ร้านสะดวกซื้อกับสังคมญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2008 16:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ร้านสะดวกซื้อเป็นสิ่งที่คู่กับสังคมญี่ปุ่น ถ้าใครได้เดินทางมาญี่ปุ่น คงจะต้องแปลกใจกับจำนวนร้านสะดวกซื้อ (convenience store) ซึ่งมีอยู่มากมายโดยเฉพาะในย่านใจกลางเมือง ข้อมูลจากสมาคมแฟรนไชส์ญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2551 มีจำนวนร้านสะดวกซื้อถึง 41,645 ร้านในประเทศญี่ปุ่น

ประวัติของร้านสะดวกซื้อ

ร้านสะดวกซื้อได้ถือกำเนิดในระหว่างปี 1960-1970 โดยเริ่มจากเป็นร้านขายของชำและอาหาร กลางทศวรรษ 1970 เริ่มเปิด 24 ชั่วโมง และในช่วง 1980 เริ่มให้บริการถ่ายเอกสาร ส่งแฟกซ์ รับชำระค่าบริการต่างๆ รับจ่ายภาษี และรับจองบัตรเข้าชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และสวนสนุก ปัจจุบันการให้บริการ 24 ชั่วโมงมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะขายสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนและอาหารแล้ว ยังขายบุหรี่ เหล้า เครื่องเขียน ยา รวมทั้งนิตยสาร และวิดีโอเกม บางร้านมีบริการรับซักแห้งด้วย ร้านสะดวกซื้อจะเน้นความสำคัญของความปลอดภัย และความสดของอาหาร แต่ละที่จะมีการตั้งมาตรฐานของสารปรุงแต่งอาหาร สีประกอบอาหาร คนญี่ปุ่นจะเลือกเข้าร้านสะดวกซื้อตามสินค้า และบริการที่ตนต้องการ เช่น ถ้าจะซื้ออาหารกล่องกลางวันจะต้องซื้อที่ร้านหนึ่ง ขนมอีกร้านหนึ่ง บัตรชมคอนเสิร์ตอีกร้านหนึ่ง เป็นต้น

ร้านสะดวกซื้อในยุคโลกาภิวัตน์

ร้านสะดวกซื้อยังเป็นที่ทำงานของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาต่างชาติ เช่น Lawson ได้ประกาศว่า ในฤดูใบไม้ผลิในปีหน้าจะรับพนักงาน 1 ใน 3 เป็นนักศึกษาต่างชาติ และพยายามเข้าถึงชุมชน Lawson ได้แบ่งประเภทของร้านตามชุมชนที่ตั้ง เช่น “Natural Lawson” จะตั้งอยู่ในเขตย่านธุรกิจ หรือเขตที่ผู้หญิงทำงานอาศัยอยู่ โดยสินค้าจะเน้นข้าวกล่องที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกส์ ขายผงซักฟอก สบู่ และเครื่องสำอางออร์แกนิกส์ “Lawson 100” จับกลุ่มลูกค้าแม่บ้านขายอาหารแปรรูป ในราคา 105 เยน รวมภาษี “Lawson Plus” ตั้งในเขตผู้สูงอายุพักอาศัยขายอาหารสำเร็จรูป ผักผลไม้

นอกจากนี้ ยังมี “ร้านสะดวกซื้อเคลื่อนที่” เริ่มในเมืองโคฟุ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นไหล่เขา และ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในเมืองนี้อายุเกินกว่า 65 ปี ทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก

บทบาทในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้อยังทำหน้าที่เป็นศูนย์แนะนำนักท่องเที่ยว เช่นร้านเซเว่นอิเลฟเว่นในเมืองเกียวโตจะแจกแผนที่ภาษาอังกฤษ และพนักงานจะแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของเมือง เป็นที่ให้บริการครอบครัว และเด็ก เช่นร้าน “Happy Lawson” ที่โยโกฮามาจะมีทางเดินที่กว้างขวางสำหรับรถเข็นเด็ก ขายสินค้า เช่นผ้าอ้อม อาหารเด็ก ของเล่น และมีที่ให้รับประทานอาหารในร้าน ร้านสะดวกซื้อให้ความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว สามารถซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถอนเงิน รับ-ส่งแฟกซ์ เป็นที่ขายของที่ระลึก และสามารถใช้บริการห้องน้ำในยามจำเป็นอีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

Upload Date : 2 ธันวาคม 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ