มาเลเซียออกระเบียบใหม่ : สินค้าผลไม้สด ผักสดและไม้ตัดดอก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2008 16:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Federal Agricultural Marketing Authority (FAMA) เป็นองค์กรของรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้กระทรวงการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร จัดตั้งขึ้นในปี 1965 ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาด้านการตลาดสินค้าเกษตรเพื่อการนำเข้าและการส่งออก ได้ออกระเบียบใหม่เกี่ยวข้องกับการ Grading (การแยกเกรด) Packaging (การบรรจุภัณฑ์) และ Labeling (ฉลากสินค้า) สำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้สด ผักสดและไม้ตัดดอก เนื่องจาก FAMA ได้ออกระเบียบใหม่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้เข้าพบ นาย ISHAK ABBAS ผู้อำนวยการอาวุโสของ FAMA เพื่อสอบถามรายละเอียดของระเบียบฯดังกล่าว สำนักงานฯ ขอรายงานดังนี้

1. ข้อมูลทั่วไป

ระเบียบนี้ ชื่อ Federal Agricultural Marketing Authority (Grading, Packaging and Labelling of Agricultural Produce) Regulations 2008 (เอกสารแนบ) ได้เริ่มดำเนินการร่างตั้งแต่ปี 2541 และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในเดือนเมษายน 2552 มีวัตถุประสงค์หลักคือ

  • ความปลอดภัยของผู้บริโภคและการปฎิบัติที่เท่าเทียมกัน
  • เพื่อสะดวกในการติดตามและบันทึกข้อมูลของผู้ประกอบการ
  • เพื่อประชาสัมพันธ์ระเบียบตามมาตรฐานสากลกำหนดโดย WHO และ FAO
  • เพื่อสอดคล้องกับข้อตกลงของ WTO ว่าด้วยเรื่อง Application of Sanitary and Phytosanitary Measures (SPS Agreement) and WTO Agreement on Technical Barrier to Trade (TBT Agreement)
  • เพื่อป้องกันการเลือกปฎิบัติระหว่างสมาชิกของ WTO
2. ขอบเขตการบังคับ

ชนิดสินค้า : ผลไม้สดทุกชนิด ผักสดและดอกไม้สด

ผู้ที่เกี่ยวข้อง : ผู้ผลิต ผู้ค้าส่งและปลีก ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกผลไม้ พืชผักและดอกไม้

3. สาระสำคัญของระเบียบ

3.1 Grading (การแยกเกรด)

สินค้านำเข้าและส่งออกจะต้องถูกคัดเกรดตามมาตรฐานของ Malaysian Standard (MS) กำหนดโดย FAMA การตรวจสอบและใบรับรองจะออกโดย FAMA หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกแต่งตั้งโดย FAMA นอกจากนี้ การคัดเกรดสินค้าจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of origin) หรือหากไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของ FAMA

3.2 Packaging (บรรจุภัณฑ์)

บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับหีบห่อจะต้องเป็นวัสดุที่สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนและสามารถป้องกันการกระแทกที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสินค้าขณะลำเลียง การบรรจุภัณฑ์จะต้องไม่เกิน 30 กก./1 บรรจุภัณฑ์ ในกรณีที่ต้องการใช้บรรุจุภัณฑ์เดิมหลังจากการใช้แล้ว จะต้องถอดฉลากสินค้าเดิมออกก่อน จึงสามารถนำมาใช้ไหม่ได้

3.3 Labeling (ฉลากสินค้า)

ฉลากสินค้า มีขนาดไม่เกิน 11x7 cm โดยติดไว้ด้านบนหรือด้านข้างของบรรจุภัณฑ์ มีข้อมูลสำคัญที่ต้องระบุ ดังนี้

  • ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต/ ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก
  • ชื่อทั่วไปของสินค้า
  • เกรดของสินค้า
  • ขนาดของสินค้า
  • ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า
  • น้ำหนักสุทธิ

ฉลากสินค้า มี 2 ลักษณะ คือ

  • แบบสติ๊กเกอร์ สามารถหาซื้อได้ที่ FAMA ทุกสาขาราคา 10 ริงกิต ต่อ 100 แผ่น
  • แบบ Pre-printed จะต้องได้รับการอนุมัติจาก FAMA โดยกรอกแบบฟอร์มพร้อมค่าธรรมเนียม 100 ริงกิตต่อการขอหนึ่งครั้ง และจะต้องจ่ายอีก 2 เซ็นต่อหนึ่งหีบห่อแก่ FAMA ด้วย
4. ขั้นตอนการดำเนินการ

ผู้นำเข้าสินค้าผลไม้สด ผักสดและไม้ตัดดอก จะต้องดำเนินการก่อนนำเข้ามายังมาเลเซีย คือ

(1) ต้องคัดเกรดสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบฯ

(2) ต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตามระเบียบฯ โดยมีขนาดบรรจุไม่เกิน 30 กก.

(3) ต้องติดฉลากสินค้าให้ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบฯ

(4) การตรวจสอบสินค้า ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของ FAMA ตามจุดชายแดน ด่านศุลการกรและท่าเรือขนส่งสินค้า โดยเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือ Certificate of Conformity Inspection ให้ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการตรวจสอบด้วย ซึ่งหากสินค้าไม่ผ่านการตรวจสอบ ผู้ประกอบการจะต้องนำสินค้ากลับภายในเวลาที่กำหนดและหากไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่สามารถทำลายหรือดำเนินการใดๆกับสินค้าดังกล่าวได้

(5) หากไม่ปฎิบัติตามระเบียบใหม่ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิตหรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ภาวะการค้าผลไม้สด ผักสดและไม้ตัดดอกระหว่างมาเลเซียและไทย

มาเลเซียส่งออกและนำเข้าสินค้าผลไม้สด ผักสดและไม้ตัดดอกจากไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าทั้งหมด 21.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 18.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2551 มาเลเซียนำเข้าจากไทย 20.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯและส่งออก 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยในส่วนของการนำเข้าผลไม้สดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่า 4.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 4.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าผลไม้ที่มาเลเซียนำเข้าจากไทย คือ มะม่วง มังคุด ลำไยและเงาะ

ส่วนสินค้าผักสดที่มาเลเซียนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่า 14.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 10.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าผักที่มาเลเซียนำเข้าจากไทย คือ มันสำปะหลัง หอมแดงหอมใหญ่ พริกหยวกและพืชผักตระกูลถั่ว

มาเลเซียมีการนำเข้าสินค้าไม้ตัดดอกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่า 0.037 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 0.036 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าไม้ตัดดอกที่นำเข้าได้แก่ กล้วยไม้

6. ข้อคิดเห็น

6.1 การออกระเบียบฉบับนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกผลไม้และผักสดจากประเทศไทยส่วนสินค้าไม้ตัดดอก จะไม่ส่งผลกระทบเนื่องจากมาเลเซียมีการนำเข้าน้อยมาก จากการสำรวจตลาดสินค้าผลไม้และผักสด ในมาเลเซีย พบว่า สินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย จีน เกาหลี ได้มีการคัดเกรดและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ในขณะที่สินค้าที่มาจากประเทศไทยส่วนใหญ่มีลักษณะรวมหลายเกรดและบรรจุในลังพลาสติก/ถุงพลาสติก ซึ่งหากมีการบังคับใช้ระเบียบฯในปีหน้า อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของสินค้า

6.2. การประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลต่อผู้ประกอบการไทย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อระเบียบนี้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลมาเลเซียจะเข้มงวดกับการนำสินค้าผักผลไม้สด ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ความรู้ต่อผู้เกี่ยวข้อง การจัดอบรมผู้ประกอบการโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก FAMA ไปให้ความรู้ หรือ จัดคณะผู้แทนไทยจากรัฐหรือเอกชนไทย เข้าพบหน่วยงาน FAMA ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลได้ชัดเจนเช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ