ข้อมูลรายงานภาวะเศรษฐกิจอิตาลีหลังเกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2008 14:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลี ณ เดือนตุลาคม 2551 ปรากฏว่าได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติการเงินสหรัฐอย่างชัดเจนมากขึ้น รัฐบาลอิตาลีและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารชาติ สมาพันธ์อุตสาหกรรม( Confindustria ) สมาพันธ์ผู้จำหน่าย(Confcommercio) ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนว่าขณะนี้เศรษฐกิจอิตาลีได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552 และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวตามวงจรเศรษฐกิจได้อีกครั้งในปี 2553

หน่วยงาน Economist Intelligence Unit และธนาคารชาติอิตาลีได้เปิดเผยตัวเลขการคาดการณ์ล่าสุด ณ เดือนตุลาคม ซึ่งได้ปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจใหม่แล้ว รายละเอียดตามตารางที่แนบ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิตาลีได้ออกมาคาดการณ์ว่า GDP Growth ของปี 2552 จะเท่ากับร้อยละ 0.5 และได้พยายามหามาตรการด้านต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยดังกล่าวได้แก่

การสนับสนุนด้านการเงิน โดย European Bank of Investments ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน (Credit line) ประมาณ 30-40 พันล้านเหรียญยูโรสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคยุโรปซึ่งในจำนวนนี้อิตาลีจะได้รับความช่วยเหลือร้อยละ 15 จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านข้อกฎหมายและระเบียบให้แก่ผู้ประกอบการอิตาลีที่มีความเสี่ยงที่จะถูกซื้อกิจการจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากรัฐบาลอิตาลีมี นโยบายที่จะป้องกันมิให้ธุรกิจที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศเช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจรถยนต์และธุรกิจด้านความมั่นคงของประเทศต้องถูกซื้อกิจการโดยนักลงทุนต่างชาติสนับสนุนสภาพคล่องและความเข้มแข็งของระบบธนาคาร โดยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ(นายGiulio Tremonti) และผู้ว่าการธนาคารชาติอิตาลี (นายMario Draghi) ได้ออกมายืนยันว่าระบบธนาคารของอิตาลีมีความเข็งแกร่งอย่างมาก การให้สินเชื่อแก่ภาคประชาชนและผู้ประกอบการยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและไม่มีการกำจัดวงเงิน นอกจากนี้ ในด้านของผู้ฝากเงินรัฐบาลอิตาลีได้รับประกันเงินฝากในวงเงินประมาณ 103,000 ยูโรต่อราย และในระยะยาวก็มีนโยบายที่จะลดความเข้มงวดทางด้านการคลังและภาษีเงินได้ลง (สมัยรัฐบาลนาย Prodi ได้ออกมาตรการด้านภาษีคิดเป็นร้อยละ 43 ของ GDP)

การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ SME โดยรัฐบาลอิตาลีร่วมกับหน่วยงาน Confindustria พยายามหามาตรการช่วยเหลือให้แก่ภาคอุสาหกรรมและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SME) ภายใต้ข้อเสนอต่างๆได้แก่ การให้สิทธิพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และ เครื่องจักร การให้สิทธิพิเศษสำหรับการคิดค้นและการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การให้สิทธิพิเศษในการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยจะจัดสรรเป็นกองทุนสำหรับภูมิภาคทางตอนใต้ของอิตาลีประมาณ 7 พันล้านยูโร และ 3 พันล้านยูโรสำหรับโครงการพิเศษที่เป็นความร่วมมือกับสหภาพยุโรปอย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการใด

2. ผลกระทบรายสินค้า/อุตสาหกรรม
  • อุตสาหกรรมจิวเวลรี่ เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แม้ขณะนี้ภาษีนำเข้าจะเป็น 0 (สินค้าทองคำ,เครื่องเงิน,พลอยสี(Precious Stone) เพชรฯลฯ)แต่ก็มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 20 % ข้อมูลการนำเข้าของอิตาลีในช่วง 7 เดือนแรกของปี2551 (ม.ค.-ก.ค. 51)ปรากฏว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกภายใต้พิกัด 71 (Precious Stone, Metal) 895.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน2.7% ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 6.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน20.43% โดยประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้า (Import Share) สูงสุดคือ สวิสเซอร์แลนด์(25.172.7%) แอฟริกาใต้ (15.14%) สหรัฐฯ (14.0%) และ ฝรั่งเศส (7.77%) ตามลำดับในขณะที่ไทยเป็นอันดับที่ 17 สัดส่วน 0.78% โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ อินเดีย ซึ่งสินค้ามีราคาค่อนข้างถูกและมีชื่อเสียงในด้านการผลิตเครื่องทองและหิน Precious Stone
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ อิตาลีเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 3 ในสหภาพยุโรปรองลงมาจากเยอรมันและฝรั่งเศส มีปริมาณการผลิตคิดเป็นร้อยละ 13ของการผลิตในสหภาพยุโรปและเป็นการผลิตทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยอิตาลีจะนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อนำมาผลิตเป็นรถยนต์ภายใต้Brand ต่างๆ แบรนด์ที่ครองตลาดมากที่สุดคือรถ เฟี๊ยต ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในอิตาลีได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตการเงินสหรัฐค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่ พ.ค.2551 เป็นต้นมาความต้องการสำหรับรถใหม่ลดลงทำให้ปริมาณการผลิตช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ลดลงถึงร้อยละ 15 และคาดว่าทั้งปี2551 ความต้องการจะลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การนำเข้า ในช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค. 51) อิตาลีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้พิกัด 8714 จากทั่วโลกมูลค่า 93.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจาก 5 ประเทศแรก คือ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สเปน โรมาเนีย (สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 16.53 ,13.49,12.69,9.01,6.38ตามลำดับ) และนำเข้าจากไทยอันดับที่ 12 มูลค่านำเข้า 2.04 ล้านเหรียญสหรัฐ(เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 145.62)

  • อุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น (Air Conditioning) อิตาลีนำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบแอร์คอนดิชั่นเพื่อมาผลิตและส่งออกภายใต้แบรนด์ของตนเองซึ่งได้รับความนิยมว่าเป็น Made in Italy ได้แก่ แอร์คอนดิชั่น ปั้มทำความร้อน พัดลมที่ใช้ในอุตสาหกรรม หม้อน้ำสำหรับเครื่องทำความเย็นและอุปกรณ์ทำความเย็นเป็นต้น

การนำเข้า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 51 อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกมูลค่า 140 .34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.6 และนำเข้าจากไทยมูลค่า 23.65 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.11 อย่างไรก็ดี คาดว่าโอกาสของสินเครื่องทำความเย็นของไทยในตลาดอิตาลียังคงดีอยู่แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจบ้าง เนื่องจากอิตาลียังคงสามารถส่งออกได้ดีโดยคาดว่าถึงสิ้นปี 2551 อิตาลีจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 7.1

  • สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากสินค้านี้เป็นสินค้าที่ผู้ซื้อสามารถจ่ายผ่อนชำระได้โดยผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินสหรัฐจึงส่งผลกระทบต่อตลาดในอิตาลี ทั้งนี้ การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 (ม.ค.-ก.ค.) อิตาลีนำเข้ามูลค่า 2.556 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 17.33 ในขณะนี้ที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.08คาดว่าในอนาคตการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดอิตาลีจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากผู้บริโภคอาจจะชะลอการสั่งซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นไว้ก่อนจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น
  • สินค้าแฟชั่น รองเท้า และเครื่องหนัง เป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากภาวะวิกฤติการเงินสหรัฐฯ โดยภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของอิตาลีได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ให้สามารถแข่งขันได้ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการขายเสื้อผ้ามือสอง และการลดภาษีให้กับสินค้าเสื้อผ้าเด็ก เป็นต้น

การนำเข้า การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 (ม.ค.-ก.ค.) อิตาลีนำเข้าจากไทยมูลค่า60 ล้านเหรียญสหรัฐแยกเป็น Woven Apparel (10 ล้านเหรียญสหรัฐ/-5.46 %) Knitwear (36 ล้านเหรียญสหรัฐ/+29.61 %) เครื่องหนัง (5 ล้านเหรียญสหรัฐ/+83.84 %) และรองเท้า (9 ล้านเหรียญสหรัฐ/+25.33 %)คาดว่าการนำเข้าจากไทยในโอกาสต่อไปจะลดลงเล็กน้อยอย่างไรก็ดี โอกาสที่ผู้ส่งออกไทยจะสามารถขยายการส่งออกได้ก็คงต้องเน้นที่การดีไซน์เป็นหลักเพราะผู้นำเข้าอิตาลีทราบดีว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีและพยายามลดต้นทุนเพื่อไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งราคาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอิตาลี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

Upload Date : 31 ตุลาคม 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ