จากเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีน ซึ่งมีส่วนผสมของสารพิษ melamine เจือปน ส่งผลให้เด็กเสียชีวิต 4 ราย และเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลอีกมากมายทำให้หน่วยงาน Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) สิงคโปร์ เพิ่มการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากจีนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ และได้ออกประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายสินค้าฯ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2551 เป็นต้นไป เนื่องจากมีสารพิษ melamine เจือปนอยู่ในระดับที่สามารถทำลายการทำงานของไตได้ถ้าบริโภคเป็นจำนวนมาก หากผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกลงโทษให้ปิดการดำเนินกิจการทางการค้าระยะหนึ่ง
AVA ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างสินค้าอาหารนำเข้าจากจีนแล้วเสร็จจำนวน 1,450 ตัวอย่าง จากจำนวน 2,256 ตัวอย่าง ของสินค้าจำนวน 725 ชนิด ซึ่งเป็นสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งลูกกวาด/ขนมหวาน (confectionery) ที่มีส่วนผสมของนมเนย และสั่งให้งดจำหน่ายสินค้าทันที ได้แก่ Dutch Lady honeydews flavored milk, Dutch Lady banana flavored milk, Dutch Lady strawberry flavored milk, Yili Choice Dairy fruit bar yoghurt flavored ice confection, Yili Milk, Mentos Yoghurt chewy dragees, White Rabbit creamy candy, Silang House of steamed Potato crackers, Xu Fu Ji puffed rice roll butter corn flavor, Xu Fu Ji puffed rice roll Cheese flavor, Monmilk milk, Walls Moo sandwich ice cream, Oreo wafer sticks, Magnum mini classics ice cream, Nabisco chicken in a biskit crackers, Dove Milk chocolate bar, M & M Chocolate, M & Ms Snickers peanut bars, Nestle Honey stars cereal และ Youcan ice cream
นอกจากการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าจากจีนแล้ว AVA ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานทำขนมปัง โรงงานทำลูกกวาด/ขนมหวาน ร้านขนมเค๊ก และร้านเครื่องดื่มในสิงคโปร์จำนวน 2,100 แห่งด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่ต่างๆเหล่านี้ ไม่จำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมของสารพิษ melamine เจือปนอยู่ และไม่ใช้สินค้าค้างสต๊อกที่นำเข้าจากจีน ซึ่งผลการตรวจสอบแล้วเสร็จจำนวน 660 ราย ปรากฏว่าไม่มีรายใดที่ใช้สินค้านำเข้าจากจีน
ในส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ได้แก่ FairPrice, Cold Storage, Giant, Shop N Save และร้านค้าสะดวกซื้อ Cheers และ 7-eleven ได้เก็บสินค้าออกจากหิ้ง และงดการจำหน่าย สินค้าตามรายการข้างต้น
เหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทดำเนินกิจการสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Nestle, Kraft และ Unilever รวมทั้งผู้นำเข้ารายใหญ่ในสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยต้องทำลายสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าฯ ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น และสิงคโปร์ต้องหันไปนำเข้าสินค้าฯ จากแหล่งผลิตอื่นๆ
อนึ่ง ในปี 2550 สิงคโปร์นำเข้าสินค้านมเนย ระหัสศุลกากร HS 04 รวมมูลค่า 1,277.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยนำเข้าอันอับหนึ่งจากนิวซีแลนด์ มูลค่า 299.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.4 ) รองลงมาได้แก่ ออสเตรเลีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22.9) มาเลเซีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.6) อินโดนีเซีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.5) เนเธอร์แลนด์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.6) ฝรั่งเศส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.5) สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.5) ไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 8 มูลค่านำเข้า 41.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.3) และสำหรับจีน เป็นคู่ค้าอันดับ 13 มูลค่านำเข้า 15.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.2)
(1) เดิมชาวสิงคโปร์นิยมสินค้าอาหารและอื่นๆ เกือบทุกชนิดที่นำเข้าจากจีนมากกว่าจากประเทศอื่นๆ แต่เมื่อมีเหตุการณ์สารพิษ melamine เจือปนในสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์จากจีน และส่งผลต่อไปยังสินค้าอื่นๆ แม้ว่า ไม่มีส่วนผสมของสาร melamine ก็ตาม เช่น ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ เกลือ และไข่เยี่ยวม้า ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกซื้อจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ แทนจีน ได้แก่ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
(2) AVA จะเฝ้าระวังสุ่มตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าเป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจสอบสารประเภท microbial toxins, chemical residue และ veterinary drugs ที่ผ่านมาสินค้าจากไทยที่มีปัญหาซึ่ง AVA ตรวจสอบพบสารตกค้างเกินระดับที่กำหนดในสินค้า คือ พริก และผักชี เป็นประจำทุกเดือนที่สินค้าฯ ถูกทำลาย และผู้นำเข้าสิงคโปร์ถูกปรับ ส่งผลให้ผู้นำเข้าขยาดในการนำเข้าจากไทย ทำให้เสียส่วนแบ่งตลาดสินค้านี้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
(3) ในช่วงนี้ นับเป็นโอกาสของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย ไม่เฉพาะสินค้านมเนยและผลิตภัณฑ์เท่านั้น ที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าสู่ตลาดสิงคโปร์ ยังสามารถส่งสินค้าอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ ขนมปังกรอบ และเกลือ เพียงถือปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสินค้าไม่ให้มีสารพิษใดๆ เจือปน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th