‘Made by Japan’: ทางเลือกในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 16, 2008 14:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภายใต้วิกฤตการขาดแคลนอาหารที่เกิดเป็นระยะในตลาดโลก และการตรวจพบสารปนเปื้อนที่ปะปนไปกับสินค้าอาหารนำเข้า จนทำให้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นล้มป่วย รวมทั้งข่าวการตรวจพบสารปนเปื้อนในวัตถุดิบการเกษตรและอาหาร ซึ่งปรากฎเป็นข่าว ครึกโครม และสร้างความตื่นตระหนกในกลุ่มอุตสาหกรรม และผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ติดต่อกันหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนของญี่ปุ่น มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคาม และเริ่มหันมาทบทวนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอย่างจริงจัง

ด้วยพื้นที่เกษตรที่มีอย่างจำกัด ญี่ปุ่นจึงไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้เพียงพอสำหรับการบริโภคของประชากร 127 ล้านคน แม้ว่าญี่ปุ่นจะตระหนักถึงความสำคัญและความมั่นคงของประเทศด้านอาหารมาโดยตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการทำให้ญี่ปุ่นยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food self-sufficiency) หรือผลิตสินค้าอาหารในประเทศได้เพียงร้อยละ 39-40 ของจำนวนแคลอรี่ที่ต้องการบริโภคโดยรวม แม้ว่าจะได้ใช้ความพยายามและวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวเป็นร้อยละ 45-50 ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า แต่หนทางก็ยังยาวไกลจากเป้าหมาย

ล่าสุด ได้เกิดแนวคิด ‘Made By Japanese’ Approach ขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการญี่ปุ่น โดยมองว่าถึงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นต้องออกไปลงทุนผลิตและแปรรูปอาหารในต่างประเทศอย่างจริงจังเพื่อส่งกลับไปบริโภคในประเทศ เป็นการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการเพิ่มความมั่นใจด้านปริมาณอาหารให้มีอย่างเพียงพอ (stable food supply) และด้านความปลอดภัยของอาหาร

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศรับการลงทุนและขยายตลาดส่งออก กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขาจำนวนมากของญี่ปุ่นต่างก็เข้าไปทำสัญญาและสร้างพันธมิตรกับโรงงานในจีน โดยเฉพาะกลุ่มผักแช่แข็งและอาหารแปรรูป เพื่อจัดหาและสั่งซื้อสินค้าสำหรับตลาดญี่ปุ่น มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปัจจุบันสินค้าอาหาร ผัก-ผลไม้และอาหารแปรรูปจากจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่น การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นกลับนำมาสู่ปัญหาเรื่องคุณภาพและการปนเปื้อน ที่ดูจะลุกลามและมีการตรวจพบสารเคมีอันตรายปะปนกับสินค้าจากจีนมากชนิดขึ้นเรื่อยๆ ล้วนสร้างความวิตกกังวลและบั่นทอนความมั่นใจในสินค้าจากจีน ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าอาหาร แต่ได้ลุกลามไปสู่สินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆด้วย

บริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มความเคลื่อนไหวออกไปลงทุนผลิตในต่างประเทศ เช่น Kobe Bussan Co. ได้ซื้อที่ดินขนาด 3,000 เฮกตาร์บริเวณลุ่มน้ำไนส์ในอิยิปต์สำหรับการปลูก spinach, broccoli, และผักอื่นๆ สำหรับส่งออกไปญี่ปุ่น Mitsui & Co. วางแผนลงทุนมูลค่า 80 พันล้านเยน สำหรับตั้งโรงงาน ผลิต rapeseed oil ในแคนาดา รวมไปถึงการลงทุนฟาร์มผลิตไก่ ไข่ และกุ้งที่จีน บริษัทอื่นที่ออกไปลงทุนได้แก่กลุ่มบริษัทTrading house ต่างๆ

ญีปุ่นมองว่าอาหารเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เทียบเท่ากับทรัพยากรหายากและราคาแพง เช่น น้ำมัน การที่ต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าสูงถึงร้อยละ 60 ของจำนวนแคลอรี่ที่บริโภค ความมั่นคงด้านอาหารจึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ยิ่งปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก ทั้งสภาวะโลกร้อน สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาแมลงและโรคพืช รวมทั้งการใช้สารเคมีเกษตรในประเทศผู้ผลิต ความมั่นคงของประเทศก็ถูกบั่นทอนลงด้วยเหตุนี้กลุ่ม Trading House ขนาดใหญ่จึงกลับเข้าสู่ธุรกิจการค้าและลงทุนในภาคเกษตรมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะพบว่าต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดและยากที่จะทำผลกำไร

แนวโน้ม และความเคลื่อนไหวดังกล่าว จะส่งผลต่อประเทศไทย ทั้งในแง่บวก เช่น ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่จะสามารถดึงดูดโครงการลงทุน และอุตสาหกรรมแปรรูอาหารของญี่ปุ่นให้ไปตั้งฐานผลิต มีการนำเทคนโลยีการผลิตใหม่ๆ และกรรมวิธีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพเข้าไปใช้ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอาหารของไทย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การออกไปลงทุนผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่น ย่อมสร้างความเชื่อมมั่นแก่ผู้ซื้อมากกว่า ผลิตสินค้าได้ตรงตามรสนิยมตลาดมากกว่า การแข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตของไทยย่อมเข้มข้นขึ้นด้วยหากบริษัทไทยไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ คิดค้นเมนูอาหารชนิดใหม่ๆ รวมทั้งมองหาตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche) และรักษามาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ สุดท้ายก็อาจต้องการเป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่บริษัทต่างชาติ และสูญเสียอำนาจต่อรองต่อไปเรื่อยๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

Upload Date : ตุลาคม 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ