สหกรณ์การเกษตร และระบบประกันพืชผลเกษตรในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2008 14:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Agricultural, Forestry and Fishery Finance Corporation of Japan รายงานว่า อัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประเทศญี่ปุ่นลดต่ำลงจากร้อยละ 73 เมื่อปี 2508 เหลือเพียงร้อยละ 40 ในปี 2548 แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าและวางมาตรการเพื่อเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 45 ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ก็ดูจะยังไกลจากเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังพบว่า สัดส่วนของสินค้าเกษตรหลักที่ญี่ปุ่นผลิต หรืออัตราการพึ่งพาตนเองนสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการมีแนวโน้มลดลง เช่น ข้าว(ลดจากที่เคยผลิตได้ 100 % ของปริมาณบริโภคลดลงเหลือ 95%) ปศุสัตว์(ลดจาก47% เหลือ 17%) ข้าวโพด(ลดจาก 28% เหลือ 13%) ผลไม้(ลดจาก 86% เหลือ 37%) ผัก(ลดจาก 100% เหลือ 76%) ปลาและอาหารทะเล(ลดจาก 110% เหลือ 57%) มีเฉพาะน้ำตาล ที่อัตราการพึ่งพาตนเองเพิ่มจาก 31% เป็น 34%

ผลผลิตเกษตรของญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 0.96 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือไม่ถึง 1% ของ GDP แต่ภาคเกษตรก็มีพลังและอำนาจสูงในฐานะเป็นฐานเสียงใหญ่ทางการเมืองของทุกรัฐบาลดังนั้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมากเพราะผลิตได้ไม่พอเพียง แต่การค้าสินค้าเกษตรก็เป็นรายการสินค้าอ่อนไหว ที่ญี่ปุ่นหวงแหนในการเจรจาเปิดตลาดทุกเวที ยิ่งกว่านั้นยังใช้นโยบาย ปกป้องภาคการเกษตรของตนอย่างมาก ทั้งด้วยการวางระเบียบปฎิบัติในการนำเข้าที่เข้มงวด การกำหนดมาตรฐานสินค้าและระบบการตรวจสอบที่เคร่งครัด ในส่วนของเกษตรกรเองก็มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งในรูปสหกรณ์การเกษตร โดยให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านการตลาด และระบบการประกันราคานอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งหน่วยงาน องค์กรด้านการวิจัย พัฒนาและสถาบันการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ ดังนี้

สหกรณ์การเกษตร (Agricultural Cooperative Association : JA) หรือ JA Group

JA เป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจบนพื้นฐานของการร่วมมือกันของสมาชิก เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบจำเป็นสำหรับการผลิต การรวบรวมและจัดจำหน่ายผลผลิตเกษตร รวมถึงบริการอื่นๆ ครอบคลุมทั้งการจัดหาสินค้าจำเป็นเพื่อการครองชีพแก่สมาชิก การบริการเงินออม ให้สินเชื่อและประกันภัย ขณะนี้มีสมาชิกรวม 5.05 ล้านคนและสมาชิกสมทบจำนวน 4.09 ล้านคน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • สหกรณ์ท้องถิ่น (Local Level - JAs)
  • สหกรณ์จังหวัด (Prefectural Level — JA Federations และ JA Central Unions) ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็นหลายองค์กรได้แก่ Prefectural Level JA —ทำหน้าที่การตลาดและจัดส่งสินค้า; Prefectural Economic Federation of Agricultural Cooperative (KEIZAIREN); Prefectural Credit Federation of Agricultural Cooperatives(SHINREN) และ Prefectural Central Union of Agricultural Cooperatives (CHUOKAI)
  • สหกรณ์ระดับประเทศ (National Level — JA Federation)นอกจากนี้ยังมีงานด้านการเงิน การประกันภัย และยุทธศาสตร์ ซึ่งมีองค์กรที่ดูแลเฉพาะ ได้แก่
  • NORINCHUKIN Bank (Central Cooperative Bank for Agricultural and Forestry) ให้บริการด้านการออม และบริการทางการเงินแก่สมาชิก โดยทำงานเป็นเครือข่ายกับ SHIREN (หรือสมาพันธ์สินเชื่อระดับจังหวัด)
  • ZENKYOREN (National Mutual Insurance Federation of Agricultural Cooperatives) บริการประกันภัยที่สนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก เช่น การประกันชีวิต ประกันทรัพย์สิน และกองทุนเลี้ยงชีพ
  • ZENCHU (Supervisory Business) เป็นหน่วยยุทธศาสตร์ วางนโยบาย และประชาสัมพันธ์ รวมทั้งวางแนวทางด้านต่างๆ การตรวจสอบบัญชี และการให้ความรู้แก่สมาชิก

สหกรณ์ทุกระดับดำเนินกิจกรรมเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกและสวัสดิการของผู้บริโภค ภายใต้สมาคมสหกรณ์การเกษตร โดยมี ZEN-NOH (National Federation of Agricultural Cooperative Association)ซึ่งเป็นทั้งสหกรณ์ระดับประเทศ และเป็น Prefectural Headquarters ทำหน้าที่ด้านการตลาด เช่น จัดส่งสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ของสมาชิกไปยังผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็จัดหาสิ่งที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร บทบาทของ

ZEN-NOH นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นใน การสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร สำหรับผู้บริโภคในประเทศสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเกษตร

ญี่ปุ่นมีสถาบันการเงินเพื่อการเกษตรหลักๆ 2 สถาบัน ดังนี้

1. กลุ่มธนาคารสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น - Japan Agricultural Cooperatives Bank Group หรือ JA Bank Group เป็นกลุ่มสถาบันการเงินของ เอกชนที่ไม่มีรัฐบาลถือหุ้น เกิดจากการรวมตัวของสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์สินเชื่อเพื่อการเกษตร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามโครงสร้างของ สหกรณ์ ได้แก่

(1) JA เป็นสหกรณ์ระดับตำบล นอกจากทำหน้าที่เป็นสถาบันรับฝากและให้กู้แก่สมาชิก ยังให้ความรู้และช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารกิจการเกษตร เช่น เป็นตัวกลางรวบรวมผลผลิตและจัดจำหน่ายเพื่อรักษาราคา ช่วยเหลือและรวบรวมจัดซื้ออุปกรณ์และวัสดุการเกษตร และสนับสนุนด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร

(2) SHINOREN หรือ Prefectural Banking Federations of Fishery Cooperative สหกรณ์สินเชื่อระดับจังหวัด

(3) NORINCHUKIN Bank — ธนาคารสหกรณ์กลาง/ระดับประเทศ เกิดจากการรวมทุนของสหกรณ์เพื่อการเกษตร(JA) สหกรณ์เพื่อการประมง(JF) และสหกรณ์ป่าไม้(Shinrin Kumiai) ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือแก่สมาชิกเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างประสิทธิภาพ

JA Bank Group รับฝากเงินจากสมาชิก ด้วยการตั้งกองทุนเพื่อบริหารสินทรัพย์ โดยมีเงินในกองทุนระดับเทศบาล 82 ล้านล้านเยน ระดับจังหวัด 53 ล้านล้านเยน และในระดับประเทศ 61 ล้านล้านเยนนับเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทสนับสนุนเกษตรกรที่มีความสำคัญอย่างมาก

2. Agriculture, Forestry and Fisheries Finance Corporation (AFC) หรือบรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นสถาบันการเงินเพื่อการเกษตรของรัฐบาล จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2496 ภายใต้กฎหมายเฉพาะ คือ Agriculture, Forestry and fisheries Finance Corporation Law อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และ กระทรวงเกษตร ป้าไม้และประมง วัตถุประสงค์เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกร ด้วยเงินกู้ระยะยาว ดอกเบียต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตร และเพิ่มการผลิตสินค้าอาหารให้เพียงพอความต้องการ มีเงินทุน( ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551)จำนวน 316.8 พันล้านเยนและมีสาขาทั่วประเทศ 22 แห่ง ให้เงินกู้แก่เกษตรกรเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 42 ของเงินกู้ทั้งหมดของประเทศ

แหล่งเงินทุนของ AFC มาจากเงินกู้ของรัฐบาล จากแหล่งต่างๆ ได้แก่ เงินกู้บัญชีพิเศษสำหรับใช้ดำเนินงานตามนโยบาย เงินกู้พิเศษภายใต้มาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบบริหารการเกษตรของรัฐบาล การออกพันธบัตรและเงินฝากจากกองทุนสินเชื่อเพื่อการเกษตรและประมง

บรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นหนึ่งในธนาคารเฉพาะกิจ ที่รับาลญี่ปุ่นได้สั่งการให้รวมตัวกับสถาบันเฉพาะกิจอื่นๆ อีก 3 แห่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ได้แก่ (1) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ(Japan Bank of International Cooperation : JBIC) (2) บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อม(NTIONAL Life Finance Cooperation) และ (3) บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(Japan Finance of Corporation for Small and Medium Enterprises) รมเป็นสถาบันการเงินของรัฐชื่อ Japan Finance Corporation (JFC) ซึ่งจะทำให้ JFC เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีขนาดใหญ่มาก และครอบคลุมภาระกิจที่กว้างขึ้น

3. หน่วยงานรับประกันความเสียหายของสินค้าเกษตรจากภัยธรรมชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานรับประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกับโครงสร้างของสหกรณ์ คือระดับท้องถิ่นระดับจังหวัด และศูนย์รวมระดับประเทศ โดยมีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นทั้งหน่วยงานรับประกับความเสียหายทั้งหมด แหล่งเงินทุนจากงบประมาณและอุดหนุนการจ่ายเบี้ยประกันของเกษตรกร ดังนี้

1) Agriculture Mutual Relief (AMR) เป็นกองทุนจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง โดยมีบัญชีพิเศษชื่อว่า ‘Agriculture Re-reinsurance Special Account’ ทำหน้าที่รับประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่อผลผลิตเกษต

2) Agriculture, Forestry and Fisheries Credit Foundation ทำหน้าที่รับประกันความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรในท้องถิ่น และนำไปประกันต่อกับ Federation of AMRs ในระดับจังหวัด

3) National Agricultural Insurance Association (NAIA) เป็นศูนย์รวมของสมาคมประกันภัยการเกษตร ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกด้านการประกันภัยผลผลิตเกษตร เช่น เจรจาผลประโยชน์กับรัฐบาล ดูแลสวัสดิการของสมาชิก รับประกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรและนำไปประกับต่อกับ Federation of AMRs ระดับจังหวัด

4) Federation of AMRs เป็นศูนย์รวมในการจ่ายค่าธรรมเนียมการประกับและการจ่ายชดเชยค่าเสียหายในระดับจังหวัด ปัจจุบันมี 43 แห่ง โดย Federation of AMRsจะทำประกับต่อกับกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงซึ่งจะรับผิดชอบความเสี่ยงและความเสียหายทั้งหมด

5) กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ทำหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุน AMR และรับผิดชอบการกำกับดูแล AMR ทั้งระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมถึงการอุดหนุนการจ่ายค่าเบี้ยประกันของเกษตรกรครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 50 ของเบี้ยประกัน)

นอกเหนือจากหน่วยงานรับประกันของรัฐ ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคเอกชน เช่น Farmers House and Agriculture Machine Insurance รับประกันผลผลิตเกษตรระดับจังหวัดอีกด้วย

ผลผลิตเกษตร ที่อยู่ในข่ายสามารถเข้ารับการประกัน ได้แก่

  • ข้าวเจ้า ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ เกษตรกรทุกรายที่ปลูกต้องเข้ารับประกันภัยธรรมชาติ
  • ปศุสัตว์
  • อื่นๆ ได้แก่ ผลไม้ พืชอื่นๆ รวมทั้ง field crop เช่น มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ชา และ Greenhouse Insurance
การประกันราคาพืชผลเกษตรของญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้ง Agricultural & Livestock Industries Corporation (ALIC) ตั้งขึ้นเมื่อตุลาคม ปี 2539 โดยรวม 2 องค์กร ได้แก่ Livestock Industry Promotion Corporation (LIPC) และ Japan Raw Silk & Sugar Price Stabilization Agency เข้าด้วยกันมีสถานะเป็นสถาบันกึ่งรัฐบาล เพื่อพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร ปศุสัตว์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประเทศ รวมถึงการสร้างเสถียรภาพและปรับราคาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ไหมดิบ และน้ำตาล ALIC ยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษร และจัดการชดเชยเมื่อเกิดกรณีภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

วิธีดำเนินการเมื่อเกิดภาวะพืชผักสำคัญที่รัฐบาลกำหนดการประกันราคาเกิดภาวะล้นตลาด และราคาต่ำกว่าราคาประกันตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยทั่วไปมีขั้นตอน ดังนี้
  • กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น(MAFF) จะออกประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปรับสภาพอุปสงค์ และอุปทานของพืชผักชนิดนั้นๆ และเมื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องเช่น MAFF หน่วยราชการท้องถิ่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร จะร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ชะลอการเก็บเกี่ยว ประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ ส่งเสริมให้นำไปแปรรูป เชิญชวนให้เพิ่มการบริโภคแทนสินค้านำเข้า รวมทั้งผลักดันและหาลูทางให้เพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ
  • เพื่อราคาสินค้าเกษตรนั้นๆ ต่ำกว่าราคาประกัน เกษตรกร (ที่เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร / สหกรณ์)จะได้รับเงินชดเชยตามเกณฑ์ที่กำหนด เงินชดเชยนี้จะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) MAFF ร้อยละ 60(2) รัฐบาลท้องถิ่นสมทบร้อยละ 20 และ (3)กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ร้อยละ 20 โดย Agricultural & Livestock Industries Corporation (ALIC) เป็นผู้ดำเนินการในการจ่ายเงินชดเชย
  • ในกรณีที่รัฐบาลและทุกฝ่าย เห็นร่วมกันว่าไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อจัดการกับอุปทานส่วนเกินได้ จึงใช้วิธีสุดท้ายด้วยการทำลายทิ้ง โดย MAFF จะรับภาระจ่ายเงินชดเชยเพียงร้อยละ 50 ของจำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับ ซึ่งจะมีองค์กรอิสระด้านการปรับดุลภาพอุปสงค์และอุปทานพืชผัก (Zenkoku-Yasia-Jukyu-Chosie-Kikou) เป็นผู้จ่ายดำเนินการเงินชดเชย และเกษตรกรที่จะได้รับเงินชดเชยต้องเป็นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และได้รับการรับรองตามกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นเท่านั้น
  • วิธีการทำลายผลผลิตส่วนเกิน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีฝังกลบ บริจาคเพื่อการกุศลโดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นพยาน เพื่อป้องกันการทุจริต อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและมีอุปทานส่วนเกิน หน่วยราชการท้องถิ่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และมี

ความรับผิดชอบร่วมกัน เช่นการประชาสัมพันธ์และรายงานข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว เพิ่มการปริโภค นำผลผลิตมาแปรรูป และการหาตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ที่ผ่านมาจึงมักไม่ค่อยพบว่ากระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ต้องเข้าไปรับซื้อ หรือทำลายผลผลิตเกษตร

สรุป

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ญี่ปุ่น ตั้งความหวังว่าภาคเกษตรจะสามารถเพิ่มผลผลิต และเพิ่มอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร(คำนวนจากจำนวนแคลอรี่รวมของประเทศที่ต้องการบริโภค)ให้สูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 ที่เป็นอยู่ การเพิ่มผลผลิตเกษตรไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น พื้นที่เกษตรที่มีอย่างจำกัด และเป็นแปลงย่อยๆ อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่สนใจสานต่องานด้านเกษตรกรรม และการผลิตขาดประสิทธิภาพเพราะภาคเกษตรญี่ปุ่นได้รับการอุดหนุนจากรัฐอย่างมากมาย นอกจากนี้ สัดส่วนของผลผลิตเกษตรต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ก็มีแนวโน้มลดลง แต่ก็เชื่อว่าภาคเกษตรต่อการเมืองและเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงมีบทบาทสูงในสังคมญี่ปุ่นต่อไป คงไม่ใช่เพียงเพราะว่าภาครัฐให้การสนับสนุน หรือมีการจัดสรรเงินช่วยเหลือเป็นพิเศษ แต่ด้วยระบบสหกรณ์ที่มีเครือข่ายแข็งแกร่ง และมีการวางรากฐานระบบสนับสนุนด้านการเงินแก่ภาคเกษตรที่ครบวงจรโดยให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมบริหาร จัดการ และมีการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างแน่นหนาตั้งแต่ระดับชุมชน ภูมิภาคและระดับประเทศ ทั้งด้านการผลิต การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตในภาคเกษตร การรวบรวมผลิตผลและการบริหารจัดการตลาด โดยเฉพาะด้านการเงิน การประกันภัยและอื่นๆ เช่น ข้อมูลข่าวสาร การวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและ Logistic เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ