Carbon Footprint : ข้อมูลที่จำเป็นต้องมี เพื่อสื่อสารกับผู้ซื้อสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 11, 2008 16:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และสภาวะโลกร้อนได้สร้างโอกาสใหม่ๆมากมาย ในโลกธุรกิจการค้า เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่ประเทศสมาชิกวางเป้าหมายจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (GHG Emission) หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มอุณหภูมิโลก ลงร้อยละ 6 ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555 จากปริมาณที่ปล่อยในปีฐาน พ.ศ. 2533 ทำให้เกิดธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ บริษัทที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่มีเครดิตเหลือ ผลของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยมีค่าเป็นตัวเงิน ก็เริ่มกลายเป็นธุรกิจที่ซื้อขายระหว่างประเทศและเชื่อว่าจะมีมูลค่ามหาศาลในระยะต่อไป มาตรการนี้เริ่มดำเนินการแล้วในประเทศพัฒนา เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และกำลังกระจายวงกว้างขึ้นในญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่านับแต่นี้ไปต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าต่างก็เร่งศึกษาวิจัยปรับการผลิต พร้อมๆ กับร่วมสร้างความตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภค โดยเริ่มจัดทำสลาก Carbon footprint เพื่อบอกปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon oxide emission) ที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิตทั้งหมด(product lifecycle)ว่าในแต่ละขั้นตอน ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนเท่าใด(CO2 emission label) ตั้งแต่เริ่มจัดหาวัตถุดิบ นำไปแปรรูป ผลิต จัดจำหน่าย จนย่อยสลาย สลากนี้ก็เหมือนกับป้ายบอกจำนวนแคลอรี่และสารอาหารที่พิมพ์อยู่บนบรรจุภัณฑ์ที่เราเห็นกันจนคุ้นตา โดย Carbon footprint จะสื่อสารให้ผู้ซื้อเห็นในหลายประเด็นเช่น (1) ความใส่ใจของผู้ผลิตและผู้ขายต่อปัญหาโลกร้อน (2) สร้างความตื่นตัวของสังคม และ (3) สร้างจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง

Carbon Footprint แนะนำขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโคภ โดย Tesco Plc. ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ได้เริ่มติดสลาก Carbon Footprint บนภาชนะบรรจุสินค้า ภายใต้ Private brand ของตนเอง ประมาณ 20 รายการ วางขายในห้าง Tesco ทั่วประเทศ และการติดป้ายบอกจำนวนคาร์บอนก็ได้แพร่หลายไปทั่วยุโรปประเทศในเอเชียที่กำลังจะนำมาใช้ได้แก่ เกาหลี จะเริ่มในปลายปี 2551 นี้ สำหรับญี่ปุ่นได้มีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันยกร่างแนวทาง( guide line ) ว่าจะนำระบบ Carbon Label มาใช้อย่างไร คาดว่าจะเสร็จสิ้นและรณรงค์ให้นำมาใช้อย่างจริงจังต้นปีหน้า เป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลที่เห็นและเข้าใจได้ง่ายว่า สินค้าแต่ละชนิด เป็นที่มาของคาร์บอนไดออกไซด์ในขบวนการผลิต ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากน้อยเพียงใด และให้ผู้ซื้อเป็นผู้ตัดสินใจ

ภายใต้สภาวะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และอากาศของโลกผันแปร ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ การแนะนำ carbon footprint มาใช้กับสินค้าจึงเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับบริษัทผู้ผลิต ว่า สลากใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้จะได้รับความสนใจ และส่งผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพียงใด บริษัทที่ริเริ่มปรับสินค้าของตนแล้ว เช่น Sapporo Breweries Ltd. ได้เตรียมการในเรื่องนี้มานาน 4 ปีแล้ว โดยรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขบวนการผลิต และอยู่ระหว่างเปลี่ยนรูปลักษณ์ของ Black Label Beer ใหม่กำหนดวางตลาดในเดือนธันวาคมปีนี้ กระป๋องใหม่จะเป็น eco-friendly นอกจากจะพิมพ์สลาก carbon footprint บนกระป๋อง แล้วอลูมิเนียมที่ใช้ผลิตกระป๋องจะมีปริมาณลดลง โดยบริษัทให้ข้อมูลว่าจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนในขบวนการผลิตลง 2 กรัมจาก ทั้งหมด 161 กรัม(ประมาณการของปี 2548) กระป๋องแบบใหม่นี้จะนำมาใช้กับเบีย์รทุกรุ่นตั้งแต่เมษายนปีหน้า บริษัทอื่น เช่น Ajinomoto Co. และ Kao Corp. ก็ได้หันมาเน้น Green products มากขึ้น เชื่อว่าการเคลื่อนไหวโดยนำ Carbon footprint concept มาใช้ของบริษัทชั้นนำเหล่านี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงขบวนการผลิตและระบบการจำหน่ายสินค้าครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ในระยะต่อไป Carbon footprint อาจกลายเป็นข้อมูลที่ผู้ซื้อมองหา และเห็นว่าจำเป็นต้องรับรู้ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าวิธีการลดปริมาณก๊าซคาร์บอน จากการผลิตสินค้า อาจจะเริ่มต้นได้หลายแนวทาง เช่น

1) เริ่มจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าใช้จ่ายเงินมากมายเพื่อทำให้หีบห่อดูสวยงามจูงใจ อาจจะเป็นแนวทางง่ายที่สุด ในการจัดงานแสดงสินค้า Tokyo International Packaging Exhibition 2008 เมื่อเดือนตุลาคม ผู้จัดงานได้จัดมุมแสดงสินค้าที่ติดสลาก Carbon footprint เพื่อสร้างความคุ้นเคย และสำรวจความเห็นนักธุรกิจ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก บริษัทที่นำเสนอผลงานใหม่ๆ เช่น Rengo Co., บริษัทผลิต กระดาษลูกฟูก ได้นำเสนอสินค้าของตนพร้อมแจ้งปริมาณสารคาร์บอนที่ปล่อยในขบวนการผลิต

บริษัท Dai Nippon Printing Co., นำเสนอบรรจุภัณฑ์กลุ่ม eco friendly ชนิดใหม่ 8 ชนิดพร้อมๆ กัน ที่น่าสนใจ คือ ถุงบรรจุอาหารประเภท retort pouch ผลิตจากวัสดุชนิดใหม่ ที่สามาถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนลงได้ถึงร้อยละ 30

2) การลดก๊าซคาร์บอนในขบวนการผลิตสินค้า เช่น Nippon Meat Packer Inc. ได้คำนวนปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตเนื้อวัวที่ฟาร์มของบริษัทในออสเตรเลีย ยี่ห้อ Whyalla Feedlot ซึ่งขายภาพใต้ Eco-Beef โดยคำนวนด้วยวิธี Life Cycle Assessment Method (LCA) พบว่า เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอน (CO2 Emission ) จำนวนมากถึง 16.4 กรัม ในจำนวนนี้เป็นก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นในช่วงการเลี้ยงวัวถึง13 กิโลกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ดังนั้นหากปรับวิธีการเลี้ยงสัตว์ก็น่าจะสามารถตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซลงได้อย่างมาก ขณะนี้ญี่ปุ่นมีองค์กร เรียกว่า The Japan Environmental Management Association for Industry ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ออกเอกสารรับอง Ecoleaf Environmental Certificate ให้แก่บริษัทที่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในการพัฒนาการผลิตสินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนฐานการคำนวนแบบ Life Cycle Assessment Method (LCA)

สรุป

ปัญหาโลกร้อน และก๊าซเรือนกระจก อาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ทุกคนยอมรับว่าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว การแก้ไขสิ่งที่มีอยู่เดิมอาจจะยากเกินความรับผิดชอบของคนคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำได้คือการทำให้มันเกิดขึ้นใหม่น้อยที่สุด Carbon footprint จึงมีแนวโน้มจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่อีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อบอกให้ผู้ซื้อรู้และเป็นผู้ตัดสินใจ ข้อมูลนี้จำเป็นอย่างมากต่อการขายสินค้าแก่กลุ่มผู้ซื้อที่มีจิตสำนึกสูงต่อสิ่งแวดล้อม การแข่งขันในตลาดจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะราคา คุณภาพมาตรฐาน การออกแบบหรือรสชาด แต่การแข่งขันของสินค้าในระยะอันใกล้นี้จะเน้นไปที่สินค้านั้นเป็นพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงใด รวมทั้งอาจมีการวางแนวปฎิบัติโดยสมัครใจ หรือ กฎระเบียบใหม่ที่ส่งผลต่อการกีดกันทางการค้าสลาก Carbon footprint จึงอาจเป็นเงื่อนไขจำเป็น สิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตไทยต้องเร่งดำเนินการ เช่น ตรวจสอบและบันทึกข้อมูลก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยในขบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน วิจัยและพัฒนาการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในแต่ละขั้นตอน การปรับไปใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการทำสลาก Carbon footprint กำกับบนบรรจุภัณฑ์สินค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

http://www.nni.nikkei.co.jp/AC/TNW/Nni20081103IS1FOOTP.htm

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ