สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 8, 2008 16:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมาใช้ยุทธ์วิธีการเจรจาการค้าในระดับภูมิภาคและทวิภาคีตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประเทศกับสหรัฐสหภาพยุโรป และจีน แต่จะใช้คำว่าข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหรือ Economic Partnership Agreement (EPA) แทนที่จะใช้คำว่า ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) เหมือนประเทศอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่า ความตกลงกับประเทศคู่ค้าที่ญี่ปุ่นจัดทำ ไม่ใช่เป็น
การเปิดตลาดสินค้า และบริการเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างองค์กร หน่วยงานและเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ญี่ปุ่นลงนาม EPA กับสิงคโปร์เป็นประเทศแรก เมื่อเดือนมกราคม 2545 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนถพฤศจิกายน ปีเดียวกัน จากนั้นก็ลงนามกับเม็กซิโก มาเลเชีย ชิลี ไทย ตามลำดับ จนถึงขณะนี้ญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลง EPA แล้วกับ 9 ประเทศ 1 ภูมิภาค(อาเชียน) และเมื่อปลายเดือนกันยายนนี้ ได้สรุปผลการเจรจาเพิ่มเติมกับอีก 2 ประเทศ คือ เวียดนามและสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากเจรจากันมานานกว่าหนึ่งปี แต่ที่
เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เม็กซิโก มาเลเชีย ชิลี และไทย
Mr. Takeo Kawamura หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ของญี่ปุ่น กล่าวถึงการสรุปผลเจรจากับทั้งสองประเทศว่า
- รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเปิดเจรจา EPA กับเวียดนามตั้งแต่มกราคม 2550 โดยขอให้เวียดนามเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงขณะที่เวียดนามขอให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีตลาดเสื้อผ้า อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์
- เริ่มเจรจากับสวิสเซอร์แลนด์เมื่อพฤษภาคม 2550 โดยญี่ปุ่นขอให้ลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ขณะที่สวิสฯ ต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีสินค้าอาหาร เช่น เนยแข็ง ไวน์ ชอกโกแล็ต กาแฟสำเร็จรูป เป็นต้น ญี่ปุ่นได้ตกลงจะลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากสวิสฯลง ให้เหลือศูนย์ (0%) ทันที และที่ลดลงในอนาคต แต่ก็ยังต้องหารือกันในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ความลกลงที่จัดทำ ได้รวมถึงความร่วมมือด้านการลงทุนและบริการ นอกจากนี้ สวิสเซอร์แลนด์จะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ญี่ปุ่นจัดทำ EPA และจะเป็นครั้งแรกที่รวมเรื่องการค้าอิเลคทรอนิกส์ (Provision on electronic commerce)
- ญี่ปุ่นวางแผนให้ความตกลงเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ร้อยละ 92 ของมูลค่าสินค้าที่ค้าขายกันระหว่างญี่ปุ่น-เวียดนามมีภาษีลดลงเหลือ ศูนย์(0%) และร้อยละ 99 ของมูลค่าการค้าระหว่างญี่ปุ่น-สวิสฯ จะลงลดเหลือศูนย์
- การค้าสองฝ่ายระหว่างญี่ปุ่นกับเวียดนามมีมูลค่า 11,819 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2550 มีสัดส่วน0.88% ของมูลค่าการค้าของญี่ปุ่นโดยการนำเข้าขยายตัว 15.95 % ขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกไปเวียดนามเพิ่ม 37.4 % ญี่ปุ่นมองว่าเวียดนามเป็นตลาดที่กำลังเติบโต รายได้ของผู้บริโภคเพิ่มและความต้องการซื้อสินค้าเทคโนโลยีขยายตัวอย่างมาก สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ กุ้ง อาหารทะเล และสินค้าอุปโภค-บริโภค
- สำหรับสวิสเซอร์แลนด์ มีมูลค่า 8,241.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีคิดเป็นร้อยละ 0.61 % ของมูลค่าการค้ารวมของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นขาดดุลการค้ากับสวิสมาตั้งแต่ปี 1996 สินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่ได้แก่ นาฬิการาคาแพง ปัจจุบันร้อยละ 80 ของสินค้าที่สวิสฯ ส่งออกไปญี่ปุ่นมีภาษีเป็นศูนย์ขณะที่ร้อยละ 80 ของสินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปสวิส ยังต้องเสียภาษี EPA จึงน่าจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัว
ไทยและญี่ปุ่น ได้ลงนามความตกลง JTEPA เมื่อเดือนเมษายน 2550 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ทำให้สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการมีภาษีเป็นศูนย์ สินค้าท่ได้รับประโยชน์ โดยยกเลิกภาษีทันที เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ปิโตรเลียม / ผลิตภัณฑ์พลาสติก / สารเคมีและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีหลายรายการทยอยลดภาษีลง หรือเพิ่มโควต้านำเข้า เช่น เนื้อไก่ สินค้าประมง ผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น โดยระยะ 5 เดือนแรกปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่ม 24.3 % และส่วนแบ่งของสินค้าอาหารของไทยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 14.3 % เป็น 17.0 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การนำเข้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ เพิ่มสูงขึ้น 8.6% และ 27.3 % ตามลำดับ
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ หรือ EPA จึงนับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขยายตลาด เพราะนอกจากจะทำให้ต้นทุนการค้าลดลง การค้ามีความสะดวกขึ้น และยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจากประเทศที่สามมองหาโอกาส ศึกษาศักยภาพตลาดและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นจัดทำ EPA กับประเทศคู่ค้ามากขึ้น ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่เคยมีย่อมลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้ การแข่งขันกันเองระหว่างอาเชียนก็ยิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยที่จะทำให้การเข้าสู่ตลาดประสบความสำเร็จ เช่น การพัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานสินค้า การสร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อถือแก่ผู้บริโภค การสร้างตราและสัญญลักษณ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาด และกรพัมนาสินค้าใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จทางธุรกิจกับญี่ปุ่น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ