ด้วยหน่วยงานบริการตรวจสินค้านำเข้าชายแดนของแคนาดา (The Canadian Border Service Agency) ได้ออกประกาศเมื่อเดือน พฤษภาคม 2551 เรื่อง การคืนภาษีนำเข้าให้แก่ผู้นำเข้าเสื้อผ้า ที่ใช้ผ้าผลิตภายในประเทศแคนาดา (Outward Processing Remission Order ) โดยสามารถขอคืนภาษีได้บางส่วน หรือทั้งวงเงินที่ชำระภาษีไปทั้งหมด หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้นำเข้าเสื้อผ้าดังกล่าว (Canadian Importer) จะสามารถขอคืนภาษีนำเข้าได้ ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
1. เสื้อผ้าจะต้องผลิตโดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (General Preferential Tariff ) และสินค้าได้ถูกจัดส่งมายังประเทศแคนาดาโดยตรงภายหลังการผลิตโดยไม่ผ่านประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยได้อยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ด้วย จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำเข้าเสื้อผ้าจากไทยสามารถรับประโยชน์จากการขอคืนภาษีจากรัฐบาลแคนาดาได้
2. เสื้อผ้า จะต้องผลิตจากผ้าที่ทอภายในประเทศแคนาดาเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
3. เสื้อผ้าจะต้องผลิตจากประเทศเดียวกับที่จัดส่งสินค้าไปยังแคนาดา โดยใช้ผ้าที่ผลิตในแคนาดาโดยไม่ผ่านการแปรรูป หรือแปรสภาพภายหลังขั้นตอนการผลิตจากแคนาดา
4. เสื้อผ้า ห้ามใช้วัสดุนำเข้า ( Imported materials) เกินกว่า 50 % ของวัสดุที่ใช้ทั้งหมด
5. เสื้อผ้าที่ผลิตแล้ว จะต้องถูกนำเข้าไปยังแคนาดา ภายใน 2 ปี ภายหลังวัสดุผ้าได้ถูกส่งออกจากประเทศแคนาดา ไปยังประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้า
6. การยื่นขอคืนภาษี ผู้นำเข้าจะต้องยื่นขอคืนภาษีภายใน 2 ปี นับจากวันที่สินค้าได้ถูกนำเข้าไปยังประเทศแคนาดา
1. คำนวณมูลค่าของวัสดุผ้าที่ผลิตในประเทศแคนาดา ที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าที่นำเข้านั้นๆ
2. คำนวณมูลค่าภาษีที่จ่ายไปในการนำเข้าสินค้า
3. เปรียบเทียบ มูลค่า ตามข้อ 3.1 และ 3.2 แล้วเลือกมูลค่าที่น้อยกว่า ในการขอคืนภาษี ตัวอย่าง เช่น การนำเข้าเสื้อผ้าไปยังแคนาดา มูลค่า $ 100 CAD จ่ายภาษีไป 18 % หรือ$18 และใช้วัสดุผ้าจากแคนาดามูลค่า $15 ผู้นำเข้าจะสามารถขอคืนภาษีได้ จำนวน$ 15 เนื่องจากเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่า
จากสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าของแคนาดา ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2550 พบว่าแคนาดา นำเข้าเสื้อผ้ามูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2551 แคนาดานำเข้าเสื้อผ้า มูลค่า 5,102 ล้านเหรียญสหรัฐ( เพิ่มขึ้น 8.8 % จากระยะเวลาเดียวกันของปี 2550 ) โดยนำเข้าหลักจากประเทศ จีน ( 52.69 %) บังกลาเทศ(7.04% ) สหรัฐอเมริกา (6.15% ) อินเดีย (4.46%) เม็กซิโก ( 3.71%) และกัมพูชา (3.16%)โดยนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 11 มูลค่า 51.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ( 1.01 %) ซึ่งนำเข้าจากไทย ลดลง 6.14 %
การประกาศคืนภาษีดังกล่าว เป็นโอกาสอันดีแก่ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตเสื้อผ้าส่งออกไปยังแคนาดา ทั้งที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของตนเอง หรือรับจ้างผลิตให้กับผู้นำเข้าในแคนาดา หากสามารถผสมผสานวัสดุจากประเทศแคนาดาไม่ต่ำกว่า 50 % และสามารถจัดส่งเสื้อผ้ากลับไปยัง แคนาดาภายใน 2 ปี โดยผู้นำเข้าจะสามารถขอรับคืนภาษีนำเข้าได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าไทย ในประเทศแคนาดา ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจะต้องทำการตลาดเชิงรุกในการหาคู่ค้าที่เหมาะสม
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์
Upload Date : พฤศจิกายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th