ในช่วงที่ผ่านมา นับแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อินโดนีเซียก็ได้มีการติดตามภาวะดังกล่าว รวมทั้งมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปัจจุบัน (ม.ค.—ก.ย.51) มีมูลค่าถึง 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สคต. ณ กรุงจาการ์ตา จึงขอสรุปรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก จากแหล่งข้อมูลเศรษฐกิจ ได้แก่ วารสาร Business News บทวิเคราะห์ของ Standard Chartered และ Credit Suisse และหนังสือพิมพ์ The Jakarta Post เป็นต้น โดยข้อมูลบทวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน สรุปได้ดังนี้
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย (GDP Growth Rate) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ในอัตรา 6.3 % นั้น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจคาดการณ์ว่า GDP Growth Rate ของอินโดนีเซียในปี 2551 จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5.7 — 6.0 % เท่านั้นจากภาวะแนวโน้มเศรษฐกิจในอินโดนีเซียที่ชะลอตัวลงในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4
- อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สหรัฐฯและรูเปีย ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณ 9,300 รูเปียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 — 11,000 รูเปียต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงค่าเงินรูเปียซึ่งอ่อนตัวลงอย่างมาก ซึ่งในเดือนตุลาคมเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินรูเปียต่ำลงถึงประมาณ 16 %
- เงินเฟ้อในช่วงเดือนตุลาคมเริ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตรา 0.45 % ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มจาก 113.25 ในเดือนกันยายน เป็น 113.776 ในเดือนตุลาคม ทำให้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของ อินโดนีเซียในปี 2551 นี้ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10.96 %
- สำหรับภาวะการค้าของอินโดนีเซียนั้น จากสถิติล่าสุดของ Central Bureau Statistic Indonesia คือ ม.ค. — ก.ย. 51 อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 107,654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 101,091 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับต่างประเทศอยู่ประมาณ 6,562 เหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีในช่วงเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยลดลงประมาณร้อยละ 2.15 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาวะการค้าของอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในช่วงท้ายของปี 2551 และจะได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2552
- ข้อมูลเพิ่มเติม ภาวะการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในช่วงเดือน ม.ค. — ก.ย. 51 นั้น การส่งออกสินค้าของไทยไปยังอินโดนีเซียมีมูลค่าประมาณ 4,886 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียเป็นมูลค่าประมาณ 4,314 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยยังเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอินโดนีเซียอยู่ประมาณ 572 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน น้ำตาล เครื่องจักรและชิ้นส่วน เครื่องยนต์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ทั้งนี้สรุปวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซียนั้น ปัจจุบันสภาพคล่องในอินโดนีเซียลดลง (tight liquidity) โดยยังมีข้อกังวลว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียลงนั้น จะเพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้หรือไม่ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลงนั้นเป็นภาวะที่เพิ่งจะเกิดขึ้น โดยเพิ่งเริ่มส่งผลกระทบ และจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในปี 2552 ที่จะถึงนี้ และอินโดนีเซียก็จะต้องได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดแผนการขยายการผลิตหรือการขยายธุรกิจจากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้ที่จะนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ (disposable income) ลดต่ำลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ
สำหรับการส่งออกของอินโดนีเซียนั้น จะต้องได้รับผลกระทบเกี่ยวโยงกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศผู้ส่งออกทั้งหลายก็จะต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ในภาวะที่ตลาดส่งออกหดตัวลง และจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลกก็มีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้การส่งออกต้องมีการแข่งขันที่สูงขึ้นจากคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำลงดังกล่าว
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา
Upload Date : พฤศจิกายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th