ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ต่อโลกและญี่ปุ่น
วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 1 ปี จากปัญหา Subprime ได้ส่งผลให้สถาบันการเงินประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง หากสามารถหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หรือทางการสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีผู้เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินดังกล่าวก็ล้มต่อกันเป็นโดมิโน เนื่องจากระบบการเงินที่ไร้พรมแดน มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีตามกลไกตลาด
เมื่อเร็วๆ นี้ Lehman Brothers Holding Inc. สถาบันการเงินวานิชธนกิจข้ามชาติที่มีอายุกว่า150 ปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ ได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจาก Federal Reserve ประกาศไม่เข้าช่วยเหลือทางการเงิน พร้อมๆ กับ Bank of America ได้เข้าถือหุ้นในสถาบันการเงินข้ามชาติ Merrill Lynch & Co. และต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 Federal Reserve ได้ประกาศเข้าช่วยเหลือทางการเงิน American International Group Ind. (AIG) บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาเป็นจำนวนเงิน 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากตระหนักถึงกระทบต่อธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันและของชาวโลกอย่างรุนแรงหากไม่เข้าช่วยเหลือ เพราะ AIG มีเครือข่ายธุรกิจในสาขาต่างๆ ทั่วโลก และล่าสุดสภาสูงของสหรัฐฯ ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อสินทรัพย์สินที่มีปัญหาของสถาบันการเงินอีกจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยวงเงินเริ่มต้นอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ได้ทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดเงินทั่วโลกอย่างรุนแรงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกได้ตกลงอย่างมากโดยทั่วกัน ดัชนี Dowjones ได้ลดลงต่ำกว่า 500จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2544 ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกัน นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ได้เทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ดัชนีลดลงมากกว่า 600 จุด และลดต่อเนื่องต่ำลงที่สุดในรอบ 3 ปี
ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนรายใหญ่ก็เทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับ 103 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งตัวที่สุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่ นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทน ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือร้อยละ 1.375 เป็นการลดลงต่ำสุดครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนนับว่าเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อต้นทุนและการกำหนดราคาสินค้า ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทต่อเงินเยน เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเหรียญสหรัฐฯ เงินยูโร และเงินหยวน ต่อเงินเยน เฉลี่ยในปี 2550 กับในเดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ พบว่า เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเยนแล้วอ่อนค่าลงร้อยละ 14.82 ในขณะที่ เงินเหรียญสหรัฐฯ เงินยูโร และเงินหยวน อ่อนค่าลงร้อยละ 9.47, 9.48 และ 0.97
Mr. Haruhiko Kuroda ประธานของ Asian Development Bank (ADB) คาดการณ์ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะยังคงขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 7 ในปี 2008 และ 2009 เนื่องจากประสบการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้ประเทศในเอเชียร่วมกันกำหนดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงิน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะช่วยให้เศราฐกิจโลกขยายตัวต่อไป
ในภาพรวม หน่วยงานทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เช่น กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ธนาคารชาติ (Bank of Japan: BOJ) และเลขาธิการสำนักงานคณะรัฐมนตรี (Cabinet Office) ได้เห็นพ้องว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสถาบันการเงินญี่ปุ่นไม่รุนแรงนัก โดย BOJ ได้อัดฉีดเงินจำนวน 2.5 ล้านล้านเยนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตลาดการเงินญี่ปุ่น และประกาศจะร่วมมือกับนานาประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้งบประมาณสนับสนุนพิเศษ(Supplementary Budget) จำนวน 1.8 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ SMEs และสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระพิเศษ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่า ญี่ปุนมีแนวโน้มที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ เครื่องจักร และอื่นๆ ที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และตลาดที่มีศักยภาพในระยะหลัง เช่น จีนและอินเดีย โดยการส่งออกที่ ลดลง ยังส่งผลให้เกิดภาวะกำลังการผลิตและการจ้างงานส่วนเกิน
นอกจากนี้ Mr. Masato Nonaka ประธานของ Low-priced Apparel Retailer Shimamura Co. ให้ข้อมูลว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นไม่เพียงแต่อยู่ในภาวะลดการใช้จ่ายเช่นในอดีต แต่ปัจจุบัน การใช้จ่ายอยู่ในภาวะหดตัวเต็มรูปแบบ โดยในช่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2551 กำไรและยอดขายของกลุ่มได้ลดลงเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1988 ทั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานของ Cabinet Office ที่ว่า ในเดือนกรกฎาคม 2551 การใช้จ่ายของภาคเอกชน (Private Consumption) คงที่อยู่ในระดับต่ำ
ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมายังประเทศญี่ปุ่น
วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ได้ส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัวมาโดยตลอดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกต่อเนื่องมาไตรมาสที่ 2 และยังไร้วี่แววที่จะกระเตื้องขึ้น เพราะขาดปัจจัยกระตุ้น การว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศลดลง ในขณะที่การส่งออกก็ลดลงเพราะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นขาดกำลังซื้ออย่างรุนแรง จะคาดหวังว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากก็ไม่ได้ เพราะมีความไม่แน่นอนสูงว่า LDP จะสามารถได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ โชคดีที่ภาคการเงินญี่ปุ่นได้ผ่านวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงมาก่อน ได้ผ่านกระบานการล้มละลาย การควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำให้จำนวนสถาบันการเงินของญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างมาก เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ขณะนี้ ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 ปีเพื่อฟื้นฟูกิจการ ในการจัดการกับหนี้เสีย การใช้หนี้คืนรัฐบาลที่ได้เข้าไปช่วยเหลือในช่วงและเพิ่งมี
ผลกำไรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ผลความเสียหายในภาคการเงินจึงไม่รุนแรงมาก แต่ก็ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวมตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ตามที่ได้กล่าวแล้ว
หากมองถึงผลกระทบต่อประเทศไทย การที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกมากถึงร้อยละ 70 ของ GDP และตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของไทย มีผลให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมายังญี่ปุ่นเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงและมีพฤติกรรมการบริโภคที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินเยนในเดือนกันยายน 2551 มีภาวะที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในช่วงปีที่ผ่านมา และหากเทียบกับประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่น เช่น จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป แล้ว ค่าของเงินบาทต่อเงินเยนถือว่าอ่อนลงกว่าค่าเงินของประเทศเหล่านั้นต่อเงินเยน ส่งผลให้โอกาสการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย
ในการนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เห็นว่า เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ต่อการส่งออกของไทย อาจทำได้ควบคู่กันไป 2 แนวทาง คือ
1. การรักษาตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญโดยการเพิ่มจุดแข็งของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น เช่น การให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอาหารซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกหลัก เช่น จีน กำลังประสบปัญหาความน่าเชื่อถือของสินค้า นอกจากนี้การพัฒนาคุณภาพสินค้า การออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและตรงกับรสนิยมของตลาดญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพในตลาดญี่ปุ่น
2. การกระจายการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาและละตินอเมริกา จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวในระดับสูง เช่น สหรัฐฯ และยุโรป
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th