นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)ว่า วิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้น อาจทำให้สถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศมองเห็นความเสี่ยง จึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หรือ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงนั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มการค้าและขยายกิจการของผู้ประกอบการไทย จึงฝากธสน.ให้ผ่อนคลายสถานการณ์ให้เอื้อหนุนต่อการทำการค้า โดยสามารถดำเนินการได้ในหลายวิธี
“วิกฤตการเงินส่งผลกระทบไปทุกประเทศ กระทบกับการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการต้นทุนให้กิจการอยู่ได้ สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐจะดำเนินการได้ คือ การทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขัน ซึ่งทำได้หลายวิธี อาทิ การเร่งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศและส่งกำไรกลับมายังไทยเป็นระยะเวลา 10 ปีแรกที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น” นายราเชนทร์ กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก คาดว่าจะใช้งบประมาณมูลค่า 3 พันล้านบาท โดยจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการส่งออกปี 52 ที่คาดว่าจะขยายตัว 10% หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก โดยมุ่งเน้นผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร พร้อมหนุนส่ง ออกไปยังตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบน้อยจากเศรษฐกิจโลก
"ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในปีหน้า หลักๆก็จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลก เพราะ ข้อมูลจาก IMF คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกจะขยายตัว 3% ลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.9% ส่วน การค้าโลกจะขยายตัว 4.1% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9%" นายราเชนทร์
ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีนโยบายผลักดันการส่งออก ในปี 52 ให้ขยายตัว 10% ด้วยมูลค่า 1.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งชะลอลงจากปี 51 ที่ คาดจะขยายตัว 15-20% ด้วยมูลค่า 1.75-1.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ตามแผนกระตุ้นการส่งออกปีหน้าดังกล่าว ประกอบด้วย การผลักดันส่งออกสินค้า เกษตรและอาหาร ให้เพิ่มเป็น 17-19% จากขณะนี้อยู่ที่ 17% ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งจะ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลักและตลาดใหม่ๆ รวมทั้งมีมาตรการพัฒนา สินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดคณะผู้แทนการค้า ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
นอกจากนี้ ยังให้เร่งส่งเสริมการส่งออกเป็นกรณีพิเศษ ในตลาดที่จะได้รับผล กระทบน้อยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย ในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ และยังรวมถึง ในจีน อินเดีย แถบตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และอาฟริกา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของการส่งออกรวม โดยคาดว่าการส่งออกไปตลาดใหม่จะขยายตัว 14% ขณะที่ตลาดหลักซึ่ง ประกอบด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จะขยายตัวเพียง 2.3% รัฐบาลยังจะเร่งส่งเสริมธุรกิจบริการ เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกทั้งทางตรง และทางอ้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ ร้านอาหารไทย ธุรกิจบันเทิง การศึกษา สปา และโรงพยาบาล และธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสขยายการส่งออกไปต่างประเทศ ได้แก่ แฟรนไชส์ การออกแบบก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ และธุรกิจรับตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ารายได้จากธุรกิจบริการให้ประเทศประมาณปีละ 5 แสนล้านบาท
ตามแผนการนี้ ยังสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนสินค้า เช่น การสนับสนุนให้ภาคเอกชน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และกระตุ้นการลงทุนด้านสาธารณูปโภค รัฐบาลยังจะมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ไปรุกธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยได้ดำเนินการร่วมกับ ธสน. ซึ่งขณะนี้ มีธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ เกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง พลังงาน และการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง โดยตลาดที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายการส่งออก เช่น อาเซียน จีน และตะวันออกกลาง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขส่งออกเดือนกันยายน 51 ของไทยขยาย ตัว 19.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มียอดเกินดุลการค้า 133 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ นักวิเคราะห์ ก็เตือนว่า ตัวเลขส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีความน่าเป็นห่วงขณะที่ เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงขณะที่ช่วง 9 เดือนปีนี้ การส่งออกเติบโตแล้ว 23.9% ด้วยมูลค่า 1.36 แสนล้าน เหรียญสหรัฐ แต่ไทยขาดดุลการค้า 2.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา: http://www.depthai.go.th