กฏหมายมูลค่าเพิ่มฉบับใหม่ของเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2008 16:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภานิติบัญญัติแห่งชาติของประเทศเวียดนามได้ผ่านกฏหมายภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 13 /2008 /QH 12 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป โดยกฏหมายฉบับใหม่นี้ได้ออกมาแทนกฏหมายฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2540

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของออกกฏหมายภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับใหม่เพื่อ

(1) ทำให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนสำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อรองรับการผลิตและการค้าที่ขยายตัวมากขึ้น โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้เสียภาษีที่ปฏิบัติตามกฏหมายด้วย

(2) ป้องกันการทุจริตในการเครดิตหรือขอคืนภาษี ซึ่งยากต่อการควบคุมภายใต้กฏหมายและข้อบังคับเดิม

กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะหลังจากประเทศเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อปี 2549 ข้อยกเว้นบางข้อในกฏหมายฉบับเดิมจึงไม่เหมาะสม กฏหมายฉบับใหม่จึงได้แก้ไขในบางประเด็นคือ

เดิม :

กำหนดประเภทของสินค้าและบริการ รวม 28 ประเภทที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนั้นกิจการที่ประกอบกิจการดังกล่าวจึงไม่ได้รับสิทธิในการขอคืนหรือเครดิตภาษีซื้อ ( input vat )

ใหม่ :

  • เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งและวัสดุที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศและต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาผลิตเป็นสินทรัพย์ถาวร จะไม่ได้ รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าอีกต่อไป ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่นเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ยังผลิตไม่ได้ในประเทศและนำเข้ามาเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี และการขุดเจาะ/สำรวจสำหรับกิจการปิโตรเลียม
  • กิจการขนส่งระหว่างประเทศจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% แทนการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฏหมายเดิม ขณะเดียวกันการขายสินค้าและการให้บริการแก่กิจการขนส่งระหว่างประเทศก็จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไป จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ธุรกรรมตราด้านตราสารอนุพันธ์ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของธุรกรรมการเงิน ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าและให้บริการระหว่างกิจการในต่างประเทศกับกิจการในเขตปลอดอากรและการขายสินค้าและให้บริการระหว่างกิจการในเขตปลอดอากร
กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10 %

เดิม :

กำหนดให้สินค้าหรือบริการทุกรายการ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10%

ใหม่ :

กำหนดให้สินค้าและบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะไม่เข้าเงื่อนไขในข้ออื่น ( elimination method ) ดังนั้นสินค้าและบริการใดที่ไม่เข้าลักษณะที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% และ 5% จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10 %

วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนวิธีการบัญญัติกฏหมายก็เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนของกิจการซึ่งสินค้าหรือบริการที่ไม่อยู่ในประเภทที่ระบุไว้

การจดทะเบียน ยื่นแบบ และชำระภาษี

ใหม่ :

ไม่ได้ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษี เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ในกฏหมายการบริหารภาษีแล้ว

เครดิตภาษี
เครดิตภาษีซื้อที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน

เดิม :

กิจการที่มีภาษีซื้อจากการขายทรัพย์สินถาวรจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่ใช้ร่วมกันสำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อเฉพาะส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ที่จะนำมาใช้เป็นเครดิตภาษีได้

ใหม่ :

ภาษีซื้อจากการซื้อทรัพย์สินถาวรเพื่อใช้ในธุรกิจไม่ว่าจะใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ก็ตามสามารถนำมาเครดิตภาษีได้เต็มจำนวน โดยไม่ต้องเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการให้ผลประโยชน์ทางภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนของธุรกิจ

เงื่อนไขการเครดิตภาษีซื้อ

เพื่อควบคุมการใช้เครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น กฏหมายฉบับใหม่ได้เปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในเดือนใดจะต้องนำมาคำนวณและใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนนั้น กรณีที่ผู้เสียภาษีพบว่าได้นำภาษีซื้อมาคำนวณหรือเครดิตผิดพลาดผู้เสียภาษีจะต้องแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น ซึ่งกฏหมายเดิมกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขข้อผิดพลาดไว้เพียง 3 เดือน
  • เป็นครั้งแรกที่กฏหมายบัญญัติให้ผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการผ่านธนาคารเพื่อสามารถนำหลักฐานมาใช้เครดิตภาษีซื้อได้ ยกเว้นการซื้อสินค้าและบริการในแต่ละครั้งซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านด่อง
ความเห็น

การส่งออกบริการมีความซับซ้อนกว่าการส่งออกสินค้าซึ่งเพียงสินค้าข้ามพรมแดนก็ถือว่าเป็นการส่งออกแล้ว แต่ธุรกิจบริการบางประเภท เช่น การให้บริการทางการแพทย์สามารถกระทำได้ทั้งการให้บริการแก่คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาในประเทศ การให้บริการโดยเข้าไปตั้งโรงพยาบาลเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าต่างชาติและการให้บริการโดยบุคคลธรรมดา ( เช่น แพทย์และพยาบาล ) รวมทั้งการให้บริการผ่านทางอิเลคทรอนิกส์ ( เช่น Tele — medicine )

กฏหมายฉบับใหม่ ( มาตรา 8 ) กำหนดให้การบริการที่ส่งออกจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% แต่ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่าอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการให้บริการส่งออก ดังนั้นย่อมเกิดปัญหาในการตีความซึ่งในทางปฏิบัติมักจะใช้แนวคิดแบบเดิมและมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งนี้อาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อผู้ซื้อบริการในต่างประเทศ เพราะบางกลุ่มของสินค้าและบริการซึ่งเดิมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5% ตามกฏหมายฉบับใหม่เปลี่ยนเป็นเก็บในอัตรา 10%

ข้อมูลจาก Deloitte Touche Tomatsu

รายงานโดย สคต.นครโฮจิมินห์

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ