เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตาเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างนาย Barack Obama วุฒิสมาชิกรัฐ Illinois จากพรรค Democrat และนาย John McCain วุฒิสมาชิกรัฐ Arizona จากพรรค Republican ว่า ใครจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปแทนนาย George W. Bush ที่จะครบวาระการบริหารประเทศในเร็วๆ นี้ และคาดว่าทุกคนคงทราบผลการเลือกตั้งดังกล่าวแล้วว่า ในที่สุด นาย Obama ก็เป็นชาวผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ ที่สามารถกำชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผล Electoral Vote อยู่ที่ 365 ต่อ 162 และ Popular Vote อยู่ที่ร้อยละ 52.6 ต่อ 46.1
ในประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน ทั้งชาวญี่ปุ่นและบรรดาผู้นำระดับสูงของภาครัฐและเอกชนต่างก็ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากทุกคนต่างทราบดีว่า การดำเนินนโยบายของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางและ ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระหว่างประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรี Taro Aso ของญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยแสดงความยินดีกับชัยชนะของนาย Obama และหวังว่า ประเด็นระดับโลกต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การก่อการร้ายและสิ่งแวดล้อม จะได้รับการแก้ไข โดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ มากว่า50 ปี พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เพื่อความสงบสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้นาย Kawamura ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นจะคงความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดในการจัดการกับปัญหาอาวุธนิวเคลียร์และการลักพาตัวของเกาหลีเหนือ รวมถึงนาย Chii หัวหน้าพรรค Communist แสดงความเห็นว่า ชัยชนะของนาย Obama เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการปฏิเสธนโยบายเกี่ยวกับอิรักและนโยบายเศรษฐกิจของพรรค Republican ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Bush ของชาวอเมริกัน
สำหรับภาคเอกชนญี่ปุ่น Keidanren หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความยินดีต่อนาย Obama ที่ชนะการเลือกตั้ง รวมทั้งกล่าวถึงโอกาสที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้บริหารประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ การเงินโลก และการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Keidanren คาดหวังถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ
การที่สหรัฐฯ เปลี่ยนผู้นำจากนาย Bush เป็นนาย Obama ได้รับการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศญี่ปุ่นและโลกดังนี้
1. นักวิชาการญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนาย Obama นโยบายเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลงทุนโดยรัฐ และการสร้างงาน จะเป็นสิ่งที่ได้รับการผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อญี่ปุ่นผ่านการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
2. การที่ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินทั้งหลาย จะส่งผลให้ตลาดการเงินของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นและส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวหากสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว พรรค Democrat ของนาย Obama อาจกลับไปหาแนวทางปกป้องผลประโยชน์ของตนก็เป็นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป
3. หากมองลึกลงไป รัฐบาลญี่ปุ่นมีทั้งความคาดหวังและกังวลใจในการร่วมมือกับสหรัฐฯในยุคใหม่นี้ โดยในด้านสินค้าเกษตรและการค้าระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯ อาจมีการผลักดันมาตรการใหม่ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนออกมา เช่น การผลักดันให้นานาชาติยอมรับมาตรฐาน ความปลอดภัยด้านอาหารของสหรัฐฯ ในสินค้าที่มีปัญหาในการส่งออกมายังต่างประเทศในปัจจุบันเช่น เนื้อวัว รวมถึงการผลักดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดข้าวซึ่งได้มีการชะลอไปก่อนหน้านี้ เป็นต้น ดังนั้นญี่ปุ่นจำต้องจับตามองนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง
4. กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) เห็นว่า สิ่งที่น่ากังวล คือการที่สหรัฐฯ จะเพิกเฉยต่อมาตรการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม (การลด Co2 ในชั้นบรรยากาศโลก)ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน และหันไปกำหนดกรอบใหม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม (Post KyotoConvention) เนื่องจากคาดว่าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญต่อจีน (ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม) มากขึ้น
5. Mizuho Research Institute คาดว่า การเจรจาการค้ารอบ Doha ภายใต้ WTO มีแนวโน้มที่จะได้ข้อสรุป เนื่องจากรัฐบาลของนาย Obama จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศนอกเหนือไปจากนั้น นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปิดเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาจได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากนโยบาย USTR ของสหรัฐฯ ที่ต้องการเร่งการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ เช่น สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะขยายขอบเขตการเปิดเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวมสหรัฐฯ เข้าไปด้วยในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th