิ้นส่วนอากาศยาน คอมพิวเตอร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร อุตสาหกรรมสำคัญของแคนาดาได้แก่ ป่าไม้ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารและคมนาคม เหมืองแร่ และพลังงาน ภาคบริการก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าอย่างสูงทางด้านเทคโนโลยี่โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ขนาด 9,976,140 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของโลก(รองลงมาจากรัสเซีย) ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญมากมาย ได้แก่ แก๊สธรรมชาติ ทองคำ ถ่านหิน เหล็ก นิกเกิล โพแทช ยูเรเนียม สังกะสี ป่าไม้ เป็นต้น
แคนาดามีประชากรรวม 33.2 ล้านคน เป็นตลาดที่มีผู้บริโภคหลากหลาย มีทั้งชนชาติผิวขาวที่อพยพมาจากทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา และชนชาติจากทวีปเอเชียที่แคนาดามีนโยบายเปิดรับให้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน ดังนั้น การส่งออกสินค้าและบริการไปยังตลาดนี้ ผู้ส่งออกจำเป็นต้องจับแนวโน้มทิศทางและมองกระแสการบริโภคสินค้าและบริการในตลาด ให้ได้เพื่อจะได้ปรับกลยุทธ์การค้า กำหนดจุดยืน (positioning) และสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการไทย ให้เหมาะสมกับตลาด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันในตลาดแคนาดา สคต. โตรอนโต จึงขอสรุปทิศทางและกระแสการบริโภค (Trend) ที่มีส่วนสำคัญในกำหนดรูปแบบสินค้าและบริการในตลาดแคนาดาในปัจจุบัน 10 ประการดังนี้
1. The Easy Eating Trend
2. The Organic Explosion Trend
3. The Boomer Bonanza Trend
4. The Perfect Health Trend
5. The Franchise Fantasies Trend
6. The Mompreneur Trend
7. The Exotic Experience Trend
8. The Fast Fashion Trend
9. The Web Trend
10. The Eco Trend
1. ความต้องการอาหารที่มีคุณภาพ สะดวกและรวดเร็ว (The Easy Eating Trend )
ชาวแคนาดามีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสำนักงานเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และใช้ชีวิตที่บ้านลดลงการประกอบอาหารที่บ้านจึงน้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับกระแสความตื่นตัวในเรื่องอาหารสุขภาพที่ไม่มีสารกันบูด สารแต่งสี หรือสารเคมีอื่น ๆ ทำให้อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบทุกประเภท สะดวก พร้อมปรุง พร้อมเสริฟทุกมื้อ ราคาไม่แพง เกิดขึ้นอย่างมากมาย สินค้าเหล่านี้ได้แก่ ชีสเบอร์เกอร์กระป๋อง (cheeseburger in can) จากสวิตเซอร์แลนด์ อาหารสดพร้อมปรุงซึ่งสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ ( ยี่ห้อ Mother — จากสิงคโปร์) อาหารเด็กที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน รสชาติถูกปากเด็ก (Kidfresh- จาก สหรัฐอเมริกา) มันฝรั่งทอดที่ปรุงเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว (Funky Fries ของ HeinZ) พิซซ่าที่ซื้อได้จากVending Machine ทำให้หาซื้อได้ง่ายทั่วไป ก๋วยเตี๋ยวกระป๋อง (Canned Noodles —จากญี่ปุ่น) จำหน่ายที่เครื่อง Vending Machine เช่นกัน
2. กระแสตื่นตัวบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ (The Organic Explosion Trend)
ข่าวที่แพร่สะพัดเรื่องยาฆ่าแมลงและสารกันบูดที่ผสมปนเปื้อนในอาหาร ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวรักษาสุขภาพของคนแคนาดาอย่างมาก ส่งผลให้ความนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดแคนาดา เป็นไปอย่างรวดเร็วและขยายวงอย่างกว้างขวาง จนสามารถครอบครองส่วนแบ่งในตลาดสินค้าอาหารถึงร้อยละ 2 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากถึงร้อยละ 20-50 ต่อปี จึงมีตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรผุดขึ้นทุกหัวระแหง ซึ่งได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี อุตสาหกรรมอาหารต่างหันเหไปผลิตสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์อย่างขนานใหญ่ เช่น กาแฟอินทรีย์ เบียร์อินทรีย์ อาหารเด็กอินทรีย์ เป็นต้น
3. อำนาจซื้อของคนยุคเบบี้บูม (The Boomer Bonanza Trend)
ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 42-61 ปี มีจำนวนร้อยละ 36 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่ในระดับสูง และคนที่ใกล้เกษียณ กลุ่มผู้บริโภคนี้จะมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ สะดวก และสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์ สินค้าที่อยู่ในความต้องการของกลุ่มนี้ ได้แก่ เตียงที่นุ่มนอนสบาย เก้าอี้ที่ดูทันสมัย เครื่องใช้ที่ดูมีรสนิยม อุปกรณ์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวที่พร้อมสรรพ รองเท้าที่ดูดีและทันสมัยเพื่อใส่ออกพบปะลูกค้า เป็นต้น
4. ความใส่ใจในการรักษาสุขภาพแข็งแรงและมีรูปร่างที่ดี (The Perfect Health Trend)
ในปัจจุบันจะพบเห็นข่าวสาร บทความ บทสนทนา การโฆษณาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกาย เพื่อการมีรูปร่างที่แข็งแรงและสวยงาม มีอายุที่ยืนยาวในสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณาอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นการปลุกกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคชาวแคนาดาให้หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการบริหารร่างกายเพื่อให้แข็งแรงและมีรูปร่างที่สวยงามมากขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตสินค้าและบริการสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ คลีนิคเสริมความงาม ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม สถานที่ออกกำลังกาย อุปกรณ์ออกกำลังกาย วิตามิน น้ำมันปลาที่มีโอเมก้า3 อาหารสุขภาพ เครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มสมุนไพร (ว่านหางจระเข้) ตลอดจนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำให้ผู้สวมใส่มีรูปร่างที่ดีขึ้น
5. ความคลั่งไคล้ธุรกิจแฟรนไชส์ (The Franchise Fantasies Trend)
คนแคนาดานิยมบริโภคสินค้าและบริการจากธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอย่างมาก จึงทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแทบทุกหัวระแหงในแคนาดา ได้แก่ แม็คโดนัล กาแฟ Tim Horton กาแฟ Starbuck กาแฟ Timmothy กาแฟ Second Cup สเต็กของ Keg Steakhouses Cardio Core Boot Camp (มี 52 แห่ง) ธุรกิจบริการ Concierge Home Services (ธุรกิจบริการทำความสะอาดบ้านและพรม) การบริการดูแลสุนัข Dog at Camp สมาคมแฟรนไชส์แห่งคานาดา ( Canadian Franchise Association) ได้ประมาณการว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในคานาดาจะมีอัตราการขยายตัวต่อปีร้อยละ 10 มีมูลค่าธุรกิจปีละกว่าพันล้านเหรียญแคนาดา
6.ความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องทำงานและเลี้ยงดูบุตรไปพร้อมกัน (The Mompreneur Trend)
ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและขาดผู้ดูแลเด็กเล็ก ผลักดันให้ผู้หญิงชาวแคนาดาต้องออกไปทำงานพร้อมกับต้องดูแลบุตรเล็กไปด้วย จึงเกิดคำเรียกขานผู้หญิงดังกล่าวว่า Mompreneur กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ต้องการสินค้าที่ตอบสนองแบบเบ็ดเสร็จ (Combo) ทั้งของตนเองและลูกเล็ก เช่น อาหารที่แม่และลูกรับประทานด้วยกันได้ ผลิตภัณฑ์สินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์สำหรับเด็กเล็ก (all-natural and organice products for kids) อุปกรณ์สำหรับพกพาเด็กเล็ก (baby carrier) รถเข็นเด็ก เป็นต้น
7. ความชื่นชอบและนิยมสินค้าแปลกใหม่ (The Exotic Experience)
คนแคนาดามีการเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากเดิมที่เคยเดินทางแค่ภายในประเทศหรือไปไกลที่สุดที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการเดินทางไปสู่ทวีปอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น ยุโรป อเมริกาใต้ อาฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย ทำให้มีประสพการณ์สินค้าแปลกใหม่ในประเทศอื่น และกลายเป็นกระแสความนิยมอย่างมากในตลาดแคนาดา สินค้าอาหารหลายอย่างได้มีพัฒนารูปแบบและเพิ่มรสชาติแปลกใหม่ที่มีเครื่องปรุงรสของต่างประเทศไว้ด้วย อาทิ Pringles ได้นำเสนอมันฝรั่งกรอบรสชาติใหม่ที่ใส่ซ๊อสพริกหวานของไทย (Thai Sweet chilli flavour) Heinz ได้นำเสนอซ๊อสมะเขือเทศที่ผสมเครื่องแกง อาหารเด็กมีรสชาติที่ผสมฝรั่งและartichoke แยมมะเขือเทศสูตรจากประเทศโปรตุเกส อาหารอินเดียแบบ Ready-to-eat อาหารจานร้อนที่บรรจุในภาชนะที่สามารถนำกลับไปรับประทานที่บ้าน เป็นต้น
8. สินค้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงเร็ว (The Fast Fashion Trend)
กระแสโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมากของแคนาดา รวมทั้งการเคลื่อนย้ายธุรกิจข้ามชาติเข้ามาในแคนาดามากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องการรอคอย ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจมากขึ้น สินค้าแฟชั่นในแคนาดาจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรูปแบบและสไตล์ของสินค้ามีวงจรที่สั้นลง ธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์เนมระดับโลก อาทิ H&M ของสวีเดน Zara ของสเปน รวมทั้งสินค้าเครื่องประดับตกแต่ง ต้องปรับตัวออกแบบ เปลี่ยนสไตล์และรูปแบบตลอดเวลา แม้ภายใน 1 สัปดาห์ สินค้าก็ตกรุ่นแล้ว ธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งของสตรีเป็นธุรกิจที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเร็วและทำเงินอย่างมากถึงปีละกว่า 10 พันล้านเหรียญแคนาดา นอกจากนี้ ยังมีการวางจำหน่ายสินค้าประเภทในห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคทุกหนแห่งและรวดเร็ว ธุรกิจเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดธุรกิจบริการด้านการออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ เฉียบคม ฉับพลัน เพื่อจุดประกายและสร้างกระแสความต้องการบริโภคสินค้าในตลาดแคนาดา
9. การขายสินค้าและทำธุรกิจบนเว็ปไซต์ (The Web Trend)
แคนาดานิยมติดต่อสื่อสารและประกอบธุรกิจทางอีเมล์ เว็บไซต์ ทำให้ธุรกิจออนไลน์ (E-business) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สำนักงานสถิติของแคนาดา (Statistics Canada) ประเมินมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ถึงปีละ 8 พันล้านเหรียญแคนาดา และพบว่าคนแคนาดาใช้เวลาอยุ่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานขึ้นกว่าเดิม ธุรกิจและองค์การในแคนาดาต่างพากันสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง และทำธุรกิจหรือกิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ อาทิ Club Penguin ซึ่งเป็นเครือข่ายทางสังคมสำหรับเด็กสามารถจำหน่ายสินค้าของ Disney ผ่านเว็ปไซต์มูลค่าถึง 350 ล้านเหรียญแคนาดา E-bay จำหน่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปีปีละกว่า 10% (ผู้ก่อตั้งคือ Jeff Skoll จากนครมอนทรีออล) บริษัท Marisa Ramonda เปิดเว็ปไซต์ eco-handbags.ca เพื่อจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลทางออนไลน์ บริษัทของ David Verlee ได้จำหน่ายสินค้าถุงเท้าผ่านทางออนไลน์ สินค้าต่างๆ สามารถจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจออนไลน์ (E-business) เป็นช่องทางที่ดีสำหรับการวางจำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง และมียอดจำหน่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
10. กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม (The Eco Trend)
จากการที่ Al Gore ได้ปลุกเร้าและเรียกร้องให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับโลกร้อน (Global Warming) ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่ออนาคตของโลกในแคนาดาเป็นอย่างมาก คนแคนาดาหันมาบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมของโลกมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาธุรกิจในแคนาดาสามารถจำหน่ายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงปีละ 3 พันล้านเหรียญแคนาดาเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ถึงร้อยละ 17 ผู้ผลิตได้พัฒนาและวางจำหน่ายสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อมในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคแม้จะมีราคาแพงกว่าสินค้าปกติ อาทิ หลอดไฟประหยัดพลังงาน มียอดจำหน่ายถึงปีละ 20 ล้านดวง การผลิตกระแสไฟฟ้าจาก green power ขวดน้ำที่ย่อยสลายได้ (biodegradeable water bottle) ถ่านคาร์บอนสำหรับการปลูกพืช ( carbon gilt for tree planting) อุปกรณ์ล้างรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-friendly carwash) เป็นต้น
ภาวะการค้าของไทย-แคนาดา
แคนาดาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 27 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 29 ของไทย มูลค่าการส่งออกของไทยไปแคนาดาปี 2548 —2550 จำนวน 1,035.33 1237.35 และ 1368.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยมีส่วนแบ่งในตลาดแคนาดาประมาณ 0.54% ในช่วงมค.-มิย. 2551 มีมูลค่า 666.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.12 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีมูลค่า 628.29 ขยายตัวร้อยละ 5.87 โดยส่งออกไปที่มณฑลออนตาริโอเป็นส่วนใหญ่ถึง60.95% ของมูลค่าการส่งออกรวม รองลงมาเป็นบริติช โคลัมเบีย 19 % ควีเบ็ค 13% แอลเบอร์ต้า 3.3 % โนวาสโกเทีย 3% มานิโตบา 1.35%
ไทยเกินดุลการค้าแคนาดาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2548-2550 เกินดุลการค้า 511.29 730.58 736.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯตามลำดับ และในช่วง มค.-มิย. 51 ที่เศรษฐกิจแคนาดาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไทยยังเกินดุลการค้า 222.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่เกินดุล 319.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกไทยไปแคนาดา 20 อันดับแรก
1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
2. อาหารทะเลกระป่องและแปรรูป
3. ข้าว
4. ยางพารา
5. เสื้อผ้าสำเร็จรูป
6. กุ้งสดแช่งเย็นแช่แข็ง
7. ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
8. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
9. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
10. อัญมณีและเครื่องประดับ
11. เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม
12. ผลิตภัณฑ์ยาง
13. เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ
14. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร
15. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
16. ผลิตภัณฑ์พลาสติก
17. เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ
18. รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
19. เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลุกสูบและส่วน
20. รองเท้าและชิ้นส่วน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโตรอนโต
Upload Date : สิงหาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ