รายงานข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอิตาลีล่าสุดหลังเกิดภาวะเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2008 14:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ขอสรุปรายงานข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอิตาลีดังนี้

1. นายซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี ยืนยันคำร้องของนาย Lamberto Cardia ประธาน CONSOB ที่กล่าวว่าขณะนี้ผู้ประกอบการอิตาลีมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจจากการที่มูลค่าของกิจการลดลงอันเนื่องมาจากการตื่นตระหนกจากวิกฤตการเงินของสหรัสและสหภาพยุโรป ซึ่งปรากฏว่าธุรกิจใหญ่ๆหลายรายที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเทคโอเวอร์ ได้แก่ Telecom Italia (ทุนประเมิน 11 พันล้านยูโร) Generali (ดำเนินธุรกิจประกันภัยทุนประเมิน 30พันล้านยูโร) Mediaset (ธุรกิจโทรคมนาคมทุนประเมิน 4.8 พันล้านยูโร)Finmeccanica(ธุรกิจก่อสร้างและ Infrastructure ทุนประเมิน 6.2 พันล้านยูโร) Fiat (ธุรกิจผลิตรถยนต์ทุนประเมิน 8.3 พันล้านยูโร) Parmalat (ธุรกิจผลิตและจำหน่ายนมทุนประเมิน 2.5 พันล้านยูโร)ธนาคาร Intesa San Paolo (ทุนประเมิน 38.5 พันล้านยูโร) และธนาคาร Uni Credit (ทุนประเมิน 33.2 พันล้านยูโร) อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิตาลีได้พยายามที่จะชักจูงให้นักลงทุนต่างชาติหันไปซื้อกิจการที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และกิจการเกี่ยวกับ Infrastructure แทน

2. ธนาคารแห่งชาติอิตาลีได้ออกมาเปิดเผยว่า ผลจากภาวะวิกฤตทางการเงินทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอิตาลีเกิดการชะงักงัน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงอย่างรวดเร็วในขณะที่ภาวะหนี้สินเพิ่มมากขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงและการกู้ยืมเงินจากธนาคารของภาคประชาชนและธุรกิจเป็นไปอย่างลำบาก ทั้งนี้ อิตาลีเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD ที่เก็บภาษีค่อนข้างสูง โดยในช่วงปี 2549-2550 ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Prodi ได้มีการเรียกเก็บภาษีตั้งแต่ร้อยละ 42.1-43.3

3. รัฐบาลนายเบอร์ลุสโคนี ตระหนักดีว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถด-ถอยได้เริ่มขยายวงกว้างขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงด้านการเงินที่เกิดจากภาวะวิกฤตทางการเงินของภาครัฐก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของอิตาลีด้วยเช่นกัน ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหามาตรการต่างๆเพื่อช่วยอัดฉีดภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดว่าจะคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและธุรกิจ SME เช่นการให้สิทธิประโยชน์ด้านการเงิน ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ได้มีการออก Social Card มูลค่า 40 ยูโรต่อเดือนให้แก่ประชาชนที่ยากจนเพื่อใช้จ่ายค่าไฟและค่าแก๊ส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ