จับกระแสธุรกิจแฟรนไชส์ในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2008 15:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะตลาดทั่วไป

การมีโอกาสได้เป็นเจ้าของกิจการถือเป็นความใฝ่ฝันของผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนทำงานที่เบื่อหน่ายต่อชีวิตประจำวันแบบ Nine-to-Five ดังนั้นการเปิดร้านค้าขนาดเล็กจึงเป็นทางเลือกที่หลายคนพอใจ แต่โจทย์ข้อใหญ่ที่ทำให้ผู้คนที่จะเริ่มก้าวมาเป็นเจ้าของกิจการเองต้องปวดหัวก็คือทำอย่างไรไม่ให้เกิดความล้มเหลวขึ้นในการลงทุนของตน และจากการที่ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจหรือ Know-how ของตนไม่เพียงพอ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร้านแฟรนไชส์จึงกลายเป็นทางเลือกที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับเหล่าเถ้าแก่หน้าใหม่เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีจากการที่การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นที่นิยมในไต้หวันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาแนวโน้มของธุรกิจจึงค่อนข้างอิ่มตัวและลดลงเล็กน้อย เริ่มมีปรากฏการณ์ที่แฟรนไชส์บางส่วนปิดตัวลง โดยจากข้อมูลของ Association of Chain & Franchise Promotion, Taiwan เมื่อพิจารณาจากประเภทธุรกิจแล้ว กิจการที่ได้รับผลกระทบจากความถดถอยของธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเห็นได้ชัดจนอาจต้องออกจากตลาดได้แก่ ราเม็ง ทังเปา ซูชิบาร์ โจ๊กกวางตุ้ง อาหารเช้าเจ โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก รับส่งสินค้า รับย้ายบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น โดยในประเภทธุรกิจเหล่านี้ ราเม็ง ทังเปา ซูชิบาร์ และโจ๊กกวางตุ้ง ถือเป็นธุรกิจที่เป็นไปตามกระแสนิยมของตลาด ในขณะที่อาหารเช้าเจ โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก รับส่งสินค้า รับย้ายบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นประเภทธุรกิจที่ไม่เหมาะสมกับการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์

ในส่วนของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจนเกิดการชะงักงันได้แก่ ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ชาแบบ Take-away พิซซ่า 50 เหรียญ ข้าวพะโล้ ข้าวหมูทอด ร้านกาแฟเคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ อาหารจานด่วน ร้านหนังสือเช่า ร้านหนังสือ ร้านซักรีด ให้เช่าดีวีดี อาหารว่าง ขนมต่างๆ น้ำแข็งไส และอุปกรณ์กรองน้ำต่างๆ

ส่วนประเภทธุรกิจที่ตลาดอิ่มตัวได้แก่ ล้างอัดรูป โรงเรียนสอนพิเศษ ร้านกาแฟ (ในรูปแบบของ Starbuck) ร้านชา กาแฟ Take-away เกี๊ยวซ่า เบเกอรี่ ร้านทำผม ร้านเสริมสวย คาร์แคร์ ร้านขายของราคาเดียว นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ร้านขายยา และรถเข็นขายอาหาร โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้แก่ แซนวิชและอาหารเช้า ร้านสะดวกซื้อ นวดเท้า ร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางราคาถูก และร้านสุกี้แบบชาบูชาบู

2. แนวโน้มตลาด

จากกระแสการเปิดร้านแฟรนไชส์ในปี 2551 พบกว่า นักลงทุนนิยมเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินมากที่สุดโดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหารราคาประหยัด โดยรายละเอียดแนวโน้มของกระแสธุรกิจแฟรนไชส์ในไต้หวันในปัจจุบันสามารถแบ่งได้ดังนี้

1) เพิ่มเงินลงทุนขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน

โดยปกติแล้วผู้ที่คิดจะลงทุนเปิดร้านแฟรนไชส์มักจะมองหาธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมากนัก แต่จากการที่ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์มีความอิ่มตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจที่เงินลงทุนน้อยจะไม่สามารถแข่งขันได้และมักจะกลายเป็นกลุ่มที่ต้องออกจากตลาดก่อน โดยธุรกิจที่เงินลงทุนสูง จะมีพื้นที่ร้านที่กว้างกว่า สินค้าหลากหลายกว่า การตกแต่งประณีตสวยงามกว่า ส่งให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่า จึงทำให้อัตราส่วนในการอยู่รอดในตลาดสูงกว่าตามไปด้วย

หากพิจารณาจากธุรกิจร้านอาหารเช้าซึ่งแฟรนไชส์ส่วนใหญ่เน้นความเล็กกะทัดรัด เงินลงทุนน้อย เพียงแค่ประมาณ 3 แสนกว่าเหรียญไต้หวันก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว โดยภายในร้านจะไม่มีการตกแต่งอะไรมากมาย ทำให้ร้านอาหารเช้าในไต้หวันผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แน่นอนว่าส่งผลให้การแข่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และเพื่อสร้างความแตกต่าง (Differentiation) จึงได้มีแฟรนไชส์ร้านอาหารเช้าบางส่วนเริ่มยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นเช่น My Warm Day และ Laya Burger เป็นต้น

โดยในส่วนของ My Warm Day ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารเช้าที่มีสาขามากกว่า 1,500 แห่งทั่วไต้หวัน ได้เพิ่มวงเงินลงทุนขั้นต่ำจากประมาณ 3 แสนกว่าเหรียญฯ เป็น 5 แสนกว่าเหรียญฯ และมีการปรับปรุงการตกแต่งภายในร้านให้สวยงามและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่มาใช้บริการรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง และสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้นด้วย แน่นอนว่าศักยภาพในการแข่งขันก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หรือหากพิจารณาจากร้านกาแฟชื่อดังของไต้หวัน 85 ซึ่งถือเป็นแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในไต้หวันในขณะนี้ ก็กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำไว้สูงถึง 4 ล้านกว่าเหรียญไต้หวันต่อร้าน เมื่อเทียบกับแฟรนไชส์ยี่ห้ออื่นที่ใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 1 ล้านกว่าเหรียญไต้หวัน ก็จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของการตกแต่ง ป้ายชื่อร้าน บรรยากาศในร้าน และเมื่อเทียบระหว่างร้านกาแฟทั้งสองแบบที่อยู่ในย่านเดียวกัน แน่นอนอยู่แล้วว่าลูกค้าจะเลือกใช้บริการร้านที่ดูดีกว่า

2) ราคาค่าใช้บริการที่สมเหตุสมผลจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น

ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจที่ไม่ต้องเสียค่าบริการสูงจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคได้ง่ายกว่า เช่น SKIN FOOD แฟรนไชส์ร้านเครื่องสำอางราคาย่อมเยาจากเกาหลีใต้ ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นหญิง และกำหนดราคาขายที่ไม่สูงมากนัก เพื่อสร้างความแตกต่างจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวราคาแพงที่มีขายอยู่ทั่วไป จึงสามารถดึงดูดลูกค้าให้ไปใช้บริการได้มาก หรืออย่างเช่นร้านกาแฟชื่อดังอย่าง 85 ? ก็เน้นการขายสินค้าแบบ Take-away ทำให้ขนาดร้านแต่ละแห่งไม่เน้นความใหญ่โต เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่า อีกทั้งขนมเค้กที่ขายในร้านก็ขายในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น จึงดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านได้ง่าย

ที่ผ่านมา ปัจจัยที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะคำนึงถึงในการพิจารณาต้นทุนสินค้าคือลงทุนไปเท่าไร ต้องการกำไรเท่าไร ก่อนจะตั้งราคาขาย (ต้นทุน+กำไร => ราคาขาย) แต่ในปัจจุบันที่การแข่งขันทางธุรกิจค่อนข้างสูงนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงเป็นอย่างแรกคือ จะตั้งราคาขายอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือการคิดในมุมกลับที่ตั้งราคาขายออกมาก่อน แล้วค่อยจะหาทางปรับต้นทุนให้เหมาะสมจนสามารถทำกำไรได้ในอัตราที่น่าพอใจ (ราคาขาย => ต้นทุน+กำไร) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้ประกอบการควรต้องปรับวิธีการตั้งราคาเสียใหม่ให้รับกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

3) แบรนด์ที่มีศักยภาพพอจึงสามารถอยู่ในตลาดได้

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี แฟรนไชส์จำนวนมากเร่งขยายเปิดสาขา แต่ผลจากการที่มีจำนวนสาขามากเกินไป พื้นที่ให้บริการของแต่ละสาขาจึงลดลง แน่นอนว่าส่งผลให้รายได้ของแต่ละร้านก็ลดตามไปด้วย

ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นที่เข้าใจกันว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี ต้องมีจำนวนร้านสาขามากๆ ส่งผลให้แฟรนไชส์ส่วนใหญ่เร่งขยายร้านเพื่อครองสัดส่วนตลาด จนบางครั้งยอมละเลยข้อกำหนดในส่วนของทำเลที่ตั้ง หากอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจดี รายได้ของร้านเหล่านี้จะยังเพียงพอที่จะทำให้ร้านสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แฟรนไชส์ที่เร่งขยายร้านจนเกินกำลังเหล่านี้อาจถึงกับต้องปิดตัวลงได้เช่นกัน ดังนั้นร้านไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ สาขามากก็ไม่ดีเสมอไป เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนหลักการของความสมดุล เช่น ร้านขายเครื่องดื่มชาแบบ Take Away ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในไต้หวันคือ 50 Lan ก็ได้เริ่มชะลอการขยายร้านในปีที่ผ่านมา อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ Mister Donut ที่เป็นผู้จุดกระแสนิยมรับประทานโดนัทขึ้นในไต้หวันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ยึดนโยบายการเร่งขยายสาขา จนทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทฯ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ

4) ขยายสาขาไปยังต่างประเทศ

จากกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้แฟรนไชส์ในไต้หวันจำนวนมากเริ่มขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จากสถิติของ Association of Chain & Franchise Promotion, Taiwan ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แฟรนไชส์ไต้หวันจำนวนมากกว่า 100 แบรนด์ได้ขยายสาขาไปยังจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็นจำนวนรวมกว่า 50,000 ร้านทั่วประเทศ

และจากการที่ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นการจะขยายสาขาไปยังต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการ Localization ทั้งในส่วนของตัวสินค้าและ Know-How และกระบวนการบริหารต่างๆ โดยไม่นำรูปแบบเดิมไปใช้ทั้งหมด เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคของผู้บริโภคในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

5) ธุรกิจจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก ดาวรุ่งดวงใหม่ที่มาแรง

จากการที่มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในไต้หวันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น (Health Awareness) ความสนใจในมาตรฐานสินค้าแบบต่างๆ ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและสินค้าออร์แกนิกเริ่มกลายเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้นด้วย ปัจจุบันแฟรนไชส์ที่จำหน่ายสินค้าออร์แกนิกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในไต้หวันได้แก่ Yogi House (http://www.yogihouse.com.tw) ซึ่งมีสาขาในไต้หวัน 77 แห่งและในต่างประเทศ 7 แห่ง (จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา) Earth Life (http://www.green-v.com) มี 16 สาขาทั่วไต้หวัน Sun Organism (http://www.sun-organism.com.tw) มี 11 สาขาทั่วไต้หวัน และ Santa Cruz Organic Food (http://sh2.yahoo.edyna.com/santacruz) มี 33 สาขาทั่วไต้หวัน

โดยปกติร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกในไต้หวันจะมี 2 รูปแบบด้วยกัน คือแบบที่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ และแบบร้านอาหาร โดยบางแฟรนไชส์จะควบรวมทั้งสองแบบนี้เข้าด้วยกัน แต่จุดที่เหมือนกันในทุกแฟรนไชส์คือการจำหน่ายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ มีความสามารถในการใช้จ่าย และใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ

ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ไต้หวัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ