สื่อมวลชนกับเรื่องกล้วยๆ ในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 8, 2008 16:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          เป็นที่ยอมรับกันว่า สื่อมวลชนนับเป็นอาชีพที่มีอิทธิพลสูงมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถสร้างกระแสสังคมหรือนำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ประชาชนเชื่อและคล้อยตามได้โดยง่าย เหตุการณ์ล่าสุดที่ช่วยสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าวคือ การที่ความนิยมบริโภคกล้วยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในประเทญี่ปุ่นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จนส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาดและมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ กล้วยได้กลายเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ยากใน Supermarket ทั่วประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากรายการโทรทัศน์และนิตยสารต่างระบุว่า การบริโภคกล้วยพร้อมน้ำเปล่า (ที่อุณหภูมิห้อง) ในมื้อเช้าจะช่วยในเรื่องการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ความนิยมบริโภคกล้วยจึงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 โดย Dole Japan Co. ซึ่งเป็นผู้นำเข้ากล้วยรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นได้เผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2551 ปริมาณกล้วยที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติแล้ว กล้วยเป็นสินค้าที่ทางบริษัทต้องวางแผนการขาย เมื่อเทียบกับสับปะรดและแตงโม ซึ่งเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากกว่าในท้องตลาด นอกจากนี้ Life Corp. และ Izumiya Co. ซึ่งเป็น Supermarket Chain รายใหญ่ในเขต Kansai ต่างระบุว่า ยอดขายกล้วยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมถึง Department Store ในนคร Osaka ก็ระบุถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เช่นกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ราคากล้วยพุ่งสูงขึ้น และผู้นำเข้ามีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ Natto (อาหารพื้นเมืองของญี่ปุ่นที่ทำจากถั่วเหลือง) ได้รับความนิยม เนื่องจากรายการโทรทัศน์เคยระบุว่า การบริโภคถั่วเหลืองช่วยในการลดน้ำหนัก แม้ว่าต่อมาจะได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นจริง
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นให้ความมั่นใจสูงเกินไปในผลจากการบริโภคอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอาหารใดในโลกที่มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำหนักเพียงแค่บริโภคมันเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Kuniko Takahashi แห่ง Gunma University เชื่อว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นต่างรู้ดีว่าไม่มีอาหารวิเศษเช่นนี้ในโลก เพียงแต่พยายามเชื่อสิ่งที่รายการโทรทัศน์พยายามสื่อจนกระทั่งเกิดเป็นกระแสสังคมดังกล่าว
เหตุการณ์นี้นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นเป็นผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆ และพร้อมที่จะเชื่อในสิ่งที่สื่อพยายามชี้นำ จนในบางครั้งเกิดเป็นกระแสใหญ่โตระดับประเทศ ดังนั้น การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมสินค้าและบริการของไทยผ่านสื่อต่างๆ อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าให้เป็นที่ยอมรับและต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
แหล่งข้อมูล “Banana sales curving upward”, The Daily Yomiuri, 29 September 2008
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ