ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสิงคโปร์กับจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2551 Mr. Lim Hng Kiang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ และ Mr. Chen Deming รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าประเทศจีน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (China-Singapore Free Trade Agreement : CSFTA) ระหว่างกัน ณ Great Hall of the People ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมี Mr. Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และ Mr. Wen Jiabao นายกรัฐมนตรีจีน เป็นสักขีพยาน

ข้อตกลง CSFTA ของสิงคโปร์และจีน ได้ผลเป็นรูปธรรมหลังจากการประชุมเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยได้เริ่มต้นมาจากการเข้าร่วมประชุม Joint Council for Bilateral Cooperation (JCBC) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ได้มีการตกลงในการร่วมกำหนดสาระของ FTA อย่างเป็นทางการและเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 ได้ประกาศ ข้อสรุปสำหรับ CSFTA และลงนามเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2551 ซึ่งนับเป็นข้อตกลงการค้าเสรีครั้งแรกที่ครอบคลุมในหลายๆ ด้านระหว่างจีน กับประเทศในเอเชีย(สิงคโปร์) ได้แก่ การค้าขายสินค้า กฎ/ระเบียบของประเทศผู้ผลิต ข้อแก้ไขทางการค้า ภาคธุรกิจบริการ ข้อกำหนด้านวีซ่า การลงทุน กฎ/ระเบียบด้านศุลกากร ข้อกีดกันทางการค้า การป้องกันด้านสุขาภิบาลอนามัยและสารปนเปื้อนในอาหาร รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และจะช่วยสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสาระสำคัญของข้อตกลงฯ สรุปได้ ดังนี้

1. สินค้าของสิงคโปร์ทั้งหมด (ยกเว้นประมาณ 260 ชนิด) จะได้รับ tariff-free ภายในปี 2553 เมื่อส่งออกไปยังจีน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 95 ของสินค้าสิงคโปร์ส่งออกไปยังจีน สินค้าสำคัญๆ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์รวมถึง petrochemicals, processed foods และ electronics and electrical products โดยเฉพาะสินค้ามากกว่าร้อยละ 85 ของสิงคโปร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งออกไปยังจีน โดยไม่เสียภาษี เมื่อข้อตกลงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ส่วนอีกร้อยละ 10 จะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ทั้งนี้ สินค้าจากจีนส่งออกสู่ตลาดสิงคโปร์จะได้รับ tariff-free โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552

2. สิงคโปร์และจีนจะให้ความร่วมมือกันอย่างเสรีในภาคธุรกิจบริการหลายประเภท (นอกเหนือจากข้อตกลงในเวที WTO) ได้แก่ การให้บริการธุรกิจการค้า การบริการโรงพยาบาล และด้านการศึกษา โดยที่สิงคโปร์จะให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัย Traditional Chinese Medicine (TCM) 2 แห่งของจีนในขณะที่จีนจะให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาของ Singapore Medical Institution 2 แห่งเช่นเดียวกัน หากทั้งสองฝ่ายมีการตกลงในหลักการและบรรทัดฐานของมาตรฐานการศึกษา และมหาวิทยาลัย TMC ของจีนที่สิงคโปร์ให้การรับรองสามารถเปิดสอนระดับปริญญาได้ในสิงคโปร์

3. สิงคโปร์และจีนจะส่งเสริมความร่วมมือกันเกี่ยวกับระเบียบมาตรฐานและการปฏิบัติตามขั้นตอนระเบียบศุลกากร ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีแผนการที่จะหารือถึงข้อตกลงการรับรองซึ่งกันและกันสำหรับมาตรฐานสินค้าอุปกรณ์อิเล็คทริก/อิเล็คทรอนิกส์และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เพื่อการค้าในอนาคตต่อไป

4. การขอวีซ่าเข้าเมืองของนักธุรกิจระหว่างสองประเทศสามารถทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ในระยะเวลาที่กำหนด

5. ข้อตกลงนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายที่สนับสนุนหน่วยงานอาชีพต่างๆให้เข้าไปปฏิบัติงานได้อย่างเสรีในสิงคโปร์และจีน โดยมีข้อตกลงการยอมรับร่วมกันในด้านการบริการผู้ชำนาญมืออาชีพได้แก่ ด้านการบัญชี การตรวจสอบบัญชี และสถาปัตยกรรม

6. สิงคโปร์และจีนได้ตกลงที่จะมีความร่วมมือกันต่อเนื่องอย่างแข็งขันในสาขาอื่นๆ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมของสิงคโปร์ในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆของจีน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาบุคคลากร และสนับสนุนให้บริษัทจีนมีขีดความสามารถในตลาดนานาชาติ

นอกจากการลงนามข้อตกลง CSFTA แล้ว สิงคโปร์และจีนยังมีการลงนาม MOU ความร่วมมือ การบริการแรงงาน ซึ่งทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการศึกษาของพนักงานและผู้จ้างงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีด้วย

อนี่ง การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์และจีนมีความเจริญเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การค้ารวมในปี 2007 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 91.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของสิงคโปร์ ในขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 8 ของจีน นอกจากนี้ จีนยังเป็นประเทศที่สิงคโปร์เข้าไปลงทุนมาก และสิงคโปร์เป็นประเทศอันดับ 7 ที่จีนลงทุน โดยเมื่อถึงปลายปี 2007 มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 33 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสิงคโปร์

ข้อสังเกต

(1) ข้อตกลงนี้ จะสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้แก่นักธุรกิจและผู้บริโภคสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมาก ไม่เฉพาะในด้านสินค้าเท่านั้น แต่จะมีอิทธิพลส่งเสริมด้านแรงงานที่สิงคโปร์มีความต้องการมากในช่วงปัจจุบันและต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างโครงการใหญ่ๆในสิงคโปร์ ทั้งนี้ แรงงานจากจีนจะได้เปรียบในเรื่องภาษาพูด

(2) สิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกและอาจถดถอยในอนาคตอันใกล้ แต่สิงคโปร์สามารถดำเนินการให้ประเทศมีความได้เปรียบการค้าเสรีกับจีนในระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้นักธุรกิจภายในประเทศมีความเชื่อมั่นในประ สิทธิภาพของรัฐบาลแล้ว ยังทำให้นานาชาติยอมรับอีกด้วย

(3) ปัจจุบันสิงคโปร์มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 4 รายการสินค้า ได้แก่ น้ำมัน รถยนต์ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และบุหรี่/ยาสูบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ