ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่น และการรับรองมาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 17, 2008 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1.1 ความนิยมและแนวโน้มการบริโภค

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการบริโภคที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ คือ นิยมบริโภคของสด เพื่อให้สามารถรับรู้รสชาดของวัถุดิบอาหารที่รับประทาน พร้อมๆ กับได้สรความสด ใหม่และธรรมชาติ อาหารที่บริโภคจึงเน้นและให้ความสำคัญสูงสุดต่อความสดใหม่ ความปลอดภัย และสุขอนามัย ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคจำนวนมากจึงยินดีใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อและบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ และตลาดก็มีขนาดใหญ่ขึ้น มีมูลค่าการขายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปการสำรวจความเห็นผู้บริโภค โดย Key Research Net เกี่ยวกับแรงจูงใจที่บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ พบว่า ร้อยละ 46.4 ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นสินค้าที่ปลอดภัย ร้อยละ 35 เพื่อสุขภาพ และร้อยละ 10.6 เห็นว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อย่างไรก็ตามในด้านราคากลับพบว่าผู้ซื้อร้อยละ 59 จะยินยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพียงไม่เกิน 10 % ของราคาปกติ เพื่อซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 15.1 ยินดีซื้อหากราคาสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ของราคาปกติ และมีเพียงร้อยละ 11.5 ที่ตอบว่ายินดีจะซื้อสินค้าอินทรีย์แม้ว่าจะแพงขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ของราคาปกติ

การสำรวจของ SOEL เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 รายงานว่า ประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชอินทรีย์มากที่สุด ตามลำดับ ได้แก่ อาร์เจนตินา อิตาลี ออสเตรเลีย สหรัฐฯ บราซิล อุรุกวัย และสหราชอาณาจักร เยอรมนี ตามลำดับ ในประเทศแถบเอเชีย ที่มีการผลิตพืชอินทรีย์ ได้แก่ อินโดนีเชีย อินเดีย เวียดนาม(6,475 เฮกตาร์) ญี่ปุ่น ไทย(3,993 เฮกตาร์) ตามลำดับ

1.2 การผลิต

การปลูกพืชอินทรีย์ในญี่ปุ่นมีข้อจำกัดจากพื้นที่การเกษตรมีเพียงร้อยละ 11.6 ของพื้นที่รวมทั้งประเทศ ประกอบกับสภาพอากาศและความชื้นทำให้การปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ่ยเคมีทำได้ยากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่นจึงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.17 ของสินค้าเกษตรที่ผลิตทั้งหมด (ข้อมูลปี 2549 จากกระทรวงเกษตรฯญี่ปุ่น และ International Federation of Organic Agriculture Movements & Research Institute of Organic Agriculture FiBL: IFOAM & FIBL) โดยมีพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 29,150 เฮคเตอร์ คิดเป็นร้อยละ 0.56 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ และมี organic farm ที่ขึ้นทะเบียนไว้ 4,539 แห่ง ชนิดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในประเทศ ได้แก่ ผัก ข้าว ผลไม้

การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่น ปี 2549 หน่วย- ตัน, ร้อยละของผลผลิตรวม

  ชนิด                ปริมาณผลิตรวม     สินค้าเกษตรอินทรีย์   % เกษตรอินทรีย์/รวม
  ผัก                  15,995,000          29,949            0.19
  ผลไม้                 3,231,000           1,766            0.05
  ข้าว                  8,556,000          10,811            0.13
  ข้าวสาลี               1,011,000             558            0.06
  ถั่วเหลือง                229,000             974            0.04
  ชาเขียว                  91,800           1,538            1.68
  สินค้าเกษตรอื่นๆ           138,000           3,000            2.17
  รวม                 29,251,800          48,596            0.17

1.3 การนำเข้า

ข้อมูลสถิติการนำเข้าของญี่ปุ่นยังไม่ได้จำแนกการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไว้เป็นการเฉพาะอย่างไรก็ตามจากข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forest and Fisheries: MAFF) ในปี 2549 ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นมีมูลค่า 250 พันล้านเยน (2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่า 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 15.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในปี 2549 สินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในญี่ปุ่น มีจำนวน 1,343,862 ตัน ประกอบด้วย

  • สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวน 48,596 ตัน ได้แก่ ผักชนิดต่างๆ (29,949 ตัน) ข้าว(10,811 ตัน) ผลไม้(1,766 ตัน) ชาเขียว(1,538 ตัน) และ Konjak root (1,365 ตัน)
  • สินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศจำนวน 1,295,266 ตัน ชนิดที่มีปริมาณสูง ได้แก่ อ้อย(839,937 ตัน), ผลไม้(131,538 ตัน), ผัก(106,119 ตัน), ถั่วเหลือง(63,647 ตัน), ข้าว(21,777 ตัน) ในกลุ่มสินค้าอาหารอินทรีย์แปรรูป(organic processed food) ที่ผ่านการรับรองในปี 2549 มีจำนวน 257,222 ตัน ประกอบด้วยในกลุ่มสินค้าอาหารอินทรีย์แปรรูป(organic processed food) ที่ผ่านการรับรองในปี 2549 มีจำนวน 257,222 ตัน ประกอบด้วย
2. มาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์

หน่วยงานของญี่ปุ่นที่ออกกฏระเบียบ/มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตาม JAS (Japanese Agricultural Standard) Law คือ MAFF ๖กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง)โดยได้กำหนดมาตรฐานสำหรับ พืชผลเกษตรอินทรีย์, สินค้าพืชผลเกษตรอินทรีย์แปรรูป, และ สินค้าปศุสัตว์อินทรีย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับ กระบวนการผลิต วัตถุดิบ/เมล็ดพันธุ์ สารที่ใช้ควบคุมโรค การเก็บรักษา และการระบุข้อความในฉลาก ฯลฯ โดยมีพื้นฐานจาก Codex สรุปได้ดังนี้

2.1 พืชผลเกษตรอินทรีย์

1) ในส่วนของดินที่ใช้ในการผลิตพืชผลเกษตรอินทรีย์นั้นห้ามมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ยเคมีในขณะหว่านเมล็ด เพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นเวลาอย่างน้อยสองปี สำหรับการเพาะปลูกพืชประเภทไม้ยืนต้นต้องเว้นระยะเวลาไว้อย่างน้อยสามปีก่อนที่จะทำการเพาะปลูกได้

2) ห้ามใช้เมล็ดพืชที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมในการเพาะปลูกพืชผลเกษตรอินทรีย์

2.2 สินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป

1) ห้ามใช้ยาเคมีและสารเจือปนในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป

2) นอกเหนือจากน้ำและเกลือ วัตถุดิบมากกว่า95%ต้องเป็นพืชผลเกษตรอินทรีย์ หรือ ปศุสัตว์อินทรีย์

3) มีการควบคุมระบบการผลิตเพื่อป้องกันการเจือปนของสารเคมีในระหว่างขั้นตอนการผลิต

4) ห้ามใช้เทคโนโลยีตัดต่อทางพันธุกรรมในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป

5) สำหรับประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับระบบ JAS วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูป ต้องได้รับมาตรฐานตาม JAS หรือมาตรฐานของประเทศที่เทียบเท่า JAS

6) ในกรณีของประเทศที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับ JAS ผู้ผลิตสามารถใช้วัตถุดิบที่มีการรับรองจากองค์กรที่เทียบเทียงกับ JAS นอกรายการมาตรฐานของ JAS ได้

2.3 สินค้าปศุสัตว์อินทรีย์

1) ห้ามใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์

2) อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ควรจะเป็นพืชผลเกษตรอินทรีย์เป็นส่วนประกอบหลักและได้รับมาตรฐานจากทาง JAS เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีมาตรฐานเทียบเท่า JAS ก็ตาม

3) การผสมพันธุ์สัตว์ควรให้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

4) ยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อจุดประสงค์ของการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ห้ามมีการใช้สารกระตุ้นต่างๆในการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์

3. การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศญี่ปุ่น

1) การจดทะเบียนเพื่อเป็นองค์กรที่สามารถให้การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์องค์กรที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรที่สามารถให้การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์(Registered Certification Organization: RCOs) ต้องยื่นใบสมัครต่อกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ( MAFF)เพื่อทำการประเมินและต้องผ่านการประเมินจาก MAFF

2) การรับรองผู้ประกอบการธุรกิจ, ผู้ดำเนินกิจการทางธุรกิจ (เกษตรกร)เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ต้องการติดสลากว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้อง ยื่นใบสมัครต่อองค์กรอิสระที่ให้การรับรองมาตรฐาน JAS เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบและประเมินผลเพื่อที่จะทำการยืนยันกับทางเกษตกร หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีมาตรฐานสอดคล้องกับ JAS หรือไม่ หลังจากได้รับการรับรองมาตรฐาน JAS แล้วองค์กรอิสระจะทำการตรวจสอบมาตรฐานของบริษัทที่ได้การรับรองอย่างน้อยปีละครั้งด้วย

รายละเอียดการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศญี่ปุ่น และ รายชื่อหน่วยงานอิสระที่ให้การรับรองมาตรฐาน(Registered Japanese and Overseas Certifying Bodies: RCOs) ที่สามารถออกใบรับรองในต่างประเทศได้ เช่น AFS Certification Center Co. Ltd.; SGS Japan; Eco Design Certification Center Co., Ltd.; Overseas Merchandise Inspection Co., Ltd.; Japan Eco-system Farming Association เป็นต้น

3) การประทับตราสัญลักษณ์ JAS โดยผู้ประกอบการธุรกิจ, ผู้ดำเนินกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic-JAS Mark

เครื่องหมาย Organic-JAS Mark

ผู้ประกอบการธุรกิจ บริษัทที่ได้รับการรับรองสามารถจำหน่ายสินค้าของตัวเองภายใต้เครื่องหมายการค้า JAS หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพของสินค้าและต้องมีการบันทึกการผลิตอีกด้วย

สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ http://www.maff.go.jp/

4. วิธีการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่น

ในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตต้องผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ จาก RCOs ภายในหรือนอกประเทศญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนต่อ MAFF โดยสามารถดำเนินการได้สองวิธี ดังนี้

1) การติดฉลาก “Organic JAS Mark” โดยผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ต้องยื่นขอใบรับรองจาก RCOs ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ MAFF ภายในและนอกญี่ปุ่น จึงสามารถนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ญี่ปุ่นได้ ในกรณีนี้ถึงแม้ประเทศผู้ผลิตมีมาตรฐานเทียบเท่ากับ JAS แต่หากต้องการติดฉลาก “Organic JAS Mark” โดยตัวเองก่อนส่งออก ผู้ผลิตต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบรับรองเพื่อประทับตราสัญลักษณ์ JAS จากหน่วยงาน RCOs ที่ตั้งอยู่ภายในหรือนอกประเทศญี่ปุ่น

2) การติดฉลาก “Organic JAS Mark” โดยผู้นำเข้าญี่ปุ่น จำกัดเฉพาะกรณีการนำเข้าพืชผลเกษตรอินทรีย์ และ พืชผลเกษตรอินทรีย์แปรรูป จากประเทศผู้ผลิตที่มีมาตรฐานการตรวจสอบเทียบเท่ากับระบบของ JAS เท่านั้น (รายชื่อประเทศผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเทียบเท่า JAS ปรากฏในเอกสาร 6) สำหรับประเภทสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มาจากประเทศที่มีมาตรฐานเทียบเท่า JAS ก็ตาม ต้องได้ใบรับรองจาก RCOs ภายในหรือนอกญี่ปุ่นเท่านั้นจึงสามารถทำการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ญี่ปุ่นนอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตต้องแนบเอกสารการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกโดยประเทศผู้ผลิต หรือ องค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานเทียบเคียงกับ JAS ของประเทศผู้ผลิตอีกด้วยประเทศที่มาตรฐานการตรวจสอบเทียบเท่ากับ JAS ได้แก่ ไอร์แลนด์ สหรัฐฯ อาร์เจนตินาออสแตรีย เนเธอร์แลนด์ กรีก สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน สเปน เดนมาร์ก เยอรมนี ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม โปรตุเกส ลักแซมเบิร์ก และสหราชอาณาจักรวิธีการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าประเทศญี่ปุ่น มีขั้นตอน ดังนี้ กรณีที่ 1 การติดฉลาก “Organic JAS Mark” โดยผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรกร

5. ปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศญี่ปุ่น

1) การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศญี่ปุ่นมีต้นทุนที่สูงกว่าสินค้าการเกษตรทั่วไปประมาณ 1.5-4 เท่า เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ได้นำยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีทางการเกษตรช่วยในการผลิต ทำให้ถูกแมลงรบกวนหรือทำลายผลผลิตสูง ส่งผลให้ปริมาณในการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อครั้งนั้นน้อยกว่าการปลูกพืชเกษตรปรกติ (70-80%ของทั้งหมด)

2) พื้นที่การเกษตรของญี่ปุ่นมีขนาดเล็ก และเป็นแปลงย่อยๆ ทำให้ยากต่อการควบคุมการปนเปื้อนของยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีทางการเกษตรของบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอเมริกาหรือ ยุโรปแล้วนั้นจะมีขนาดพื้นที่ เล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด

3) ต้องชำระค่า Certification ประมาณ100, 000 - 300,000 เยนต่อปี ให้กับองค์กรเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการผลิตเป็นประจำรายปี

4) เส้นทางการขนส่งสินค้า โดยทั่วไปเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นจะจำหน่ายสินค้าผ่าน JA (Japan Agriculture Bank)ไปสู่ผู้ขายตรง และ ขายส่งทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นเนื่องจากไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีทางการเกษตรในการผลิตทำให้ยากต่อการควบคุมและกำหนดปริมาณผลผลิต เป็นการยากที่จะจำหน่ายสินค้าผ่าน JA ที่ต้องการรับสินค้ามาจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ และเนื่องจากการขนส่งสินค้าการเกษตรอินทรีย์ปราศจากการเจือปนของสารเคมีต่าง ๆ ในระหว่างขนส่ง ดังนั้นเส้นทางลำเลียงสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นจึงยังมีข้อจำกัด ส่วนมากเกษตรกรที่ผลิตผลิตผลเกษตรอินทรีย์จะทำการจำหน่ายและขายตรงต่อร้านค้าปลีก-ส่งด้วยตัวเอง

6. รสนิยมและความพอใจของผู้บริโภคญี่ปุ่นต่อสินค้าเกษตรอินทรีย์

1) ญี่ปุ่นบริโภคสินค้าด้วยคุณภาพ และความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก เนื่องจากพืชผลเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีทางการเกษตร รูปลักษณ์ภายนอกอาจจะดูไม่สวยงามเท่ากับพืชผลที่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีทางการเกษตรในการผลิต จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเท่าที่ควร

2) จากผลการสำรวจความสนใจต่อของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่มีต่อสินค้าเกษตรอินทรีย์พบว่า 28.2% มีความสนใจมาก 57.5% มีความสนใจเล็กน้อย 13.8% มีความสนใจไม่มากและ 0.5% ไม่มีความสนใจเลย สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้เหตุผลว่าเพราะ ต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย 46.4% และเพื่อสุขภาพ 35.0%

3) ผู้บริโภคญี่ปุ่นส่วนใหญ่ หรือประมาณ 60% ยินดีจ่ายเงินเพื้อซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในราคาสูงกว่าไม่เกิน 10% จากสินค้าเกษตรทั่วไป มีเพียง 15% ที่ยินดีจะจ่ายแพงขึ้น 20% ของราคาสินค้าเกษตรทั่วไป และมีผู้บริโภคเพียง 10% ที่พอใจจะซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยไม่สนใจราคา

7. ข้อคิดเห็น

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในญี่ปุ่นนั้นยังเป็น Niche market เนื่องจากราคายังสูงกว่า สินค้าการเกษตรทั่วไปอยู่มาก แม้ว่าผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสนใจเรื่องด้านความปลอดภัยและสุขภาพ แต่ผู้บริโภค ก็ยังเห็นว่าคุณค่าของการเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังไม่ชัดเจน และคุ้มค่าเพียงพอกับราคาขายที่สูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตามความตื่นกลัวเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยกำลังเป็นประเด็นปัญหาใหญ่สำหรับตลาดญี่ปุ่นที่ยังต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าสูงถึงร้อยละ 60 ของจำนวนแคลอรี่ที่บริโภค ประกอบกับผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นที่นับวันจะมีสัดส่วนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าปลอดภัย สินค้าสุขภาพ รวมถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะที่ญี่ปุ่นยังมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ผลิต และต้นทุนสูง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าเกษตรและอาหาร คุณภาพดีต่อไป ตลาดที่ปัจจุบันยังเป็น Niche จึงมีแนวโน้มขยาย แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เข้มงวด ผู้ผลิต และผู้ส่งออกของไทยที่ต้องการหันมาขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์จึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการยื่นขอรับเอกสารรับรองมาตรฐาน เพื่อให้สามารถประทับเครื่องหมาย Organic JAS Mark เพื่อให้สามารถเข้าไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นและตลาดโลกอย่างจริงจัง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

Upload Date : ตุลาคม 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ