ผลกระทบด้านการค้าจากกรณีวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกาและการปิดสนามบิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 4, 2008 11:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามและมีผลต่อเนื่องถึงการส่งออกของไทย

1. การส่งออกของเวียดนามลดลง เพราะลูกค้าสำคัญ เช่นสหรัฐฯ (20%) สหภาพยุโรป(18%) ญี่ปุ่น (13%) ล้วนแล้วแต่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจและลดคำสั่งซื้อลงหรือแม้แต่ขอระงับสัญญาซื้อที่ทำไว้ การส่งออกของเวียดนามในเดือนพ.ย. 51 เป็น 4.8 พันล้าน USD ลดลง 4.83% จากเดือนที่ผ่านมา

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ราคาสินค้าส่งออกสำคัญได้ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะข้าวและน้ำมันดิบลดลงอย่างละ 60% กาแฟลดลง 30% ยางพาราลดลง 55% เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในช่วงต้นปี ส่วนการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าแม้คาดว่าจะมีรายได้ จากการส่งออกทั้งปี 2551 เป็นมูลค่า 9.2 พันล้านUSD แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้า 9.5 พันล้าน USDและอาหารทะเลคาดว่าจะส่งออกได้ 4.25 พันล้าน USD ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 4.5 พันล้าน USD

เวียดนามได้ปรับลดเป้าการเติบโตของการส่งออกปี 2552 จาก 18% เหลือเพียง 13%

2. การผลิตในประเทศลดลง จากการที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับยอดจำหน่ายตกต่ำ มีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมากทำให้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 หลายอุตสาหกรรมต้องลดการผลิตลง การเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นเพียง 15% ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามใช้นโยบายเข้มงวดการให้สินเชื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีอัตราสูงถึง 20% ทำให้ SMEs จำนวน 60,000 รายต้องประสบปัญหากำลังจะล้มละลายในจำนวนนี้ 30,000 รายได้หยุดดำเนินกิจกรรมแล้ว ผลกระทบที่มีต่อการส่งออกของไทย

  • รัฐบาลเวียดนามยังคงพยายามควบคุมมิให้เกิดการขาดดุลการค้ามากเกินไป เมื่อการส่งออกลดลงจึงลดการนำเข้าใช้มาตรการขยายตลาดในประเทศมากขึ้น
  • จากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามลดลง เวียดนามจึงลดการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ วัสดุ เครื่องมือและเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมลง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2551 การนำเข้าของเวียดนามมีมูลค่าเพียง 5.3 พันล้านUSD ลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 7.11%

จากสถิติล่าสุดของ Ministry of Industry and Trade ในเดือน พ.ย.51 เวียดนามนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเป็นมูลค่า 1 พันล้านUSD ลดลงจากเดือนตุลาคม 8.5% นำเข้าเหล็ก 250,000 ตัน มูลค่า 292 ล้านUSD ปริมาณและมูลค่าลดลง 5.3% และ 5.1% ตามลำดับ นำเข้าวัตถุดิบ เช่น กระดาษ เครื่องตกแต่ง เสื้อผ้า เป็นต้น ลดลง 3 — 20%

ทั้งนี้ สินค้าที่เวียดนามนำเข้าลดลงส่วนใหญ่เป็นสินค้าเป้าหมายส่งออกของไทยและเวียดนามนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 7 รองจากจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ดังนั้นการที่เวียดนามนำเข้าลดลง ย่อมส่งผลต่อการส่งออกของไทยด้วย

ผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน

1. คนไทยจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาท่องเที่ยว แข่งขันกีฬาและร่วมงานVietnam Telecom Exhibition 2008 ณ นครโฮจิมินห์ระหว่าง 26 — 29 พ.ย. 51 ตกค้างในเวียดนามซึ่งบางส่วนต้องยินยอมจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินให้กับสายการบินต่างชาติในราคาที่สูงกว่าปกติมาก เช่น ราคาตั๋วเครื่องบินเวียดนามแอร์ไลน์จากนครโฮจิมินห์ไปกรุงเทพฯ เดิมราคาไป-กลับ 250 USD แต่ขณะนี้ต้องจ่ายสูงถึง 205 USD ต่อ 1 เที่ยวบิน

2. หนังสือพิมพ์ทันห์เนียน ( Thanh Nien) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลฉบับหนึ่งของเวียดนามได้ตีพิมพ์บทความเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อย official campaign เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าเวียดนามโดยใช้จุดเด่นของการเป็น safe destination และเรียกร้องให้ประกาศเตือนประชาชนไม่ให้เดินทางไปประเทศไทย

3. จากการสอบถามผู้ประกอบการไทยในเวียดนาม พบว่าผลกระทบที่ได้รับทันที คือสูญเสียโอกาสในการเจรจาธุรกิจ เพราะบางรายกำลังจะได้รับงานประมูลโครงการตบแต่งสำนักงาน เพียงแต่เจ้าของโครงการขอดูโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยก่อนตัดสินใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ปิดสนามบิน ทำให้พลาดโอกาสในการรับงาน

หากเหตุการณ์นี้ดำเนินยืดเยื้อต่อไป ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อสินค้าไทยที่เวียดนามนำเข้าเพราะเอกสารการนำเข้าสินค้าที่จัดส่งทาง DHL อาจมาช้าและเกิดปัญหาในการปล่อยสินค้าจากพิธีการศุลกากรของเวียดนาม

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ