รายงานภาวะสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ ในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 6, 2008 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อาหารเพื่อสุขภาพในไต้หวันหมายถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสารเฉพาะอย่างที่มีสรรพคุณในการปรับปรุงสภาพร่างกายหรือการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบำรุงร่างกาย อาหารเพื่อสุขภาพในไต้หวันมีมากมายหลายประเภท ได้แก่ Functional Food เช่นน้ำดื่มเกลือแร่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement) เช่น วิตามิน และวิตามินรวม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เช่น เห็ดหลินจือ

1. ความต้องการบริโภค

ชนเชื้อสายจีนสะสมศิลปะและวัฒนธรรมการกินเป็นเวลาที่ยาวนานมาก นอกจากให้ความสำคัญของรสชาติ สีสันแล้ว ยังคำนึงถึงสุขภาพ ชาวไต้หวันในยุคก่อนมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจน แต่ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการกินเพื่อบำรุงในฤดูหนาว การให้สตรีหลังคลอดรับประทานไก่น้ำมันงา ชีวิตในยามปกติถึงแม้จะกินอยู่อย่างประหยัด แต่ก็ไม่ลืมที่จะให้ลูกหลานได้กินผักใบเขียวและเต้าหู้ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าชาวจีนให้ความสำคัญกับการบำรุงสุขภาพตั้งแต่อดีต หลังจากที่เศรษฐกิจของไต้หวันรุ่งเรืองมากขึ้น วัฒนธรรมการกินแบบตะวันตกแพร่เข้ามา เช่น แฮมเบอร์เกอร์ สเต็ค ทำให้มีการรับประทานเนื้อสัตว์ปริมาณมากแทนที่ผักเขียวและเต้าหู้ จนเกิดโรคภัยไข้เจ็บติดตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจ

ในภาวะที่รายได้ประชาชาติต่อบุคคลของชาวไต้หวันอยู่ในระดับสูง กล่าวคือในปี 2008 เท่ากับ 18,000 เหรียญสหรัฐฯ ประชาชนมีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย มากขึ้น อาหารเพื่อสุขภาพ จึงมีบทบาทในชีวิตมากขึ้น

คาดว่ามูลค่าการตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของไต้หวันในแต่ละปีเท่ากับ 62,500 ล้านเหรียญไต้หวัน ในท้องตลาดมีอาหารเพื่อสุขภาพไม่ต่ำกว่า 3 พันชนิด อย่างไรก็ตามอาหารเพื่อสุขภาพที่ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในไต้หวันมีเพียง 100 กว่าชนิดเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังมีน้อยมาก และคาดว่าจะมีการผู้ประกอบการอาหารพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

2. ภาวะการผลิตและการส่งออก

ปัจจุบัน คาดว่าผู้ประกอบการในวงการอาหารเพื่อสุขภาพในไต้หวันมีประมาณ 600 ราย ประกอบด้วยผู้ป้อนวัตถุดิบ การวิจัย การผลิต และการจำหน่าย บริษัทผู้ประกอบการอาหารสุขภาพส่วนใหญ่จะตั้งขึ้นในปี 1997 ซึ่งรัฐบาลไต้หวันบรรจุให้อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีใว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งรวมทั้งการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้ภาคเอกชนไต้หวันเกิดความตื่นตัว ผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพในไต้หวันส่วนใหญ่มีพื้นฐานเดิมเป็นผู้ผลิตยา รองลงมาคือผู้ผลิตอาหารและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม ซึ่งมีจุดอ่อนคือยังมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อย และยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบที่สำคัญจากต่างประเทศ การผลิตยังคงมุ่งเน้นการป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก

ในส่วนของการส่งออกนั้นในปี 2007 ไต้หวันส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ร้อยละ 30 ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน แคนาดา ออสเตรเลีย ไทย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดในเอเชีย ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ของไต้หวันได้แก่วิตามินชนิดต่าง ๆ มีราคาถูกกว่าสินค้าจากยุโรป และการส่งออก ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ สาหร่ายทะเล สมุนไพรจีนชนิดต่าง ๆ นั้นประเทศในเอเชียยอมรับมากกว่า เนื่องจากมีความเชื่อและวัฒนธรรมการรับประทานที่ใกล้เคียงกัน

3. การนำเข้า

3.1) การนำเข้าทั่วไป

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไต้หวันในปี 2007 มีมูลค่า 155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.72 แบ่งเป็นการนำเข้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบเม็ดหรือแค็ปซูล มูลค่า 79.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.08 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบอื่น ๆ 75.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมัน สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ ไทย ฯลฯ

3.2) การนำเข้าจากไทย

ไต้หวันไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบเม็ดหรือแค็บซูลจากไทย การนำเข้าจากไทยเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่น ๆ มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 เท่ากับ 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2006 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.04 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 2.23

รายละเอียดการนำเข้าปรากฎตามตารางแนบ

3.3) กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ไต้หวันประกาศใช้ “กฎหมายการควบคุมคุณภาพอาหารบำรุงสุขภาพ” มีสาระสำคัญคือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยระบุว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพหรือมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายจะต้องยื่นขอจดทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพกับทบวงสาธารณสุข ซึ่ง ปัจจุบันมีการกำหนดวิธีการประเมินและรับรองสรรพคุณ อาหารบำรุงสุขภาพไว้ 11 รายการได้แก่

๑. การปรับสภาพไขมันในเลือด

๒. การปรับปรุงการทำงานของกระเพราและลำไส้

๓. การแก้ไขข้อเสื่อม

๔. การรักษาสุขภาพฟัน

๕. การปรับสภาพภูมิคุ้มกัน

๖. การปรับระดับน้ำตาลในเลือด

๗. บำรุงตับ

๘. แก้อาการอ่อนเพลีย

๙. ชลอความชรา

๑๐. กระตุ้นการดูดซับธาตุเหล็กและปรับความดันโลหิต

๑๑. การปรับสภาพภูมิแพ้ของร่างกายและไม่ทำให้เกิดไขมันสะสม

ในการขอขึ้นทะเบียนอาหารเพื่อสุขภาพข้างต้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน

3.4) อัตราภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีอื่น ๆ

ไต้หวันกำหนดพิกัดศุลกากร สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ คือ 21069099 20 8 Food preparations, in capsule or tablet form และ 21069099 90 3 Other food preparations, n. e. s. โดยเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา ร้อยละ 30

4. การตลาด

4.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

ในอดีตการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในไต้หวัน ใช้รูปแบบการขายตรงสูงถึง ร้อยละ 90 แต่ หลังจากที่ผู้ผลิตยาและผู้ผลิตอาหารซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ทำการผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บริษัทเหล่านี้ อาศัยช่องทางการจำหน่ายของตนเอง เช่น ร้านขายยา และ ร้านค้าปลีกในเครือข่ายของตนเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบัน สัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในระบบขายตรงเท่ากับ 50% ที่เหลือเป็นการขายในระบบร้านค้าปกติ ร้านขายยา รวมทั้งซุปเปอร์มาเก็ต ไฮเปอร์มาเก็ต ช่องทางการจำหน่ายผ่านอินเตอร์เน็ต และ ทีวี ช้อปปิ้ง เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการจำหน่ายผ่านร้านคลินิกรักษาโรค ซึ่งสามารถตั้งราคาจำหน่ายสูง เนื่องจากสินค้ามีความน่าเชื่อถือและแนะนำโดยแพทย์และพยาบาล

4.2 รูปแบบ คุณภาพ รสนิยม

ในอดีตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพในไต้หวันจะอยู่ในรูปแบบของแค็บซูลหรือเม็ด แต่ปัจจุบันสัดส่วนของอาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบดั่งเดิมมีสัดส่วนมากกว่า อาทิเช่น ข้าวโอ๊ดชง ดื่ม น้ำมันพืชที่มีสรรพคุณปรับสภาพไขมันในเลือด หมากฝรั่งที่ป้องกันฝันผุ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น

อาหารสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมในไต้หวันได้แก่ โยเกิรต์ ซุบไก่ เห็ดหลินจือ สารสกัดจากตะพาบ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์กระดอง นมแพะผง/เม็ด เชื้อแบคโตซิลลัส/เชื้อที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้ ชาสมุนไพร เห็ดบราซิล น้ำมันปลา เจลโปรตีน ตงโฉงเซี่ยเฉ่า(caterpillar fungus), Glucosamine รังนก สมุนไพร โสม น้ำมันตับปลา อาหารเส้นใย, chitonsan, สารสกัดผักผลไม้รวม แคลเซี่ยม, Propolis(ยางไม้ผึ้ง), เห็ด Antrodia Camphorata, น้ำตาลเชิงซ้อนโมเลกุลขนาดกลาง (Fructooligosaccharide หรือ FOS), สาหร่ายน้ำเงิน ฯลฯ

4.3 โอกาสสินค้าของไทย

สินค้าไทยที่มีศักยภาพในไต้หวันเป็นสินค้าที่ไทยมีวัตถุดิบอยู่แล้วได้แก่ สินค้านมผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง รังนก สมุนไพรเม็ดและแค็ปซูล และเนื่องจากตลาดสินค้าไต้หวันมีความยอมรับในสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพที่รูปแบบดั่งเดิมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการส่งออกสมุนไพรไทยต่าง ๆ รูปของสมุนไพรอบแห้งหรือตากแห้ง

อุปสรรคในการส่งออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมาไปยังไต้หวันคือ สินค้าไทยมักจะถูกมองว่ามีคุณภาพสู้สินค้าสหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่นไม่ได้ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย

5. สรุปและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารโดยทั่วไปของไทยได้รับผลกระทบจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น จีน อินโดนิเซีย และเวียตนาม ฯลฯ หนทางในการอยู่รอดคือการยกระดับสินค้า หรือการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น เช่นการผลิตสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพชาวไต้หวันมีกำลังซื้อสูงและตลาดไต้หวันยังสามารถรองรับการขยายตัวของอาหารสุขภาพได้อีกจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ประสงค์จะขยายตลาดมายังไต้หวันสามารถติดต่อผู้นำเข้าได้ ตามรายชื่อดังแนบ

นอกจากนี้ ในการเจาะตลาดไต้หวันผู้สงออกไทยอาจอาศัยช่องทางการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ซึ่งมีงานแสดงสินค้าที่น่าสนใจคือ

1) Taipei International Food Fair 2009 วันที่ 23 — 26 มิถุนายน 2552 จัดโดย Taiwan External Trade and Development Council (TAITRA) ที่ Nankang Exhibition Hall ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.foodtaipei.com.tw งานแสดงสินค้านี้ ได้รับการบรรจุอยู่ในโครงการประจำปีของกรมส่งเสริมการส่งออก ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯ สมัครเข้าร่วมงานได้ โดยได้รับสิทธิ์พิเศษบางประการ

2) Taipei International Medical & Healthcare Exhibition วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน 2552 โดย Taiwan External Trade and Development Council (TAITRA) ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.mediphar.com.tw/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ