ข้อมูลสารเมลามีนในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 16:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามบันทึกด่วนที่สุดที่ 0906(1)/4240 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 แจ้งสำนักงานฯ เกี่ยวกับปัญหากรณีเวียดนามสุ่มตรวจพบสารเมลามีนในสินค้าครีมเทียมจากไทย และขอให้จัดส่งข้อมูลรายละเอียด กฎ ระเบียบการตรวจสอบปริมาณสารตกค้างในอาหารโดยเฉพาะสารเมลามีน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ นั้น

สำนักงานฯ ขอเรียน ดังนี้

1. หน่วยงานตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าของสิงคโปร์ คือ Agri-food and Veterinary Authority of Singapore (AVA) ดำเนินการสุ่มตรวจสอบสินค้าฯ อยู่เป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามกฎ/ระเบียบ Sale of Food Act - Food Regulation (เอกสารแนบ 1 จำนวน 114 หน้า) สำหรับสินค้า Milk and Milk Products อยู่ในหัวข้อ 93-129 นอกจากนี้ มีรายละเอียดการใช้สารเคมีต่างๆ ตาม First Schedule ถึง Twelfth Schedule ทั้งนี้ สารเมลามีนเป็นสารเคมีอุตสาหกรรม ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการผลิตอาหาร อย่างไรก็ตาม AVA ได้แสดงถึงระดับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสารเมลามีน โดยถือตาม US Food and Drug Administration (FDA) ซึ่งให้ Tolerable Daily Intake (TDI) อยู่ที่ระดับ 0.63 mg/kg body weight ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่น้ำหนัก 60 กิโลกรัม หรือเด็กน้ำหนัก 30 กิโลกรัม สามารถบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสารเมลามีนได้ วันละ 37.8 มิลลิกรัม และ 18.9 มิลลิกรัม ตามลำดับ ระยะเวลาตลอดชีวิต โดยไม่มีผลร้ายต่อสุขภาพแต่อย่างใด

2. เมื่อมีเหตุการณ์สินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์มีสารปนเปื้อนเมลามีนที่ผลิตจากจีน AVA ได้เพิ่มการตรวจสอบสินค้าฯ ที่นำเข้าจากจีนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ และได้ประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายสินค้าฯ ที่ตรวจสอบพบสารเมลามีนปนเปื้อน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2551 เป็นต้นไป

3. AVA ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างสินค้าอาหารนำเข้าจากจีนประมาณ 725 ชนิด และได้สั่งให้งดจำหน่ายสินค้าจำนวน 13 รายการ (ถึง ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2551) ที่ตรวจสอบแล้วพบสารเมลามีนปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีรายการสินค้าฯ ที่ขอให้ผู้บริโภคพึงระวัง ได้แก่ Yili Milk, Mentos Yoghurt chewy dragees, Monmilk milk, Walls Moo sandwich ice cream, Oreo wafer sticks, Magnum mini classics ice cream, Nabisco chicken in a biskit crackers, Dove Milk chocolate bar, M & M Chocolate, M & Ms Snickers peanut bars, Nestle Honey stars cereal และ Youcan ice cream

4. นอกจากที่ AVA ทำการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าจากจีนแล้ว ยังจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานทำขนมปัง โรงงานทำลูกกวาด/ขนมหวาน ร้านขนมเค๊ก และร้านเครื่องดื่มในสิงคโปร์ จำนวน 2,100 แห่ง เพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ ไม่จำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของสารเมลามีนเจือปนอยู่ และไม่ใช้สินค้าค้างสต๊อกที่นำเข้าจากจีน

5. ถึงปัจจุบัน สินค้าฯ จากไทยในตลาดสิงคโปร์ไม่มีการสุ่มตรวจพบหรือสงสัยว่ามีสารเมลามีนเจือปนอยู่

6. ในปี 2550 สิงคโปร์นำเข้าสินค้านมเนย ระหัสศุลกากร HS 04 รวมมูลค่า 1,277.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยนำเข้าอันดับหนึ่งจากนิวซีแลนด์ มูลค่า 299.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.4 ) รองลงมาได้แก่ ออสเตรเลีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22.9) มาเลเซีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.6) อินโดนีเซีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.5) เนเธอร์แลนด์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.6) ฝรั่งเศส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.5) สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.5) ไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 8 มูลค่านำเข้า 41.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.3) และสำหรับจีน เป็นคู่ค้าอันดับ 13 มูลค่านำเข้า 15.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.2)

7. เหตุการณ์สารเมลามีนปนเปื้อนในอาหารที่ผลิตจากจีน ส่งผลให้ผู้บริโภคในสิงคโปร์ขาดความเชื่อมั่นในสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากจีน แม้ว่า ไม่มีส่วนผสมของสารเมลามีนก็ตาม เช่น ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ เกลือ และไข่เยี่ยวม้า ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกซื้อจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ แทนจีน ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

8. สำหรับไทย ในช่วงนี้ นับเป็นโอกาสของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยไม่เฉพาะสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์เท่านั้น ที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าสู่ตลาดสิงคโปร์ ยังสามารถส่งสินค้าอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ ขนมปังกรอบ และเกลือเพียงถือปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสินค้าไม่ให้มีสารพิษใดๆ เจือปน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ