ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อสินค้าและบริการของไทยในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2008 14:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นับแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อ sub-prime ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ก่อให้เกิดการหดตัวของการบริโภคมาโดยตลอด แต่ยังคงไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทเลย์แมนบราเธอร์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ ได้ประกาศล้มละลาย ตามด้วยเหตุการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศอัดฉีดเงินกว่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพยุงสถานะทางการเงินให้แก่ AIG บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของประเทศจนกลายเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก สำหรับในไต้หวันดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้ลดลงจาก 9,300 กว่าจุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 จนเหลือเพียง 5,703.72 จุดในวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเองก็ได้มีการประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงตลาดหลายมาตรการทั้งการลดค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ การผ่อนปรนให้เงินทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันได้มากขึ้น การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าพยุงตลาดกว่า 300,000 ล้านเหรียญไต้หวัน การห้ามทำการ Shot-sell ในหุ้นจำนวน 150 หลักทรัพย์จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 รวมไปจนถึงการเตรียมลดภาษีมรดกจากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงรอดูทิศทางของต้นตอแห่งปัญหานั่นก็คือสหรัฐฯ ว่า นโยบายการอัดฉีดเงินจำนวนกว่า 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพื่อกอบกู้วิกฤตในครั้งนี้จะได้ผลเพียงใด 
ผลกระทบต่อสินค้าและบริการไทย
ในส่วนของผลกระทบต่อสินค้าไทยนั้น ที่ผ่านมาไต้หวันถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอีเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่านำเข้าสินค้า IC จากไทยลดลงถึงร้อยละ 39 สาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคในตลาดหลักของไต้หวัน ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินค้า 3C จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้การผลิตลดลง จนทำให้การนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตลดตามไปด้วย ทั้งนี้จากการประมาณการของสมาคมผู้ผลิตสินค้าสินค้าคอมพิวเตอร์และอีเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน (TEEMA) คาดว่ากว่าที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาคึกคักอีกครั้งอาจต้องรอจนถึงปี 2553
สำหรับในด้านการบริการนั้น จากการประกาศผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไต้หวันโดย ศูนย์วิจัยพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน National Central University ประจำเดือนกันยายน 2551 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม 1.52 จุดลดเหลือ 54.32 จุด ถือเป็นดัชนีความเชื่อมั่นที่ทำสถิติต่ำที่สุดเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน (ลดจาก 68.48 จุดในเดือนเมษายน 2551) ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่รู้ว่าจะถดถอยไปอีกนานเพียงใด จึงค่อนข้างระมัดระวังการจับจ่าย เห็นได้ชัดจากการที่ปริมาณผู้ใช้บริการร้านอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของร้านอาหารไทยที่กลุ่มลูกค้าสำคัญคือระดับกลาง-สูงนอกจากนี้ผู้ใช้บริการของศูนย์สปาก็มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีในส่วนของสินค้า Home SPA กลับได้รับอานิสงค์จากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาซื้อสินค้าเพื่อกลับไปใช้เองที่บ้านมากขึ้น จนทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ทั้งนี้ในส่วนของสินค้าธุรกิจบันเทิงยังคงไม่ปรากฏผลกระทบที่ชัดเจน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ