การส่งเสริมการขยายตลาดการส่งออกกุ้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 22, 2008 16:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          อิตาลีเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ มีปริมาณการนำเข้ากุ้งเฉลี่ย ปีละประมาณ 60,000 ตัน โดยในปี 2550 นำเข้าทั้งสิ้น 64,970 ตัน และในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม —เมษายน) ของปี 2551 นำเข้าแล้วทั้งสิ้น 14,679 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนำเข้าปริมาณ 17,013 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13.72 ส่วนใหญ่นำเข้าจากเอควาดอร์ อินเดีย จีน บราซิล อาร์เจนติน่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ทั้งนี้ ช่วงที่อิตาลีนำเข้ากุ้งมากที่สุดมี 2 ช่วงคือ ระหว่างเดือนกันยายน — ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนคริสต์มาส และมีนาคม —มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าฤดูร้อน
อนึ่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา กุ้งจากมาเลเซียไม่สามารถนำเข้าอิตาลีได้เนื่องจากสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการฉุกเฉิน ห้ามนำเข้าสินค้าประมงเพื่อการบริโภคของมนุษย์เป็นการชั่วคราวเพราะพบว่ามีการปนเปื้อน
ข้อมูลการนำเข้าทั่วไป
- ภาษีนำเข้า กุ้งทั้งเปลือก(Whole shrimp) 4.2 % ,กุ้งปอกเปลือก(Peeled or Pre-cooked) 7 %
- กฎระเบียบการนำเข้า
1. ต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยที่ออกโดยกรมประมง
2. มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิด (Form A) จากกรมค้าต่างประเทศ
แนวโน้มการนำเข้า
จากการสอบถามผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของอิตาลีได้รับแจ้งว่า สินค้ากุ้งของไทยมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับ เมื่อเปรียบเทียบกับกุ้งจากเอควาดอร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน แต่ปัญหาด้านราคาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้นำเข้าอิตาลีนำเข้าจากจีนคือ ราคากุ้งไทยค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดี ในอนาคต หากผู้ส่งออกไทยสามารถขายในราคาที่แข่งขันกับกุ้งจากประเทศคู่แข่งเช่น เอควาดอร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามได้
ผู้นำเข้าอิตาลีก็สนใจที่จะหันมานำเข้ากุ้งจากไทย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ