สถานการณ์ข้าวของเวียดนามช่วงเดือนกันยายน — ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 12, 2008 14:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิต

ผลผลิตข้าวในฤดูร้อน - ใบไม้ร่วง ( summer — fall crop ) ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ของปี 2551 ในเขต Mekong River Delta และจังหวัดต่าง ๆ ในแถบตะวันออกของภาคใต้เก็บเกี่ยวได้ 8.4 ล้านตันข้าวเปลือกและยังตกค้างขายไม่ได้อีกหลายแสนตัน ในขณะที่ข้าวในฤดูใบไม้ร่วง — ฤดูหนาว( fall — winter crop ) ซึ่งเป็นข้าวรุ่นสุดท้ายของปีนี้ ก็เริ่มมีการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ 1.52 แสนเฮกตาร์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตข้าวได้เฮกตาร์ละ 4.2 — 4.5 ตัน ( ผลผลิตประมาณ 6.38 — 6.84 ล้านตัน ) ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามคาดว่าปริมาณข้าวเปลือกของ Mekong River Delta ในปี 2551 นี้มีประมาณ 20.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1.6 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรฯ เวียดนามคาดว่าผลผลิตข้าวตลอดทั้งปีจะเป็น 37.0 ล้านตันมากกว่าผลผลิตปีที่แล้ว 3 % และมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2551 ( 36.0 ล้านตัน ) ถึง 13 % รัฐบาลจึงปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2551 เป็น 4.5 -4.6 ล้านตัน

แม้ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการผลิตทั้งสองจะอยู่ในมือชาวนาประมาณ 50% และจำนวนข้าวสารที่ค้างอยู่ในโรงสีข้าวประมาณ 4 แสนตัน แต่ชาวนาบางพื้นที่ก็เริ่มหว่านข้าวรุ่นใหม่คือ ฤดูหนาว — ใบไม้ผลิ ( winter — spring crop ) สำหรับปีการผลิต 2551/52 แล้วทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะ มีผู้ใดมารับซื้อข้าวจากชาวนาที่ยังคงตกค้างอยู่ทั้ง 2 ฤดูการผลิต แม้จะในราคาต้นทุนก็ตาม

ฤดูการผลิตนี้เป็นฤดูที่ข้าวให้ผลผลิตสูงสุดจึงมีความสำคัญต่อการวางแผนการผลิตข้าวทั้งปี กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทจึงได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 มีสาระสำคัญคือ

  • กำหนดช่วงเวลาการหว่านข้าวในฤดูการผลิตนี้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกระหว่างวันที่ 20 — 30 พฤศจิกายน 2551 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 20—30 ธันวาคม 2551 ทั้งนี้สามารถยืดระยะเวลาการหว่านออกไปเป็นภายในเดือนมกราคม 2552 ได้
  • กำหนดพันธุ์ข้าวที่จะปลูก ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ IR 50404 3/ และ OM 576 ให้เหลือไม่เกิน 15 % ของพื้นที่รวม และให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น

ในจำนวนข้าวเปลือกที่ตกค้างอยู่นั้นมีประมาณ 30 % เป็นข้าวพันธุ์ IR 50404 เพราะเมื่อช่วงต้นปีข้าวในตลาดโลกขาดแคลน ข้าวไม่ว่าพันธุ์ใดก็สามารถส่งออกได้ในราคาดี ชาวนาจึงปลูกข้าวพันธุ์นี้มากเพราะสามารถต้านทานโรคพืชได้ดี แต่ปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลกต้องการนำเข้าข้าวที่มีคุณภาพสูง ( 5 % ) หรือปานกลาง ( ข้าว 10 % และ ข้าว 15 %) ข้าวพันธุ์ดังกล่าวจึงตกค้างมากและทำให้ชาวนาต้องขาดทุนอย่างมาก

การจำหน่ายและราคาข้าวในประเทศ

ราคาข้าวในประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม — สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาเพราะราคาข้าวในตลาดโลกลดลงประกอบกับข้าวในฤดูการผลิต summer — fall crop ให้ผลผลิตมาก แต่บริษัทผู้ส่งออกไม่สามารถหาลูกค้าเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวฉบับใหม่ได้ อีกทั้งยังขาดแคลนโกดังเก็บข้าว ขาดแคลนเงินทุนเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่อัตราสูง และเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อเกิดฤดูฝนที่ยาวนาน ทำให้การเก็บเกี่ยวในช่วงอากาศดังกล่าวมีความชื้นสูงการตากและอบข้าวเปลือกยังไม่มีคุณภาพทำให้ข้าวเปลือกเป็นสีเหลืองและสัดส่วนข้าวหักสูงหลังจากสีข้าวผู้ค้าข้าวจึงหยุดการซื้อข้าวเปลือกและข้าวจากชาวนาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2551 เพื่อระบายข้าวที่อยู่ในสต๊อคในราคาตลาดโลกปัจจุบันสำหรับรอรับข้าวในฤดูการผลิตใหม่ที่จะมาถึง คือ winter — spring crop ซึ่งเป็น ข้าวที่มีคุณภาพดีกว่า

ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้จึงมีราคาลดลงอย่างมากโดยในเดือนกันยายน 2551 ชาวนา ในแถบ Mekong River Delta ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3,500 — 3,700 ด่อง 21 — 22 เซนต์)ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดของปี ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตสูงถึงกิโลกรัมละ 3,900 ด่อง ( 24 เซนต์ ) ทำให้ชาวนาขาดทุนแต่ถึงแม้ชาวนาจะยอมรับในราคาที่ขายขาดทุนแต่ก็ยังไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อส่วนข้าว 10% ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 5,100 — 5,800 ด่อง

เมื่อข้าวเปลือกฤดู summer — fall crop ยังขายไม่หมดข้าวเปลือกฤดู fall — winter crop ซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวจึงต้องขายในราคาถูกมากเพียง 2,500 — 3,000 ด่อง /กิโลกรัม ขณะที่ค่าจ้างเก็บเกี่ยววันละ 224,000 ด่อง ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างในปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า

ข้อมูลจากสมาคมข้าวเวียดนาม (VFA) แจ้งว่าข้าวเปลือกในฤดู summer — fall crop เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ราคาลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเป็น 3,500 — 4,000 ด่อง/กิโลกรัม ขึ้นกับคุณภาพของข้าวส่วนราคาข้าว 5% มีราคาลดลงเหลือเพียง 5,700 — 6,200 ด่อง/กิโลกรัม เท่ากับราคาข้าว 10% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนราคาข้าว 10 % ก็มีราคาลดลงเหลือ 5,400 — 5,700 ด่อง/กิโลกรัมเท่านั้น

การส่งออก

จากสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ของเวียดนาม การส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรก( มค. — กย.) ของเวียดนามเป็น 3.69 ล้านตัน มูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 89% แต่ปริมาณลดลง 8.3 % และ MoIT คาดว่ารายได้จากการส่งออกข้าวในปี 2551 นี้ จะมีมูลค่าถึง 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 91%

ประเทศผู้รับซื้อข้าวจากเวียดนามรายใหญ่เรียงตามลำดับ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมูลค่ารับซื้อข้าวของทั้ง 5 ประเทศรวมกันคิดเป็น 60% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม

ปัจจุบันมีประเทศลูกค้ารายใหม่ที่สนใจขอซื้อข้าวจากเวียดนาม เช่น แกมเบีย โซมาเลีย โมแซมบิก มาดากัสการ์ และโอมานเป็นต้นและผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามก็กำลังพยายามหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมซึ่งตลาดที่มีศักยภาพต่อตลาดข้าวของเวียดนาม คือ แอฟริกากลางและตะวันตก

ราคาข้าวส่งออกปี 2551

ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน 2551 มีราคาต่ำกว่าราคาข้าวในตลาดโลกประมาณ 30 -40% แต่ในเดือนพฤษภาคมราคาส่งออกข้าวของเวียดนามได้ขยับสูงขึ้นเป็น 84% ของราคาในตลาดโลกและเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมิถุนายน ซึ่งเวียดนามส่งออกข้าวได้ 210,000 ตัน มูลค่า 211.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาส่งออกโดยเฉลี่ยเป็น 1,004 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกเดือนมิถุนายน ส่วนราคาส่งออกเดือนกรกฎาคม เป็น 971 เหรียญสหรัฐ ( ตารางที่ 1 )

Table 1: Vietnam’s rice export, quantity and value, monthly, 2008
 Month   Export quantity   Export value    Average export    World rice export    VN price compared to
            (1000 ton)     (million USD)   price (USD/ton)      price (IRRI)         world price (%)
               (1)             (2)              (3)                 (4)                  (5)
 Jan           131             51.0             389                 376                 103.5
 Feb           328            139.1             424                 465                  91.2
 Mar           558            255.0             457                 594                  76.9
 Apr           657            371.2             565                 907                  62.3
 May           560            444.1             793                 941                  84.3
 June          210            211.1            1005                 805                 124.8
 July          350            339.9             971                 706                 137.5
Source: (1)-(2) Vietnam’s General Statistic, (3) = (2)/ (1), (4) IRRI, (5) = (3)/ (4)

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมาที่ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามเริ่มลดลงเป็น 564 เหรียญสหรัฐ/ตัน ( ข้าว 5 % ) และ 523 เหรียญสหรัฐ ( ข้าว 25 %) และในเดือนตุลาคม 2551 ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามก็ยังคงลดลง คือ ข้าว 5% มีราคา 508 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 9 เหรียญสหรัฐ จากต้นเดือนข้าว 10% และ 15% มีราคา 508 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากต้นเดือน 2.4 เหรียญสหรัฐแต่ข้าว 25% เพิ่มขึ้น 4 เหรียญสหรัฐ จากต้นเดือนตุลาคมเป็น 406 เหรียญสหรัฐ/ตัน

การดำเนินการของรัฐบาล
  • เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ได้มีการประชุมระหว่างสมาคมข้าวเวียดนาม (VFA) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ( MoIT ) และ Service of Industry — Trade ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว โดยมีการหยิบยกประเด็นเปรียบเทียบกับการค้าข้าวของไทย คือ รัฐบาลไทยเป็นผู้ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยตรงในราคารับประกันและเป็นผู้ขายข้าวให้ผู้ส่งออก ส่วนเวียดนามนั้นสมาคมข้าวเวียดนามเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งออกข้าว ซึ่งการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาจะผ่านพ่อค้าคนกลางหลายคนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงและผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับน้อยมาก
  • กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ได้เสนอเป็นทางการถึงกระทรวงการคลังปรับอัตราภาษีส่งออกข้าวเป็น 0% เพื่อเป็นการกระตุ้นการส่งออกข้าวและการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ
  • MoIT ได้เสนอต่อรัฐบาลขอให้ผู้ส่งออกข้าวสามารถส่งออกได้โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนกับ VFA ให้ยกเลิก floor price สำหรับการส่งออกข้าวและให้จัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ( preferential credits ) สำหรับชาวนาและผู้ส่งออกข้าว
  • คณะกรรมการประชาชนจังหวัดลองอัน( People ’s Committee of Long An Province )ในนามจังหวัดต่างๆ ใน Mekong River Delta ได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลขอให้เพิ่มปริมาณจัดซื้อข้าวเปลือกเพื่อสำรองเก็บไว้สำหรับประเทศในราคาที่เหมาะสม เพื่อลดจำนวนข้าวที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมาก และเสนอรัฐบาลยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงของการขยายสัญญาการกู้เงินของชาวนา
ความเห็น

1. แม้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนมิถุนายน 2551 จะสูงถึง 1,005 เหรียญสหรัฐ / ตัน แต่ปริมาณข้าวที่ส่งออกมีจำนวนน้อยทำให้ผลประโยชน์ที่จะตกถึงมือชาวนามีไม่มากนัก เพราะโดยปกติแล้วสมาคมข้าวเวียดนามจะเจรจาและเซ็นสัญญาการส่งออกในช่วงต้นปี ซึ่งในปี 2551 นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม — มีนาคม 2551 เวียดนามได้เซ็นสัญญาขายข้าวแล้วถึง 2.4 ล้านตันคิดเป็นมากกว่า 50% ของเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี ( คือ 4.5 ล้านตัน ) โดยจะส่งมอบในเดือนมิถุนายน 2551

2. เวียดนามมีปัญหาขาดแคลนไซโลซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันไซโลในแถบจังหวัด Mekong River Delta มีเพียง 3 แห่งมี capacity รวมกันเพียง 30,000 ตัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพในการผลิตข้าวปีละ 8 -10 ล้านตันแล้วนับว่าน้อยมาก ดังนั้น ทั้งชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสีข้าว และผู้ค้าข้าวของเวียดนามจึงจำเป็นต้องรีบขายข้าวแม้จะขายได้ในราคาต่ำก็ตาม

สคต. นครโฮจิมินห์

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ