ด้วยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2551 หน่วยงาน Food and Health Bureau ได้ส่งเอกสารแจ้งเกี่ยวกับการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสารเมลามีน(melamine) ในอาหารโดยสรุปสาระสำคัญ และข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
1. รบ.ฮ่องกงได้แก้ไขกฎระเบียบ Harmful Substances in food(Amendment) Regulation 2008(the Amendment Regulation) ที่เกี่ยวข้องกับสารเมลามีนในอาหาร โดยพิมพ์เผยแพร่ใน Gazette มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2551 เป็นต้นไป
2. ข้อบทที่ 132 AF ของกฎระเบียบเกี่ยวกับสารที่เป็นอันตรายในอาหารได้กำหนดปริมาณสูงสุดของสารอันตรายที่ได้รับอนุญาตให้มีในอาหารได้ ผู้ที่นำเข้า ควบคุม นำส่ง ผลิต หรือขายอาหารที่มีส่วนผสมของสารอันตรายในปริมาณที่มากกว่ากำหนดให้กับผู้อื่นเพื่อการบริโภคถือเป็นผู้ที่กระทำความผิด
3. การตรวจพบสารเมลามีนในนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านมานี้ได้สร้างความวิตกกังวลในสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยด้านอาหารและเป็นการป้องกันด้านสาธารณสุข รัฐบาลฮ่องกงได้ยื่นญัตติเร่งด่วนแก้ไขบทที่ 132AF เพื่อยุติการใช้สารเมลามีนในปริมาณที่ไม่เหมาะสมในอาหาร
4. เมื่อพิจารณาหลักปฏิบัติและมาตรฐานสากล รวมทั้งความน่าจะเป็นที่สารเมลามีนอาจมีอยู่ในอาหารสืบเนื่องจากการปนเปื้อนจากอุปกรณ์และ/หรือจากการบรรจุหีบห่อ รบ.ฮ่องกงได้กำหนดปริมาณสูงสุดของสารเมลามีนในอาหาร ดังนี้
นม1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
- อาหารสำหรับบริโภคโดยเด็กอายุต่ำกว่า 36 เดือน
- อาหารสำหรับบริโภคโดยหญิงมีครรภ์หรือหญิงที่กำลังให้นมบุตร
อาหารประเภทอื่นๆ 2.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม
5. โดยที่กลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 36 เดือนเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวมากกว่าต่อสารเมลามีน เนื่องจากนมเป็นอาหารหลักจึงทำให้ปริมาณสารเมลามีนจากการบริโภคต่อน้ำหนักตัวจะมีสูงกว่าผู้ใหญ่ที่บริโภคอาหารหลากหลายประเภท และกลุ่มหญิงมีครรภ์หรือหญิงที่กำลังให้นมบุตรก็อยู่ในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวเช่นกัน จึงได้มีการกำหนดปริมาณสูงสุดของสารเมลามีนในนมไว้ต่ำกว่าอาหารประเภทอื่นๆ ซึ่งการกำหนดปริมาณสูงสุดดังกล่าวได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนของสารเมลามีนจากอุปกรณ์และ/หรือการบรรจุหีบห่อแล้ว
ก่อนการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว รบ.ฮ่องกงไม่เคยมีการกำหนดปริมาณสารเมลานีนสูงสุดที่ได้รับอนุญาตในอาหารแต่อย่างใด การแก้ไขมาตรฐานดังกล่าวอาจกระทบต่อสินค้าอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนมของไทยที่ส่งออกมาฮ่องกง ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจึงควรตรวจสอบและป้องกันและควบคุมการผลิต/ส่งออกสินค้าของตนต่อไปอย่างระมัดระวังด้วย
หากผู้ส่งออกต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามข้อมูลเรื่องปริมาณควบคุมสารเมลามีนในอาหารสามารถติดต่อโดยตรงที่ Mr. James Chan, Assistant Secretary for Food and Health at (852) 29738241 or email at jcychan@fhb.gov.hk .
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองฮ่องกง
Upload Date : กันยายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th