สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงจาการ์ตา สรุปบทความจาก หนังสือพิมพ์ The Jakarta Post ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เรื่องรัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ (Govt revising down economic growth amid global downturn) ดังนี้
สมมติฐาน เดิม เสนอปรับใหม่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.3% 5.5 — 6.1% อัตราแลกเปลี่ยน (รูเปีย/ เหรียญสหรัฐฯ) 9,150 9,500 อัตราเงินเฟ้อ 6.2% 7.0% อัตราดอกเบี้ย 8.0% 8.5% ราคาน้ำมัน (เหรียญสหรัฐฯ/บาเรล) 95 85 แหล่งข้อมูล: กระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปรับลดตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นข้อสมมติฐานในการตั้งงบประมาณ (revised down budget assumption) ซึ่งรวมถึงตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เสนอแผนงบประมาณต่อคณะกรรมการพิจารณางบประมาณในสภาผู้แทนฯ โดยได้ปรับตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ในปีหน้าจากร้อยละ 6.3 ลงเหลือประมาณร้อยละ 5.5 และ 6.1
อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งรัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซียแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องปรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลง
สำหรับอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งปรับลดโดยประมาณที่ร้อยละ 5.5 — 6.1 นั้น รัฐมนตรีคลังคาดว่าตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.6
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลง ซึ่งรัฐบาลจะต้องปกป้องความสามารถในการซื้อของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ปรับลดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลสำหรับปีหน้าจาก 103.5 ล้านล้านรูเปีย เหลือเพียง 54.7 ล้านล้านรูเปีย จากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการพันธบัตรหรือหุ้นของนักลงทุนที่คาดว่าจะลดต่ำลง
ทั้งนี้ ยังมีการพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน โดยรัฐบาลเสนออัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 8.5 ในขณะที่ยังมีความเห็นว่าควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราดังกล่าวลง เนื่องจากมีหลายประเทศที่ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา
Upload Date : ตุลาคม 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th