เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2551 นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (3 จากซ้าย)ได้นำ ฯพณฯ ลาธาร์ เร็ดดี (H.E. Mrs. Latha Reddy) (7 จากซ้าย) พร้อมคณะผู้บริหารสภาหอการค้าอินเดีย ซึ่งเป็นนักธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เช่น เหล็ก พลังงาน รถยนตร์ ภาคการเงินการธนาคารและการลงทุน อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยี และภาคการศึกษา จากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (North Eastern Region : NER) ได้เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ นายไชยยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (6 จากซ้าย) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ไทย-อินเดีย โดยเฉพาะการขยายการค้าการลงทุนของไทยไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
โดยนายไชยยา ได้เปิดเผยว่า “อินเดียถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงซึ่งไทยได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายการค้าการลงทุน โดยเฉพาะในภูมิภาค NER ซึ่งมีประชากรถึงพันล้านคน และเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลอินเดียได้อัดฉีดงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้กว่า 5 แสนล้านรูปีภายใน 10 ปีข้างหน้าอย่างไรก็ดี ไทยและภูมิภาค NER ของอินเดีย มีพม่าและบังคลาเทศเป็นประเทศคั่นกลางอยู่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค BIMSTEC ซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล และไทย เป็นเวทีในการพัฒนาให้เป็นประตูการค้าการลงทุนระหว่างไทยสู่เอเชียตะวันออกคือจีน และตลาดเอเชียใต้สู่บังคลาเทศและภูฎาน”
นอกจากนี้ ไทยได้มีโครงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมแสดงสินค้าในประเทศอินเดีย เช่น งาน India International Trade Fair ที่ Delhi, Chandigarh, Guwahati และ Shillong รวมทั้งงาน Thailand Exhibition ที่เมืองบังกาลอร์ เมืองเชนไน และเมืองมุมไบด้วย
นอกจากนี้ นายราเชนทร์ ได้เปิดเผยว่า “ปัจจุบันไทย-อินเดีย ได้มีการเจรจาเขตการค้าเสรีไปแล้ว 3 กรอบ ได้แก่ เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (FTA ไทย-อินเดีย) อาเซียน-อินเดีย และ BIMSTEC โดยกรอบ FTA ได้กำหนดประเภทสินค้าที่ทยอยลดภาษีเป็น 0% (Early Harvest Scheme) ตั้งแต่ 1 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น 82 รายการ ซึ่งจะเป็นการขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียมากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ การก่อสร้าง การท่องเที่ยว พลังงาน และอาหารแปรรูป”
ที่ผ่านมา อินเดีย เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของโลก มีมูลค่ารวม 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าอินเดีย 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก เหล็ก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญจากอินเดีย ได้แก่ เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th