ข้อมูลพื้นฐานของประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 22, 2008 15:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาพทางภูมิศาสตร์และประชากร
- อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะจำนวนทั้งสิ้น 17,508 เกาะ เป็นประเทศที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างทวีปเอเชียและออสเตรเลีย พื้นที่ซึ่งรวมพื้นที่ในทะเลประมาณ 5.2 ล้าน ตร.กม.
- หมู่เกาะที่สำคัญของอินโดนีเซียมี 5 เกาะ คือ สุมาตรา (473,606 ตร.กม.) ชวา (132,107 ตร.กม.) ซึ่งจะมีจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุด กะลิมันตัน (539,460 ตร.กม.) สุลาเวสี (189,216 ตร.กม.) และ ปาปัว (421,981 ตร.กม.)
- มีสภาพอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน มี 2 ฤดูคือ ฤดูแล้ง (เม.ย. — ก.ย.) และฤดูฝน (ต.ค. — มี.ค.) อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 21 — 33 ดีกรีเซลเซียส
- เป็นประเทศที่มี 3 เขตเวลา คือ 1. เขตตะวันตก (ชวา สุมาตรา และกะลิมันตันตะวันตก) คือ GMT+7 หรือเท่ากับเวลาในประเทศไทย 2. เขตกลาง (กะลิมันตันตะวันออก สุราเวสี และบาหลี) คือ GMT+8 หรือเร็วกว่าเวลาในประเทศไทย 1 ชม. และ 3. เขตตะวันออก (มาลูกูและปาปัว) คือ GMT+9 หรือเร็วกว่าเวลาในประเทศไทย 2 ชม.
- อินโดนีเซียมีจำนวนประชากรประมาณ 240 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เกาะชวา ประมาณกว่าร้อยละ 60
- ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม สำหรับศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ คริสต์ ฮินดู และพุทธ จึงถือเป็นประเทศอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่ได้เป็นรัฐมุสลิม
- ภาษาราชการคือ ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) และภาษาพื้นเมืองอีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ภาษาพื้นเมืองชวากว่า 300 ภาษา ภาษาพื้นเมือง Sundanese เป็นต้น
การเมืองการปกครอง
- อินโดนีเซียปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นเป็นผู้นำของประเทศ (วาระการบริหารประเทศ 5 ปี และต่อได้อีก 1 วาระ) มีการแบ่งอำนาจระหว่างประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการปกครองในระบบสาธารณรัฐแบบ Unitary Republic ซึ่งมีการปกครองตนเองในบางพื้นที่ (provincial autonomy)
- มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 33 จังหวัด โดยมีเขตการปกครองพิเศษใน 3 เมือง คือ กรุงจาการ์ตา เมืองยอร์กยาการ์ตา และอาเจะห์
- รัฐสภาของอินโดนีเซีย (People’s Consultative Assembly) ประกอบด้วยสมาชิกผู้แทนรวม 678 คน โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (People’s Representative Council) 550 คน และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (Regional Representative Council) 128 คน
- ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในปี 2547 คือ Dr. Susilo Bambang Yudhoyono
- พรรคการเมืองที่สำคัญของอินโดนีเซีย ได้แก่ Golkar, Indonesian Democratic Party-Struggle (PDIP), National Awakening Party (PKB), United Development Party (PPP), Democratic Party (PD), Prosperous Justice Party (PKS), National Mandate Party (PAN)
ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
- ในปี 2550 อินโดนีเซียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ประมาณ 432.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) 1,909 เหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) ร้อยละ 6.3
- คาดว่าในปี 2551 อินโดนีเซียจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติประมาณ 483.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวประมาณ 2,104 เหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 6.2
- ในปี 2550 มีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 6.4 อัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 8 และอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 9
- สกุลเงินที่ใช้คือ รูเปียห์ (Rupiah) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 9,000 รูเปียห์ หรือ 1 บาทเท่ากับประมาณ 270 รูเปียห์
- ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของอินโดนีเซีย ได้แก่ น้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิเกิล ดีบุก ทองแดง ทอง เงิน บ๊อกไซด์ ป่าไม้ และสินค้าประมง เป็นต้น
- ผลผลิตทางการเกษตรและประมงที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาทูน่า ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ มะพร้าว เป็นต้น
- อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม/ ก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์/รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
ข้อมูลการค้า/การลงทุน
- ดุลการค้า: จากสถิติของกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ในปี 2550 มูลค่าการค้ารวมของอินโดนีเซียคือ 188,574.30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมน้ำมันและก๊าซ) รวมทั้งสิ้นประมาณ 114,100.90 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 74,473.40 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีดุลการค้าเกินดุลกับต่างประเทศประมาณ 39,627.50 ล้านเหรียญสหรัฐ
- การส่งออก: ในปี 2550 อินโดนีเซียส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปยังต่างประเทศ รวมมูลค่าประมาณ 92,012 เหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญของอินโดนีเซีย 10 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ไทย และไต้หวัน โดยไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 9 ของอินโดนีเซีย
- การนำเข้า: ในปี 2550 อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (ไม่รวมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) รวมมูลค่าประมาณ 52,540 เหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรกคือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ เยอรมนี และอินเดีย โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 4 ของอินโดนีเซีย
- การลงทุน: จากข้อมูล BKPM ในปี 2550 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 10349.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ลงทุนที่สำคัญในอินโดนีเซีย 10 อันดับแรก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการลงทุน คือ สิงคโปร์ อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซีเชล เมอริเชียส มาเลเซีย ออสเตรเลีย บราซิล โดยไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับที่ 15 ของอินโดนีเซีย มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 63 ล้านเหรียญสหรัฐใน 6 โครงการ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา
Upload Date : สิงหาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ