ขอบเขต HS Code 20 ผัก ผลไม้แปรรูป หมักดอง แช่แข็ง กระป๋อง รวมน้ำผลไม้ ในไต้หวัน
ชาวไต้หวันนิยมบริโภค ผัก ผลไม้ในรูปของสดมากกว่าการแปรรูป อย่างไรก็ตามยังคงมีความจำเป็นในการนำเข้าผัก ผลไม้แปรรูปและกระป๋องที่ไต้หวันไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารของไต้หวันมีความจำเป็นในการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในแต่ละปีคาดว่าไต้หวันมีการบริโภคผัก ผลไม้แปรรูปและกระป๋องคิดเป็นมูลค่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เนื่องจากต้นทุนการผลิตผักในไต้หวัน อาทิเช่น ค่าแรงและวัตถุดิบในไต้หวันสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารกระป๋องของไต้หวันได้ย้ายฐานไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวถือมีความสำคัญน้อย จึงไม่มีการเก็บสถิติแยกย่อย ทั้งนี้ ตามสถิติของกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ในปี 2007 ไต้หวันมีการผลิต ผักผลไม้กระป๋อง 1.37 ล้านหีบมาตรฐาน คิดเป็นมูลค่า 756.67 ล้านเหรียญไต้หวัน (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.07 บาทโดยประมาณ)
ในด้านการส่งออกนั้น ในปี 2007 ไต้หวันมีการส่งออกผักและผลไม้แปรรูป 72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 3.25
สินค้าที่ไต้หวันยังมีศักยภาพในการส่งออกอันดับ 1 คือน้ำผักและผลไม้ ได้แก่น้ำส้ม น้ำแอ็บเปิ้ล องุ่น น้ำเกรปฟรุต น้ำผักรวมมิตร ในปี 2007 ส่งออกมูลค่า 27.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับปี 2006 ตลาดสำคัญคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง
สินค้าที่มีการส่งออกอันดับ 2 คือ แยมและเยลลี่ มูลค่า 12.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.28 ตลาดสำคัญคือ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง แคนาดา
สินค้าที่มีการส่งออกอันดับ 3 คือ ผักแปรรูป ได้แก่ หัวหอมใหญ่ ถั่วแดง หน่อไม้มา (ma bamboo) มันฝรั่ง ตลาดสำคัญคือ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย อังกฤษ
3.1 การนำเข้าทั่วไป
ในปี 2007 ไต้หวันนำเข้าผักผลไม้กระป๋อง/แปรรูป 185.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 3.7 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย จีน เวียตนาม แคนาดา ฯลฯ
สำหรับการนำเข้า ในปี 2008 (มกราคม — กรกฎาคม) มีมูลค่า 123.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2007 ร้อยละ 12.67
ประเภทสินค้าที่มีการนำเข้ามากในปี 2007 ได้แก่
- ผักแปรรูป (HS2005) มูลค่า 31.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 ลดลง 0.21 % สินค้าที่นำเข้าได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง หน่อไม้ มันเทศ หัวหอม ถั่วลันเตา ถั่วแดง กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ สหรัฐฯ ไทย ฝรั่งเศส เวียตนาม จีน ฯลฯ
- ผลไม้แปรรูป (HS2008) มูลค่า 41.01 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2006 ลดลง 7.11 % สินค้าที่นำเข้าได้แก่ สับปะรด ส้ม เชอรี่ ครีมถั่วลิสง พีช มะม่วง สตรอเบอรี่ แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ไทย สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ เวียตนาม ฯลฯ
- น้ำผัก/ผลไม้ (HS2009) มูลค่า 37.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 เพิ่มขึ้น 12.15% สินค้าที่นำเข้าได้แก่ ส้ม องุ่น แอ็บเปิ้ล มะพร้าว มะม่วง สับปะรด แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ บราซิล อิสราเอล สหรัฐฯ จีน สเปน ฯลฯ
- ผักแปรรูปแช่แข็ง (HS2004) มูลค่า 33.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 ลดลง ร้อยละ 10.10% สินค้าที่นำเข้าได้แก่ มันเทศ ถั่วแดง ถั่วเหลืองอ่อน กระเทียม หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ สหรัฐฯ แคนาดา เบลเยี่ยม นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น
3.2 การนำเข้าจากไทย
ในปี 2007 ไต้หวันนำเข้าผัก/ผลไม้แปรรูปจากไทย มูลค่า 21.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2006 เท่ากับ 13.92% สำหรับในปี 2008 (มกราคม — กรกฎาคม) นำเข้ามูลค่า 17.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2007 เท่ากับ 22.83 %
สินค้าที่ไต้หวันมีการนำเข้าจากไทยคือ
- ผักแปรรูป (HS2005) มูลค่า 10.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.30 % สินค้าที่นำเข้าได้แก่ ข้าวโพด หน่อไม้ หอมเจียว กระเทียม ฯลฯ
- ผลไม้แปรรูป (HS2008) มูลค่า 8.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 25.53% สินค้าที่นำเข้าได้แก่ สับปะรด ถั่วลิสง เงาะ ขนุน ลูกชิด ลูกตาล มะม่วง ผลไม้รวม ลิ้นจี่ ลำไย พีช สตรอเบอรี่ บ๊วย
- น้ำผัก/ผลไม้ (HS2009) มูลค่า 2.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 12.35% สินค้าที่นำเข้าได้แก่ มะพร้าว สับปะรด ส้ม มะเขือเทศ องุ่น แอ็บเปิ้ล
- ผัก/ผลไม้เชื่อมน้ำตาล มูลค่า 0.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 52.95%
- ผัก/ผลไม้แช่น้ำส้ม มูลค่า 0.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34.58%
- แยมและเยลลี่ มูลค่า 0.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 130.96%
สถิติการนำเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.trade.gov.tw
3.3 กฎระเบียบและพิธีการนำเข้า
1) การนำเข้าสินค้าอาหารมายังไต้หวัน จะต้องสอดคล้องกับระเบียบที่กำหนดโดย กรมสุขอนามัยอาหาร ซึ่งจะต้องระมัดเรื่องปริมาณสารตกค้างต่าง ๆ รายละเอียดตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ www.dog.gov.tw
2) การติดฉลากสินค้าจะต้องมีภาษีจีนระบุชื่อสินค้า ข้อมูลผู้นำเข้า ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตต้นทาง ส่วนประกอบ น้ำหนักหรือปริมาณบรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ วิธีเก็บรักษา และข้อความที่จำเป็นอื่น ๆ
3) เอกสารที่ใช้ในการนำเข้าประกอบด้วย Invoice, Packing List, Certificate of Origin ฯลฯ
4) อัตราภาษี
อัตราภาษีนำเข้าสินค้า ผัก/ผลไม้แปรรูป ของไต้หวันส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 20-25 % สินค้าบางรายการมีอัตราภาษีสูงได้แก่ สินค้าจำพวก
- กระเทียมเก็บภาษีนำเข้า 38%
- ถั่วลิสงมีเปลือก ก.ก. ละ 42 เหรียญไต้หวัน กะเทาะเปลือกแล้ว ก.ก. ละ 64 เหรียญไต้หวัน
- ถั่วอื่น ๆ มีเปลือก 30%
- ผักรวม 30%
- น้ำส้ม น้ำเกรปฟรุต น้ำสับปะรด 30%
- น้ำมะม่วง 35%
5) ถั่วลิสงเป็นสินค้าที่ไต้หวันกำหนดโควตานำเข้าปีละ 5,300 เมตริกตัน การนำเข้าสินค้าในโควตา ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมด้วยการประมูลเพื่อขอจัดสรรโควตา
6) ทางการไต้หวันเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5%
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราภาษีนำเข้าของไต้หวันได้ที่ www.trade.gov.tw
4.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย
การกระจายสินค้าอาหารกระป๋องในไต้หวันส่วนใหญ่มีผู้จำหน่ายประมาณ 2-3 ทอด กล่าวคือผู้ค้าส่งทอดที่หนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้าสินค้าโดยตรงกระจายสินค้าให้แก่ผู้ค้าทอดที่สอง จากนั้นจึงกระจายต่อไปยังผู้ค้าปลีก และจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป
สำหรับช่องทางการจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต นั้น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มักจะไม่นำเข้าสินค้าเองโดยตรง แต่จะนำเข้าผ่าน ซัพพลายเอ่อร์โดยใช้ระบบฝากขาย เนื่องจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่ต้องการรับผิดชอบความเสี่ยงในการจำหน่ายสินค้าและจะคืนสินค้าให้แก่ซับพลายเอ่อร์เมื่อสินค้าจำหน่ายไม่หมด
ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านภัตตาคารและร้านอาหารเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากมีปริมาณสั่งซื้อที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภัตตาคารและและร้านอาหารมักจะไม่นำเข้าเองโดยตรงเนื่องจากสั่งซื้อในปริมาณน้อยและต้องการบริการส่งสินค้าถึงร้าน ซึ่งผู้ค้าส่งในทอดที่ 2 จะมีบทบาทที่สำคัญในการป้อนสินค้าให้แก่ภัตตาคารและร้านอาหาร
ในส่วนของการคำนวณกำไรขั้นต้นนั้น ผู้ค้าส่งจะบวกกำไรในแต่ละขั้นประมาณ 20-25 % ในขณะที่ผู้ค้าปลีกจะบวกกำไรประมาณ 25-30 %
4.2 ราคา รูปแบบ คุณภาพ รสนิยม
ในส่วนของผลไม้กระป๋องนั้น สับปะรดกระป๋องเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ลำไยกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง ท้อ (ลูกพืช) ผู้บริโภคไต้หวันนิยมรับประทานสับปะรดที่หั่นเป็นแว่นมากกว่าแบบหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
ตามภัตตาคารและร้านอาหารจะมีการใช้ผลไม้กระป๋องในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการทำการน้ำแข็งไส หรือไอศกรีม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน(ประมาณเดือนมิถุนายน — สิงหาคม) มีความนิยมในการบริโภคมาก สำหรับในฤดูหนาว(ธันวาคม — มีนาคม) จะมีการบริโภคอาหารประเภทนี้น้อยที่สุด เนื่องจากผู้คนไม่นิยมรับประทานของเย็น
ช่วงเทศกาลที่มีพิธีเซ่นไหว้จะมีการซื้อผลไม้กระป๋องจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสาร์ทจีนวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินเกษตรจีน (ประมาณเดือนสิงหาคม) นอกจากนี้ประชาชนจะซื้อผักผลไม้กระป๋อง/แปรรูปบริโภคมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน — กันยายน หากผักผลไม้สดมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากมีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าไต้หวัน
4.3 โอกาสสินค้าของไทย
สินค้าผักผลไม้แปรรูปของไทยได้เข้าสู่ตลาดไต้หวันเป็นเวลายาวนานและได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋องมีการนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 1
4.4 ประเทศคู่แข่ง
สินค้าของไทยกำลังถูกทดแทนด้วยสินค้าที่มีราคาถูกว่าจากจีนแผ่นดินใหญ่ และเวียตนาม ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะต้องวางกลยุทธ์เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว
4.5 ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไข
การบริโภคผักผลไม้กระป๋อง/แปรรูป ในไต้หวันอยู่ในภาวะอิ่มตัว มีโอกาสในการขยายตัวค่อนข้างน้อย ความนิยมในการบริโภคอาหารกระป่องของชาวไต้หวันในครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้การจัดงานเลี้ยงซึ่งเคยนิยมบรรจุผลไม้กระป๋องอยู่ในเมนูเริ่มเสื่อมความนิยมโดยเปลี่ยนเป็นของหวานหรือผลไม้สด
ที่ผ่านนั้น ผู้นำเข้าเคยสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในการนำเข้าผลไม้กระป๋องคือ มีเนื้อผลไม้น้อยน้ำเชื่อมมากเกินไป เนื้อมะละกอในผลไม้รวมมิตรนิ่มเละเกินไป กระป๋องเคลือบไม่ดีและมีสนิม การพิมพ์สติกเกอร์หรือฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง ดังนั้น การรักษาคุณภาพของสินค้ามีคุณภาพดีสม่ำเสมอจะเป็นการรักษาตลาดให้มั่นคง
ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความสะดวกและเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันที่ประชาชนมีความเป็นอยู่เร่งรีบ การวางสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด จะต้องเน้นความสำคัญกับสุขภาพซึ่งเป็นแนวโน้มของสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ เช่น แคลอรี่ต่ำ เกลือต่ำ น้ำตาลต่ำ เป็นต้น
สำหรับรายชื่อผู้นำเข้าที่สำคัญ ดังแนบ
งานแสดงสินค้าอาหารในไต้หวัน Taipei International Food Fair 2009 วันที่ 23 — 26 มิถุนายน จัดโดย Taiwan External Trade and Development Council (TAITRA) ที่ Nankang Exhibition Hall ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.foodtaipei.com.tw
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
ที่มา: http://www.depthai.go.th