สรุปรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่หดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 13, 2008 11:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงจาการ์ตา ขอสรุปสาระบทวิเคราะห์ผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกที่หดตัว ที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ดังนี้
บทความใน Jakarta Post ลงวันที่ 3 ตุลาคม 255
RI Economy can absorb impact of possible bailout failure, global fears
รัฐบาลอินโดนีเซียแถลง ปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะไม่ส่งผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยเมื่อพิจารณาจากผลดำเนินงานของภาคการธนาคาร การส่งออกสินค้า commodity ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียที่มั่นคงกว่าในอดีตที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997
รองประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียสามารถรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าประเภท commodities รายสำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มีความต้องการในสินค้าดังกล่าวอยู่แล้ว ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน สิ่งทอ และปาล์มน้ำมัน โดยเห็นว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะดังกล่าวน่าจะเป็นประเทศจีนซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรป
รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซียได้ยืนยันข้อมูลของรองประธานาธิบดีว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมีเสถียรภาพในด้านการเงินและการธนาคารของอินโดนีเซียนั้น มีความมั่นคงมากนับตั้งแต่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 1997 ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมมีอัตราเพียงร้อยละ 4.1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราร้อยละ 5 ที่กำหนดโดยธนาคารกลาง
บทความใน Jakarta Post ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2551
Global recession may have impact on RI by next year
อินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของบางประเทศในยุโรปในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน
ความต้องการในสินค้าและบริการของกลุ่มประเทศอาเซียนที่อาจลดลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว ก็จะกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศอาเซียน ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซียไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในราวต้นปีหน้า
สำหรับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของอินโดนีเซียในช่วง ม.ค. — ก.ค. ปีนี้นั้น อันดับหนึ่งคือญี่ปุ่น ร้อยละ 12.35 รองลงมาคือสหรัฐฯ ร้อยละ 11.6 และอันดับสามคือสิงคโปร์ ร้อยละ 9.73 ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจะให้การสนับสนุนหรือแรงจูงใจแก่ผูส่งออกในการที่จะปรับเปลี่ยนการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ให้มีความหลายหลายมากขึ้น (diversify market) โดยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรปให้ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังต้องลดการนำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าไม่จำเป็น (unessential goods) จากต่างประเทศด้วย โดยจะออกมาตรการเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสมดุลในดุลการชำระเงินของประเทศ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งอินโดนีเซีย แจ้งว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ จะส่งผลให้มีสภาพคล่องลดลง ซึ่งอินโดนีเซียจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับกับปัญหาดังกล่าวในช่วง 6 เดือนหรือ 1 ปีต่อจากนี้ โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งในภาคการธนาคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเติบโตของภาคการกู้ยืมเพื่อส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจและควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศ
บทความใน Jakarta Post ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2551
U.S. crisis impact on Indonesia’s exports: Blessing in disguise?
ในช่วงสัปดาห์นี้ ผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งนักธุรกิจอินโดนีเซียเริ่มเกรงต่อผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่หดตัวดังกล่าวมีแนวโน้มี่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมากตลาดหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยจากข้อมูลล่าสุดของ Central Statistic Agency ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 11.58 ของการส่งออกทั้งหมดของอินโดนีเซีย รองลงมาจากตลาดญี่ปุ่น
หากเปรียบเทียบบทบาทความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ กับตลาดในภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่าอินโดนีเซียส่งออกไปยังสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศปลายทางที่สำคัญในตลาดอาเซียน เพียงร้อยละ 9.77 ซึ่งมีการส่งออกเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ นอกจากนี้ตลาดสหรัฐฯ ยังสามารถส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของอินโดนีเซีย ผ่านทางผลกระทบต่อเนื่องหรือ domino effect เนื่องจากวิกฤติทางการเงินของสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อการเงินในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น และประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งสัดส่วนการส่งออกของอินโดนีเซียไปยังตลาดสหภาพยุโรป ตลาดญี่ปุ่น และจีน คิดเป็นร้อยละ 13.92 12.50 และ 7.58 ตามลำดับ โดยประเทศเหล่านี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกจากอินโดนีเซียถึงร้อยละ 45.58
ดังนั้น ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงส่งผลต่อการส่งออกของอินโดนีเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ โดยจะต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขและเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซีย โดยการปรับเปลี่ยนการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น (diversification)
โดยควรปรับจากตลาดหลักเดิมไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก การปรับเปลี่ยนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ดังกล่าวจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับกลยุทธทางอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากอินโดนีเซียจะต้องเข้าไปแข่งขันกับสินค้าจากจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสูงมาก
ในช่วงปี 2008 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่ราคาสินค้าประเภท commodity ที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้แล้วอินโดนีเซียจะต้องเน้นพิจารณาถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียไม่สามารถพึ่งพึงอยู่กับสินค้าประเภทวัตถุดิบและ commodity ในการส่งออกเท่านั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีการส่งออกสินค้าประเภทสิ่งทอถึงร้อยละ 25 และสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 12.45 ซึ่งสำหรับภาคการผลิตสินค้าดังกล่าว อินโดนีเซียจะต้องแข่งขันกับจีน อินเดีย และเวียดนาม ดังนั้นการแข่งขันการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ จะมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากภาวะการหดตัวของตลาดสหรัฐฯ เองและการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นสูงขึ้น
ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว กลยุทธการส่งออกจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับกลยุทธด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้า เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถฝ่าวิกฤติทางการเงินไปสู่กลยุทธการส่งออกที่สามารถดำรงอยู่ได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ