สินค้าผักผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็งของไทยในตลาดเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2008 08:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ส่วนแบ่งสินค้าเกษตรในตลาดเยอรมนี

ในด้านการค้าต่างประเทศของเยอรมนี นั้น ประมาณร้อยละ 60 จะเป็นการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้ามากที่สำคัญๆ ได้แก่ ผัก/ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง นมเนยและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช (ข้าวสาลี ข้าวไรย์) เนื้อสัตว์และอาหารทะเล เป็นต้น สำหรับ การค้ากับประเทศไทย นั้น ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดเยอรมนีประมาณร้อยละ 0.4 โดยที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าทั้งสิ้นไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลกเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศหลักที่ส่งออกไปได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาดโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 15, 12, 9 และ 6 ตามลำดับ สำหรับประเทศในยุโรปที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี มีส่วนแบ่งตลาดโดยเฉลี่ยร้อยละ 3, 2.5 และ 2 ตามลำดับ เฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยส่งออกในแต่ละปีเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศหลักที่ส่งออกไปได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและมาเลเชียมีส่วนแบ่งตลาดโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 19, 16, 7.5 และ 6 ตามลำดับ สำหรับประเทศในยุโรปที่ไทยส่งออกไปมาก ได้แก่ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี มีส่วนแบ่งตลาดโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.5, 2.0 และ 1.5 ตามลำดับ

2. ความต้องการสินค้าอาหารในตลาดเยอรมัน

ตลาดในเยอรมนีมีความต้องการ สินค้าอาหารแปรรูป ในแต่ละปีมีมูลค่าสูงโดยเฉพาะสินค้าในตลาดบน นอกเหนือจากการผลิตในประเทศที่มีมูลค่าปีละกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้วจากสถิติของ World Trade Atlas เยอรมนีทำการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 64,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20) ฝรั่งเศส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11) อิตาลี (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9) สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.6 สินค้าของไทยที่เยอรมนีนำเข้ามากที่สำคัญๆ ได้แก่ อาหารทะเล ไก่แปรรูปผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์ทำจากแป้ง ประเภทเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ของขบเคี้ยว เป็นต้น สำหรับอาหารสำเร็จรูป พร้อมรับประทาน เช่น แกงเผ็ดต่างๆ ส่วนใหญ่จะได้รับความสนใจ นิยมบริโภคโดยชาวเอเชีย หรือชาวเยอรมันที่คุ้นเคยกับประเทศไทย เนื่องจากมีการใช้เครื่องปรุง/เครื่องเทศมากมีรสชาดจัด แตกต่างกับอาหารพื้นเมืองของเยอรมันมาก จึงยังไม่เป็นที่นิยมของชาวเยอรมันเท่าใดร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอาหารสำเร็จรูปของไทยส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าของชำอาหารชาวเอเชีย และห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในเมืองที่มีชาวต่างชาติอยู่อาศัยจำนวนมาก

3. การเพาะปลูกพืชผักผลไม้ในประเทศ

โดยเฉลี่ยเยอรมนีจะมีผลผลิตพืชผักและผลไม้ในประเทศปีละประมาณ 5 ล้านตัน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณสินค้าในตลาด ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน เป็นต้น กล่าวเฉพาะพืชผัก เยอรมนีมีผลผลิตในประเทศประมาณปีละ 3.5 ล้านตัน ที่สำคัญๆ ได้แก่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ แตงกวา หัวหอม พริกหยวก แครรอทและหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) ฯลฯ เป็นต้น ส่วนผลไม้เยอรมนีผลิตเองได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน ที่สำคัญๆ ได้แก่ องุ่น แพร์ แอ๊ปเปิ้ล เชอรี่ ฯลฯ เป็นต้น

4. ความต้องการสินค้าผักและผลไม้สด

เยอรมนีจัดเป็นตลาดสินค้าผักผลไม้ที่ใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป มีขนาดตลาดเชิงปริมาณปีละกว่า 20 ล้านตัน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เป็นคนเยอรมันประมาณ 75 ล้านคน และชนกลุ่มน้อยชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี อาทิ ชาวตุรกี ชาวยุโรปตะวันออก ชาวเวียตนาม ชาวไทยและชาวเอเซียอื่นๆ ประมาณ 8 ล้านคน เยอรมนี จึงนับเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าผักและผลไม้ที่น่าสนใจ

5. ผักและผลไม้สดของไทย

ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548 — 2550) ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ไปยังต่างประเทศเป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 942,000 ตัน มูลค่ากว่า 655 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออกเป็นปริมาณ 838,540 ตัน มูลค่า 603.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และ 8.9 ตามลำดับ ตลาดส่งออกและส่วนแบ่งของประเทศที่สำคัญๆ ได้แก่ จีน (18 %)ญี่ปุ่น (16 %) ฮ่องกง (9 %) อินโดนีเชีย (8 %) และสหรัฐ (7 %) สำหรับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.7 ที่สำคัญๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร (4.0 %) เนเธอร์แลนด์(3.3%) ฝรั่งเศส (1.5%) และเยอรมนี (1.2%)

6. ผักและผลไม้สดของไทยที่ส่งออก

6.1 ภาพรวม ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548 — 2550) ผักและผลไม้สดที่ไทยส่งออกมากสูงสุดจะเป็น ทุเรียน (พิกัด 081060) เป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 142,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 68.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออกจำนวน 175,668 ตัน มูลค่า 82.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 และ 18.1 ตามลำดับ รองลงมาเป็น หัวหอม ต้นหอมผักสดต่างๆ (พิกัด 081340) มีการส่งออกในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 118,167 ตัน มูลค่า 71.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 75,153 ตัน มูลค่า 50.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 และ 44.4 ตามลำดับ มะม่วง ฝรั่ง มังคุด (พิกัด 080450) มีการส่งออกในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 118,167 ตัน มูลค่า 71.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 45,531 ตัน มูลค่า 25.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 และ 8.1 ตามลำดับ

6.2 การส่งออกไปสหภาพยุโรป สินค้าไทยที่ส่งออกมากไปยังสหภาพยุโรปในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2548 — 2550) จะเป็น ผักสดต่างๆ (พิกัด 070990) เป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 16,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 40.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 9,913 ตัน มูลค่า 29.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 14.6 และ 9.4 ตามลำดับ รองลงมาเป็น ขิงข่า ขมิ้น เครื่องเทศต่างๆ (พิกัด 0910) มีการส่งออกในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเป็นประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 4,524 ตัน มูลค่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออกเป็นจำนวน 5,263 ตัน มูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และ 46.3 ตามลำดับ

ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วยกัน ไทยส่งออกผักและผลไม้สดมากสูงสุดไปยังสหราชอาณาจักร เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 35.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2551 มีการส่งออกเป็นมูลค่า 24.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 4 ของการส่งออกรวมไปสหภาพยุโรป มูลค่าลดลงร้อยละ 15.7 รองลงมาส่งออกมากไปยัง เนเธอร์แลนด์ เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออกเป็นมูลค่า 20.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 และฝรั่งเศส ส่งออกเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 10.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค. - ส.ค.) มีการส่งออกเป็นมูลค่า 9.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.5 ของการส่งออกรวมไปยังสหภาพยุโรป มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9

สำหรับ เยอรมนีมีการส่งออกโดยเฉลี่ยเป็นปริมาณปีละ 4,430 ตัน มูลค่า 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 2,845 ตัน มูลค่า 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐปริมาณลดลงร้อยละ 12.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ชนิดของผักและผลไม้ที่ไทยส่งออกไปเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญๆ สำหรับผัก ได้แก่ ข้าวโพดหวาน (sweet corn) ขิง ตะไคร้ พริก โหระพาพืชตระกูลถั่ว มะเขือ หอม หน่อไม้ฝรั่ง และสมุนไพรต่างๆ ฯลฯ ส่วนผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ลำไยมะละกอ มะม่วง มะพร้าวอ่อน มังคุดและผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ

5. อัตราภาษี

5.1 ผักและผลไม้ของไทยจะมีอัตราภาษีนำเข้าระหว่าง ร้อยละ 0 — 6.1

5.2 สินค้าที่คล้ายคลึงกับผลผลิตในประเทศจะคิดภาษีนำเข้าตามน้ำหนักสินค้า เช่น ข้าวโพดฝักอ่อน (พิกัด 08106000) อัตราปกติ 9.40 ยูโร/ 100 กก. และบางชนิดจะเพิ่มเปอร์เซนต์อีกด้วย เช่น กระเทียม (พิกัด 0703 20 00) ภาษี 9.60 % + 120.00 ยูโร / 100 กก.

6. ช่องทางการตลาด

สินค้าผักสดและผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปเยอรมนีจะเป็นการขนส่งโดยทางอากาศเท่านั้นเนื่องจากยังเป็นสินค้าที่เก็บรักษาได้ไม่นาน มีอายุประมาณ 10 — 14 วันก็จะเริ่มเหี่ยว เน่าและเสียในที่สุด สนามบินหลักในยุโรปสำหรับการขนส่งที่สำคัญๆ ได้แก่

1. ปารีส — ชาลส์ เดอ โกย์ ประเทศฝรั่งเศส

2. แฟรงก์เฟริต ประเทศเยอรมนี

3. อัมสเตอร์ดาม — ชิโพล ประเทศเนเธอร์แลนด์

4. ลอนดอน - ฮีทโรว์ ประเทศอังกฤษ

5. มิวนิค — ฟรานซ์ โจเซฟ สเตร๊าส์ ประเทศเยอรมนี

ในส่วนของเยอรมนี สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะนำเข้าโดยเจ้าของกิจการนั้นๆ ส่วนหนึ่งเพื่อการจำหน่ายในร้านค้าและสาขาของตนเอง ที่จะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนเอเชียพักอาศัยกันอยู่มาก โดยเฉลี่ยมีปริมาณการจำหน่ายสัปดาห์ละประมาณ 30 — 100 กิโลกรัมต่อสาขาและอีกจำนวนหนึ่งตามห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่นั้นๆ ซึ่งจะมีการจำหน่ายประมาณสัปดาห์ละ20 — 40 กิโลกรัมต่อสาขา นอกเหนือจากนี้จะมีกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ได้แก่ ร้านค้าปลีกของชำชาวเอเชียขนาดเล็ก ซุปเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคารอาหารไทย อาหารเอเชีย เป็นต้น ซึ่งกิจการเหล่านี้ยังไม่สะดวกที่จะนำเข้าสินค้าด้วยตนเอง เนื่องจากสินค้าเป็นปริมาณที่เล็กน้อย นอกจากนี้ยังไม่สันทัดในเรื่องการทำพิธีผ่านด่านศุลกากร ที่ต้องใช้เวลาและในปัจจุบันมีความเข้มงวดในเรื่องสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และตามกฏหมายผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบความเสียหายและอันตรายต่างๆ ที่อาจจะ เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ได้

7. สรุปความเห็นและข้อเสนอแนะ

7.1 เยอรมนีเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าผักและผลไม้สด และโดยที่เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรม พื้นที่เพาะปลูกพืชผักและผลไม้จึงมีปริมาณจำกัด ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่มีการบริโภคผลไม้และผักสดโดยเฉลี่ยคนละประมาณ 120 และ 80 กิโลกรัม/ปี ตามลำดับ และมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

7.2 ผักและผลไม้สดที่เยอรมนีนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละปีมีปริมาณและมูลค่าสูงมากแต่ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 90) จะเป็นพืชผักผลไม้เมืองหนาว ในขณะที่ผักและผลไม้จากประเทศไทยเป็นพืชผลเขตร้อน ยังไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากนัก ตลาดหลักส่วนใหญ่ จึงเป็นกลุ่มร้านอาหารไทย ชาวไทยและชาวต่างชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีเป็นสำคัญ โดยร้านค้าของชำตามเมืองใหญ่ๆ จะมีการจำหน่ายเป็นปริมาณระหว่าง 30 — 100 กิโลกรัม/สาขา/สัปดาห์

7.3 ปัจจุบันสินค้าผักผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปเยอรมนีจะยังมีปริมาณและมูลค่าไม่มากนักโดยเฉลี่ยเป็นปริมาณปีละ 4,430 ตัน มูลค่า 8.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2551 (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 2,845 ตัน มูลค่า 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณลดลงร้อยละ 12.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 โดยชนิดของผักและผลไม้ที่ไทยส่งออกไปเยอรมนีในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญๆ สำหรับผัก ได้แก่ ข้าวโพดหวาน (sweet corn) ขิง ตะไคร้ พริก โหระพา พืชตระกูลถั่ว มะเขือ หอม หน่อไม้ฝรั่ง และสมุนไพรต่างๆ ฯลฯ ส่วนผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ลำไย มะละกอ มังคุด มะม่วง มะพร้าวอ่อนและผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ

7.4 จากสถิติการค้าพบว่า ประเทศในสหภาพยุโรป มีการนำเข้าผักผลไม้เมืองร้อนมากที่สุดโอกาสของการขยายตัวทางตลาดสำหรับสินค้าชนิดนี้ในเยอรมนียังมีลู่ทางที่แจ่มใส การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง การสร้างมาตรฐานทางการตลาด การควบคุมโรค แมลงและสารพิษตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาการเก็บรักษาและการบรรจุหีบห่อให้เหมาะสม จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศฯ ณ กรุงเบอร์ลิน

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ