สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ กรุงเบอร์ลินได้จัดทำสถิติการนำเข้าสินค้าของเยอรมนีจากประเทศไทย จำแนกตามพิกัดฮาร์โมไนซ์ ในปี 2551 (ม.ค.-ม.ย.) รายละเอียดปรากฏในตารางสถิติตามแนบ ซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. ตามตัวเลขของ Eurostat เรียบเรียงโดย World Trade Atlas ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 (ม.ค.-มิ.ย.) เยอรมนีและไทยทำการค้าระหว่างกันเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,834.7 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 โดยเยอรมนีนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 1,868.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 และมีการส่งออกสินค้าไปประเทศไทยเป็นมูลค่า 1,965.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 0.25 ของการส่งออกทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 ในด้านการนำเข้าประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ของเยอรมนี ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.4, 8.5 และ 7.5 ตามลำดับ ในด้านการส่งออกประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 48 ตลาดส่งออกหลักของเยอรมนี ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.7, 7.1 และ 6.8 ตามลำดับ
2. จำแนกตามพิกัด H.S. สินค้าที่เยอรมนีนำเข้าจากไทยในอันดับต้นๆ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ ที่สำคัญๆ ได้แก่
2.1 แผ่นแม่เหล็กบันทึกข้อมูล (พิกัด 8471 7050) ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,585.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 จากไทยนำเข้ามากเป็นอันดับที่ 4 เป็นมูลค่า 134.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.6 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.5 หรือ ร้อยละ 7.2 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ เนเธอแลนด์ จีน และเกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30.2, 10.3 และ 9.7 ตามลำดับรองลงมาเป็นพิกัด 8471 60 20
2.2 เครื่องประดับทำด้วยเงิน (พิกัด 7113 1100) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 163.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับ 1 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.1 หรือร้อยละ 2.7 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย แหล่งนำเข้าสำคัญๆ รองลงมาได้แก่ จีน เดนมาร์ค และอินเดีย มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30.2, 6.3 และ 5.8 ตามลำดับ
2.3 เครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (พิกัด 7113 1900) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 270.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 จากไทยนำเข้าเป็นมูลค่า 18.9 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18.7 หรือร้อยละ 2.7 ของการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้น แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ อิตาลี สวิส และตุรกี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21.2, 18.5 และ 8.9 ตามลำดับ
3. สำหรับสินค้าอาหาร พิกัดที่มีการนำเข้ามากได้แก่
3.1 เนื้อไก่ต้มสุกคลุกเกลือ (สัดส่วนเนื้อไม่เกิน 57%) (พิกัด 1602 3219) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 157.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับ 2 มูลค่า 35.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.0 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22.5 หรือร้อยละ 1.9 ของการนำเข้าจากไทย แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เนเธอแลนด์ บราซิล และสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22.6, 15.2 และ 7.5 ตามลำดับ
3.2 สับปะรดกระป๋อง (พิกัด 2008 2079) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 47.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 จากไทยมีการนำเข้ามากเป็นอันดับแรก เป็นมูลค่า 22.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 37.0 หรือร้อยละ 0.9 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.9 รองลงมาได้แก่ เนเธอแลนด์ อินโดนีเชีย และเคนยา มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26.7, 16.3 และ 15.7 ตามลำดับ
3.3 เนื้อไก่ต้มสุก ปรุงแต่ง คลุกเกลือ (สัดส่วนเนื้อเกิน 57%) (พิกัด 1602 3219) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 29.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 5.6 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับ 1 มูลค่า 14.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 49.0 หรือร้อยละ 0.9 ของการนำเข้าจากไทย แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เนเธอแลนด์ ฮังการี และสหราชอาณาจักร มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.6, 14.5 และ 8.2 ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th