1. ข้อมูลตลาดข้าวในประเทศ และประชากรในประเทศ
- ตลาดเยอรมนี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 82.2 ล้านคน (ปี 2550) ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี ประมาณร้อยละ 8.8 ซึ่งประกอบด้วยชนชาติตุรกี กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก อาทิ โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย และกลุ่มชาวเอเชีย ได้แก่ จีน ศรีลังกา
เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
- เยอรมนีไม่มีการเพาะปลูกข้าวในเชิงการค้า และในแต่ละปีจะมีการนำเข้าข้าวชนิดต่างๆ โดยเฉลี่ยปีละกว่า 320,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศ
2. พฤติกรรมการบริโภค
- ชาวเยอรมัน นิยมการบริโภคขนมปัง มันฝรั่ง และผลิตภัณฑ์ทำจากแป้งหรือธัญพืชต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณการบริโภคขนมปัง ปีละ 80 กิโลกรัมต่อคน บริโภคมันฝรั่งปีละ 30 — 50 กิโลกรัมต่อคน
- การบริโภคข้าวในตลาดเยอรมนี มีอัตราเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อคน แหล่งที่มีการบริโภคข้าว หรือมีการปรุงอาหารที่ใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ โรงอาหารขนาดใหญ่ตามสถานที่ทำงานส่วนราชการ บริษัท และห้างร้านใหญ่ๆ รวมทั้งในภัตตาคารตามห้างสรรพสินค้า
3. กลุ่มผู้บริโภคข้าวเป็นหลักในประเทศ
- ตลาดเยอรมนี มีผู้ที่นิยมบริโภคข้าวส่วนใหญ่คือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 200,000 คน ที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์
4. แหล่งนำเข้า/ส่งออกข้าวที่สำคัญ
การนำเข้าข้าวของเยอรมนี
- ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) เยอรมนีนำเข้าข้าวโดยเฉลี่ย ปีละประมาณ 318,685 ตัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 202.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี สำหรับปี 2551(ม.ค.-มิ.ย.) เยอรมนีนำเข้าข้าวทั้งสิ้นเป็นปริมาณ 206,366 ตัน มีมูลค่า 190.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อนหน้า ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 12.6 และ ร้อยละ 51.4 ตามลำดับ
- แหล่งนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ไทย และเบลเยี่ยมโดยในปี 2551(มค.-มิย.) เยอรมนีมีการนำเข้าข้าวจาก อิตาลี เป็นมูลค่า 54.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.7 มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ เป็นมูลค่า 27.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.5 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.7 นำเข้าจากอินเดีย เป็นมูลค่า 26.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.0 โดยมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 159.3 และนำเข้าข้าวจากประเทศไทย เป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.8 หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5
- กว่าร้อยละ 60 ของการนำเข้าข้าวของเยอรมนี มาจากประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวสารขาวเมล็ดกลม หรือเมล็ดสั้น
- ข้าวที่นำเข้าจากอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นข้าวบาสมาตี และข้าวที่นำเข้าจากประเทศไทย จะเป็นข้าวหอมมะลิ 100% และข้าวหัก สำหรับการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม ในปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียงเล็กน้อย โดยมีการนำเข้าประมาณปีละ 300 — 500 ตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด
ประมาณร้อยละ 1.0
การส่งออกข้าวของเยอรมนี
- ข้าวที่เยอรมนีนำเข้าจากแหล่งต่างๆ นั้น นอกเหนือจากการบริโภคในประเทศแล้ว จะมีการส่งออกเป็นปริมาณปีละกว่า 60,000 ตัน โดยส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆในยุโรป ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ค (ร้อยละ23.0) โปแลนด์ (ร้อยละ 19.9) ออสเตรีย (ร้อยละ 12.9) สวีเดน
(ร้อยละ 9.1) และอังกฤษ (ร้อยละ 5.7)
การส่งออกข้าวของเยอรมนีในปี 2546 — 2551 (มกราคม-มิถุนายน)
รายการ 2546 2547 2548 2549 2550 2551 อัตราการ
(ม.ค.-มิ.ย.) เปลี่ยนแปลง(ร้อยละ)
ปริมาณ (ตัน) 62,765 58,900 64,143 62,357 60,117 38,644 22.62
มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 50.42 50.18 50.64 51.33 57.62 43.21 56.03
ราคาส่งออกเฉลี่ย (USD/ตัน) 803.35 852.04 789.62 823.16 958.48 1,118.15 27.25
ที่มา : World Trade Atlas, กันยายน 2551
หมายเหตุ * เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
- ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2546—2550) เยอรมนีส่งออกข้าวเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 52.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2551 (มค.-มิย.) มีการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 43.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเทียบกับปีก่อนระยะเดียวกันในปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0
- ตลาดส่งออกหลักของเยอรมนี ได้แก่ เดนมาร์ค มีการส่งออกในปี 2551 (มค.-มิย.) เป็นมูลค่า 9.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา รองลงมาส่งออกไปยัง โปแลนด์ เป็นมูลค่า 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 294.7 และส่งออกไป ออสเตรีย เป็นมูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7
5. ความต้องการซื้อข้าวจากไทยต่อปี
- การนำเข้าจากไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2546 — 2550) เยอรมนีนำเข้าข้าวจากประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 14.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปี 2551(มค.-มิย.) มีการนำเข้าจากไทยทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.8 และมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 จะเห็นได้ว่าการนำเข้าข้าวจากไทยมีมูลค่า และปริมาณเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขยายโควตานำเข้าภายใต้ GSP ของสหภาพยุโรป
- คุณภาพของข้าวที่นำเข้า ในตลาดเยอรมันมิได้มีการจัดทำข้อกำหนดโดยเฉพาะแต่อย่างใด โดยทั่วไปจะถือปฏิบัติและใช้ข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ของสากล หรือตามที่สหภาพยุโรปได้กำหนดเอาไว้ แต่เพื่อใช้เป็นกฏเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้า สหภาพยุโรปมีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติ โดยจัดแบ่งข้าวออกเป็นชนิดต่างๆ ตามความยาวของเมล็ดข้าว ได้แก่ ข้าวเมล็ดกลม เมล็ดสั้น เมล็ดกลาง เมล็ดยาว และข้าวหัก นอกจากนี้แล้วตามวิธีการขัดสีข้าว มีการจัดแบ่งชนิดของข้าวเป็น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสีบ้างแล้ว และข้าวขาว
- การนำเข้าข้าวไทยของเยอรมนี จำแนกตามชนิดของข้าว
- ข้าวที่ขัดสีบ้างแล้ว (พิกัด 1006 30) เป็นข้าวที่นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่ามากที่สุด โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2546—2550) มีการนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี และในปี 2551(มค.-มิย.) มีการนำเข้าจากไทยแล้วเป็นมูลค่า 12.5 ล้าน
เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
- ข้าวกล้อง (พิกัด 1006 20) เป็นข้าวนำเข้าจากไทยที่ได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มขึ้นและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา โดยมูลค่าการนำเข้าจากไทยในปี 2550 และ 2551(มค.-มิย.) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าสูงถึงร้อยละ 980.0 และร้อยละ 44.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ มีปัจจัยนอกจากการขยายปริมาณโควตานำเข้าข้าวจากไทยแล้ว การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสความนิยมบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพด้วย
- ข้าวหัก (พิกัด 1006 40) มีมูลค่าการนำเข้าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2546—2550) เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ย 4.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี และในปี 2551 (มค.-มิย.) มีการนำเข้าจากไทยแล้วเป็นมูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า
- อัตราภาษีนำเข้า ในแต่ละปี EU จะมีโควต้าพิเศษสำหรับข้าวที่นำเข้าจากประเทศที่สาม เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำกว่าปกติ และสำหรับประเทศไทยได้รับโควต้าปีละประมาณ 80,000 ตัน โดยมีรายละเอียดของปริมาณตามชนิดของข้าว และอัตราภาษี ดังนี้
- ข้าวขาว (พิกัด 1006 30) โควต้า 25,768 ตัน ไม่ต้องเสียภาษี นอกโควต้าตันละ 145 ยูโร
- ข้าวกล้อง (พิกัด 1006 20) โควต้า 1,812 ตัน มีอัตราภาษีร้อยละ 15 ของมูลค่าสินค้า หรือ 88 ยูโร/ตัน ข้าวนอกโควต้าภาษี 145 ยูโร/ตัน
- ข้าวหัก (พิกัด 1006 40) โควต้าปีละ 52,000 ตัน ภาษี 45 ยูโร/ตัน นอกโควต้าตันละ 65 ยูโร
- การขออนุญาตนำเข้า การนำเข้าข้าวทุกครั้งจะต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้า ได้แก่ หนังสือรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Phythosanitary, Fumigation, Certificate of Origin เป็นต้น) รวมทั้ง Export License ประกอบด้วย ในกรณีที่ปริมาณข้าวที่จะนำเข้าไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม/ครั้ง สามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนำเข้า แต่ต้องดำเนินการตามพิธีการศุลกากร และมีเอกสารต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วประกอบการนำเข้าด้วย
6. ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายข้าวไทยรายใหญ่ในพื้นที่ / ราคาข้าวไทยที่จำหน่ายในพื้นที่
- รายชื่อผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายข้าวไทยในเยอรมนี (เอกสารแนบ 1)
- ราคาข้าวไทย จำหน่ายปลีกในตลาดเยอรมนี ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา จากการที่สหภาพยุโรปมีภาษีนำเข้าข้าวจากประเทศที่สาม (ที่มิใช่ประเทศสมาชิก EU) ในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย ได้ทำให้ราคาขายปลีกข้าวของไทยลดต่ำลงมาโดยตลอดแต่เนื่องด้วยในปี 2551 ที่สถานการณ์ราคาส่งออกของข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จึงทำให้ราคาข้าวจำหน่ายปลีกในตลาดเยอรมนีปัจจุบันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
- ขนาดบรรจุของข้าวที่จำหน่ายในตลาดเยอรมนี ปัจจุบันยังคงไม่มีข้อกำหนดเป็นมาตรฐานโดยเฉพาะแต่อย่างใด โดยทั่วไปจะคำนึงถึงความสะดวกและเหมาะสมในการบริโภค ข้าวที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด จะมีขนาดบรรจุ 125 กรัม 250 กรัม และ 500 กรัม จนถึงขนาด 25
กิโลกรัม โดยที่ข้าวใน Super Market ทั่วไป จะเป็นข้าวพร้อมหุง บรรจุในถุงพลาสติกใสขนาด 4 x 125 กรัม หรือบรรจุในกล่องกระดาษขนาด 250 กรัม-1000 กรัม ส่วนร้านค้าของชำที่จำหน่ายอาหารจากเอเชีย ซึ่งมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียที่บริโภคข้าวเป็นอาหารประจำวันจะมีการจำหน่ายข้าว ขนาดบรรจุตั้งแต่ 1 - 25 กิโลกรัม
- ในปัจจุบันมีผู้นำเข้าเยอรมัน ได้นำข้าวหอมมะลิไทย มาบรรจุกล่องขนาด 4 x 125 กรัม วางจำหน่ายตาม Supermarket ในเยอรมนี ในราคาเฉลี่ยกล่องละ 1.60 — 2.50 ยูโร
7. ปัญหา/อุปสรรคของการจำหน่ายข้าวไทย
- การบริโภคข้าวของไทย ยังไม่เป็นที่นิยมหรือรู้จักแพร่หลายนักในตลาดเยอรมนี เพราะชาวเยอรมันส่วนใหญ่นิยมข้าวที่หุงแล้วมีเมล็ดร่วนไม่ติดกัน แต่ข้าวไทยมีลักษณะเหนียวติดกันเป็นก้อน นอกจากนี้ข้าวไทยยังมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ คือมีระดับความชื้นของเมล็ดข้าวแตกต่างกันมาก (ระหว่างข้าวเก่า และข้าวใหม่) จึงเกิดปัญหาสำหรับการหุงข้าวปริมาณมากๆ ที่ข้าวสุกไม่ทั่วถึงกัน อย่างเช่นตามโรงอาหาร หรือภัตตาคารขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวไทย ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับข้าวชนิดอื่นๆ
- การแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำต้อง แข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกที่มีต้นทุนต่ำกว่า
- การแข่งขันกันเองของผู้ส่งออกข้าวไทย เนื่องจากเป็นการค้าเสรี มีผู้ส่งออกจำนวนมากราย
- ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2550 โดยค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แต่ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลงในช่วงเดือนกรกฎาคม—สิงหาคม 2551
- ปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าระวางเรือ (Freight) เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
8. ข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารไทย และร้านขายข้าว/สินค้า/เครื่องปรุงไทยและเอเชีย โดยสังเขป
- ภัตตาคาร และร้านอาหารไทยในเยอรมนี มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 600 ร้าน ซึ่งมีทั้งร้านไทยเต็มรูปแบบ และประเภทที่จำหน่ายอาหาร Fast Food ร้านอาหารดังกล่าว ส่วนมากจะตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ ได้แก่ เบอร์ลิน แฟรงเฟิร์ต มิวนิค ฮัมบูร์ก และโคโลญนจ์ เป็นต้น โดยร้านอาหารไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะบริหารและดำเนินการโดยเจ้าของร้านซึ่งเป็นคนไทยร่วกับชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวเยอรมันที่มีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทย ชาวเวียตนาม และชาวจีน
- สำหรับร้านอาหารไทยประเภท Fast Food ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตามเมืองใหญ่ๆในเยอรมนีเช่นกัน มีเจ้าของกิจการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เปิดดำเนินการโดยจ้างลูกจ้างชาวเอเชีย ให้เป็นผู้ปรุงอาหารจำหน่าย มีการตั้งราคาอาหารย่อมเยาว์กว่าราคาตามภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยโดยอาหารแต่ละจาน จะมีราคาโดยเฉลี่ยขั้นต่ำประมาณ 1—2 ยูโร และราคาสูงสุดไม่เกินจานละ 12 ยูโร เนื่องจากร้านอาหารประเภทนี้ มีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น การตกแต่งร้านค่าเช่า และค่าจ้างพนักงาน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในภัตตาคารเต็มรูปแบบ จึงทำให้สามารถเสนอขายอาหารได้ในราคาที่ต่ำกว่ามาก
- ร้านขายวัตถุดิบและเครื่องปรุงในการประกอบอาหารไทย ได้แก่ ผัก ผลไม้สด เครื่องกระป๋องและของแห้งต่างๆ ที่นำเข้าจากประเทศไทยและวางจำหน่ายตามร้านค้าของชำชาวเอเชีย โดยทั่วไปจะมีราคาจำหน่ายของผักและผลไม้สด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7—12 ยูโร ต่อ 1 กิโลกรัม(หากของสดเหล่านี้เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศใกล้เคียงในยุโรป เช่น เนเธอแลนด์ หรือ ฝรั่งเศส จะมีราคาจำหน่ายระหว่าง 4—6 ยูโร ต่อ 1 กิโลกรัม) ส่วนเครื่องกระป๋องและอาหารแห้งต่างๆ จะมีราคาสูงกว่าราคาในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 100—400 บาท เนื่องจากค่าขนส่งภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม
- โดยทั่วไปผู้บริโภคสามารถหาซื้อข้าวไทย ได้จากร้านค้าของชำชาวเอเชียเป็นหลัก ร้านค้าเหล่านี้จะมีการสต๊อคสินค้าที่จำหน่ายภายในร้านค้าของตนเองจำนวนหนึ่ง รวมทั้งข้าวด้วย โดยจะทำการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกเป็นประจำ และสำหรับข้าวจะมีการสั่งซื้อต่อครั้ง เป็นปริมาณระหว่าง 100—500 ตัน เพื่อการจำหน่ายปลีกในร้านของตนเอง และขายส่งให้กับร้านค้าขนาดเล็กที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
Upload Date : กันยายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th