จาก E-Tail Business ถึง Rag trade: ธุรกิจ on-line ที่นับวันมีบทบาทเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2008 12:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าอิเลคทรอนิกส์ (online-shopping)ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวิธีการค้าที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มความสะดวก สบาย และสนองความต้องการซื้อที่หลากหลายของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ การขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตในอดีต มักจะเน้นกลุ่มของใช้ เช่น เครื่องไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ดิวีดีเพลงและภาพยนต์ หนังสือเครื่องสำอาง และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีมาตรฐาน และรูปแบบของสินค้าไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เมื่อผู้ซื้อมั่นใจและคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต สินค้าที่ซื้อขายผ่านเวปไซด์จึงขยายไปยังกลุ่มใหม่ๆ เช่น อาหารสด สินค้าอุปโภค-บริโภคในชีวิตประจำวันของครัวเรือน ไปสู่การสั่งซื้อ และสั่งตัดเสื้อผ้า ชุดสูท ตลาดที่ขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางการค้าปลีกอิเลคทรอนิกส์หรือ e-tail (electronic retailing)จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และในวงกว้างยิ่งขึ้น มูลค่าการค้าอิเลคทรอนิกส์ในญี่ปุ่นจึงมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและจัดว่ามีมูลค่าขายปลีกสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ผู้นำในตลาด e-tail สินค้าอุปโภค-บริโภค รายใหญ่ในญี่ปุ่นคือ Rakuten Ichiba (ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า40 ล้าน) และ Amazon.com Inc. ซึ่งต่างก็แข่งขันกันแย่งชิงลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และรายที่เพิ่งทดลองซื้อสินค้าทาอินเตอร์เน็ต Mr. Hiroshi Mikitani, CEO บริษัท Rakuten Ichiba กล่าวว่าบริษัทได้เริ่มบริการใหม่เมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ เรียกว่า Asuraka Service ด้วยบริการส่งสินค้าที่สั่งซื้อภายในวันรุ่งขึ้น (Asu มีความหมาย ว่าวันพรุ่งนี้) กล่าวคือ หากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าภายในเที่ยงวันนี้ สินค้าจะส่งถึงบ้านภายในเที่ยงวันรุ่งขึ้น ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นของที่เน่าเสียง่าย อาหาร เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ สินค้าที่ขายยังมีมากถึง 53,000 รายการ นับแต่เริ่มให้บริการปรากฎมีลูกค้าสั่งซื้อเฉลี่ยมากถึง 3,000 รายต่อวัน บริษัทตั้งเป้าว่ามูลค่าการขายของ Asuraka Service จะมีมูลค่าประมาณ 100 พันล้านเยน (หรือ1.05 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี พ.ศ. 2554-2555 ปัจจุบันการซื้ออาหาร on-line (on-line shopping) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์มาขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตด้วยแต่การส่งสินค้าของห้างฯ ก็ยังจำกัดเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นนอกเหนือจากการขายสินค้า Rakuten Ichiba ยังให้บริการรับจองโรงแรม เครดิตคาร์ด และเป็นนายหน้าค้าหุ้นทางอินเตอร์เน็ต ล่าสุดบริษัทได้เพิ่มธุรกิจ e-Bank ด้วย Mr. Mikitani กล่าวว่า ต่อไปบริษัทจะพัฒนาบริการ จาก Asuraka Service (ส่งวันรุ่งขึ้น) เป็น Kyoraku หรือส่งภายในวันนี้ (Kyo แปลลว่าวันนี้)

Amazon Japan K.K. ซึ่งบริหาร shopping site ชื่อ amazon.co.jp ได้เริ่มจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอร์ ทางเวปไซด์ เมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา มีสินค้ารวมกันประมาณ 20,000 รายการ และเริ่มให้บริการส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน แก่ลูกค้าในเขตโตเกียว ปรากฎว่ายอดขายของ Amazon.com ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 30.7% มียอดขายรวม 4.26 พันล้านดอลลาร์ ผู้บริหารบริษัทกล่าวว่าจุดขายสำคัญของบริษัทคือ ราคาถูก มีสินค้าให้เลือกจำนวนมาก และบริการส่งมอบสินค้าให้ฟรีและรวดเร็ว

ลูกค้าของ Rakuten Ichiba และ Amazon.com มีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ผู้อยู่ในวัยทำงาน แม่บ้าน และผู้สูงอายุ ในยุควิกฤษเศรษฐกิจและราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคต่างก็ประหยัดและแสวงหาแหล่งซื้อสินค้าราคาถูกธุรกิจ e-tail จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค เพราะสามารถประหยัดทั้งเวลา และค่าเดินทาง ได้สินค้าที่ต้องการอย่างรวดเร็วและโดยไม่ต้องถือสัมภาระให้ยุ่งยากและเหนื่อย

การสำรวจของ The Nikkei Marketing Journal จึงพบว่า ตลาดขายตรงทางอินเตอร์เน็ตขยายตัวถึง 21.4 % ในปี 2550 เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังพบสิ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ(อายุ 60 ปีและมากกว่า) ซึ่งมีเวลาว่าง และชอบออกไปจับจ่ายซื้อของสดรายวัน เป็นกลุ่มลูกค้าที่จุกจิกและร้านค้าต้องเอาใจ ต่างหันมาซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

ธุรกิจการรับตัดเสื้อสูทบุรุษและสตรี ทางอินเตอร์เน็ต เป็นอีกสาขาหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมาก คือการสั่งตัดเสื้อผ้า โดยเฉพาะสำหรับบุรุษ-สตรีวัยทำงานซึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่ไม่ค่อยมีเวลาไปเดินหาซื้อสูทตามร้าน บริษัทรับสั่งตัดสูทในญี่ปุ่นมีรายใหญ่ แข่งขันกันหลายราย ซึ่งล้วนมุ่งขยายฐานและแย่งชิงลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มบริการ on-line ให้ลูกค้าเลือกชมและสั่งซื้อสินค้าที่ลูกค้าต้องการในเวลารวดเร็ว บริษัทที่เป็นผู้นำตลาด เช่น

  • Aoyama Trading Co., จึงเริ่มให้บริการ on-line (URL : www.y-aoyama.jp.eshop) เพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาว่างที่สะดวก อาจจะใช้เวลาช่วงดึกที่บ้านเข้าดูข้อมูลในเวปไซด์ แล้วเลือกแบบ เนื้อผ้า และสีที่ต้องการพร้อมแจ้งวัน เวลา และระบุสาขาที่สะดวกจะไปปลองสวม หลังจากลองแล้ว บริษัทก็ให้ทางเลือกว่าจะซื้อ พร้อมนัดวันมารับ หรือยกเลิก เพื่อลดความกังวลของลูกค้าและไม่ให้เกิดปัญหา หากลูกค้าพบว่าเนื้อผ้าที่ตัดผิดไปจากที่คิด หรือไม่ชอบใจในรูปทรงเมื่องลองสวมใส่ บริการ on-line นี้ยังเสนอขายสินค้าที่เรียกว่า Net-only Items มากกว่า 80 รายการในราคาลด 20 % ซึ่งลูกค้าไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านทั่วไป จึงเป็นการเพิ่มความสะดวกที่ร้านขายปลีกทั่วไปไม่มี
  • Only Corp., บริษัทผลิตและขายปลีกชุดสูทสำหรับบุรุษอีกบริษัทหนึ่ง เริ่มขายสินค้าทาง on-line ทางเวปต์ The@SuperSuitsStore.com นำเสนอภาพสามมิติเพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงรูปแบบต่างๆ มากกว่า 400 แบบ เหมือนการเข้าไปเลือกซื้อในร้าน
  • Konaka Co., บริษัทรับสั่งตัดสูทสำหรับบุรุษ และสตรี กำลังเสนอขายสินค้าใหม่ “Shower Clean Suits” ซึ่งตัดเย็บจากเนื้อผ้าพิเศษ ง่ายต่อการชำระล้างสิ่งสกปรกและกลิ่นโดยใช้น้ำเปล่า ที่สำคัญไม่ต้องรีด จึงได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับบุรุษวัยทำงานที่ต้องการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการซักแห้ง ผู้ต้องการซื้อสามารถสั่งตัดทางอินเตอร์เน็ต โดยแจ้งขนาด จากนั้นร้านจะปรับแก้ให้เหมาะสมกับขนาดของลูกค้า
  • Haruyama Trading Co. เริ่มให้บริการ และรับสั่งซื้อทั้งทางโทรศัพท์มือถือ และทางอินเตอร์เน็ตภายใต้ concept : “Perfect Suit Factory” มีจุดขายเหมือนกับบริษัทอื่นๆ คือ เน้นตลาดวัยรุ่นและผู้ที่เริ่มทำงาน
สรุปและความเห็น

ธุรกิจ e-Business ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสและช่องทางการค้าใหม่ๆ พัฒนาการอย่างรวดเร็วของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT : Information Technology) ทำให้ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์ใหม่ แพร่กระจายจากผู้ผลิต/ผู้ขายสินค้า ไปยังผู้บริโภคในลักษณะ real time ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่มากมาย สามารถสื่อสารกับผู้ขายได้ตลอดเวลาทั้ง จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน จากที่พัก จากโทรศัพท์มือถือ และสื่อต่างๆ แม้ว่าบทบาทของห้าง ร้านค้าจะยังคงมีความสำคัญ แต่ด้วยลูกค้า หรือผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น การแข่งขันกันให้บริการจึงมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ e-Business, e-Tailing และ e-Commerce จึงไม่ใช่เพียงการนำระบบ IT มาใช้ในการขายสินค้า แต่ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จเกิดจากองค์ประกอบหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันเช่นระบบบริหารจัดการด้าน Logistic ในการให้บริการ การบริหารระบบคลังสินค้าและขนส่ง และบริการส่งมอบ ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว การให้ข้อมูลของสินค้าและการสื่อสารกับผู้ซื้อที่ทำให้รู้สึกได้เหมือนการสัมผัสเข้าเลือกชมสินค้าในห้างร้านด้วยตัวเอง รวมถึงการสร้างความเชื่อถือและมั่นใจในคุณภาพสินค้า จุดขายที่สำคัญอื่นๆ เช่น มีสินค้าหลากหลาย และต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่าเขาได้รับประโยชน์ที่เหนือกว่า เช่น ราคาถูกกว่า มีสินค้ารายการพิเศษที่ไม่มีขายที่อื่น เป็นต้น

การขายผ่าน e-tail สามารถขยายได้อย่างไม่จำกัดขอบเขต และก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับตลาดค้าส่งสำหรับสินค้าส่งออกได้เช่นกัน ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการซื้อในตลาดอิเลคทรอนิกส์จึงไม่เป็นการยากหากผู้ผลิตและส่งออกไทยร่วมมือกันจะสร้าง e-tail สินค้าไทย on-line ขึ้น เช่น “Thai Ichiba.com” (Ichiba แปลว่าตลาด)เพื่อให้เป็นตลาดค้าส่งทางอิเลคทรอนิกส์สำหรับสินค้าไทยในตลาดโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเศ ณ กรุงโตเกียว

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ