ตลาดอียิปต์ - ชุมทางสินค้าไทยในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 13:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1 ข้อมูลพื้นฐานสำคัญ

**ที่ตั้ง**

อียิปต์ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของโลก เป็นที่ตั้งทางการค้าที่สำคัญ และเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชีย

ทิศเหนือ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทิศตะวันออกติดกับทะเลแดงโดยมีคลองสุเอซ เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมการเดินทางที่มีความสำคัญมาแต่สมัยโบราณ

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับ ปาเลสไตน์ อิสราเอลและจอร์แดน

ทิศใต้ ติดกับ ซูดาน

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ลิเบีย

**พื้นที่**

อียิปต์มีเนื้อที่ 997,938 ตารางกิโลเมตร หรือ 385,305 ตารางไมล์ ประมาณเกือบ 2 เท่าของประเทศไทย

**เมืองสำคัญ**

กรุงไคโร (Cairo) เมืองหลวง เป็นที่ตั้งของหน่วยงานบริหารราชการ

สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ และมีความสำคัญเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า

การท่องเที่ยว และเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ตลอดจนแหล่งจ้างงาน

นครอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ ตลอดจน เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า และแหล่งพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายฝ้าย

เมืองพอร์ท ซาอิด (Port Said) เป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นเขตปลอดภาษี

เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ Cairo, Luxor, Aswan (ชมโบราณสถาน) และเมือง Hurghada และ Sharm El Sheikh (เมืองท่องเที่ยวชายทะเล)

**Public Free Zone**

อียิปต์สนับการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการส่งออก และมี Public Free Zone 7 แห่ง ตั้งอยู่ที่ กรุง Cairo และเมืองที่มีท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ Alexandria, Port Said, Ismailia, Suez และ Damietta

**ท่าเรือ**

ท่าเรือหลัก คือ Alexandria, Port Said, Damietta, Suez และ Dekheila, Arish,

East Port Said, Adabia, Sokhna ,Safaga, Nuweiba, Sharm-El-Sheikh

**ท่าอากาศยานในเมืองสำคัญ**

Cairo Int’l Airport, Taba Airport, Sharm El Sheikh Airport, Hurghada Airport, Luxor Airport, Aswan Airport

2. ศักยภาพและความสำคัญทางการค้าของอียิปต์

2.1 ลักษณะกายภาพด้านทำเลที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย

2.2 เส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง และมีเส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอช เชื่อมยุโรป อเมริกาเหนือ กับ อาหรับ แอฟริกา และเอเซีย

2.3 จำนวนประชากร 76 ล้านคน มีอัตราการเติบโต 2 % ต่อปี นับเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่

2.4 เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญรองรับนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆจำนวน 10ล้านคน/ปี จึงมีการพัฒนาด้านการบริการ การขยายโรงแรมที่พัก ศูนย์การค้า ภัตตาคารร้านอาหารนานาชาติ และความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค

2.5 เป็นที่ตั้งของสภาสันนิบาตอาหรับ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมเจรจาและเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม

2.6 มีศักยภาพที่จะเป็นประตูนำเข้าและส่งออกสินค้า ทำหน้าที่เชื่อมโยง และกระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ยุโรปและเอเชียได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันได้นำเข้าสินค้าไทยส่งออกต่อไปยังประเทศลิเบีย ซูดาน และประเทศอื่นที่อยู่ใกล้เคียง

2.7 มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศและกลุ่มประเทศสำคัญๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการค้าและเปิดตลาดการค้าของประเทศอียิปต์ และประเทศคู่ค้า ทั้งในภูมิภาคแอฟริกาและต่างภูมิภาคกัน ดังนี้

  • Europe Mediterranean Partnership Agreement ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ ตูนีเซีย โมร็อกโก ปาเลสไตน์ จอร์แดน อิสราเอลและอียิปต์

สาระสำคัญของข้อตกลง จะให้การยกเว้นภาษีศุลกากรตามรายการสินค้าและกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่รวมถึงสินค้าการเกษตร นอกจากนี้ได้รวมการนำระเบียบวิธีการของ WTO และ GATT มาใช้ เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ การทุ่มตลาด การอุดหนุน และการคุ้มครองป้องกัน รวมทั้งแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ในฐานะประเทศที่พึงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงประเทศผู้ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง Most Favored Nation (MFN)

  • Qualified Industrial Zones (QIZs) ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอียิปต์ และอิสราเอล

สาระสำคัญของข้อตกลง คือการเปิดตลาดสหรัฐอเมริกาให้แก่สินค้าที่ผลิตในอียิปต์และใช้ปัจจัยการผลิตจากอิสราเอล ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ กำหนดให้บริษัทที่ตั้งอยู่ในเขต Free Zone ของอียิปต์ 7 แห่ง สามารถส่งสินค้าออกไปสหรัฐอเมริกา โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรหรือไม่มีข้อจำกัดด้านโควต้าการค้า ถ้ามีวัตถุดิบหรือปัจจัยในการผลิตของอิสราเอลอย่างน้อย 11.7 % ทั้งนี้คาดว่า สินค้าสิ่งทออียิปต์จะได้รับประโยชน์มากที่สุด

  • Greater Arab Free Trade Area (GAFTA) ระหว่างประเทศในแอฟริกาเหนือ.ได้แก่

อึยิปต์ ลิเบีย ตูนีเซีย โมร็อกโก และตะวันออกกลาง ได้แก่ ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน และอิรัก

โดยมีสาระสำคัญ จะให้การยกเว้นภาษีศุลกากร อาจรวมถึงภาษีการขายและค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศที่ทำข้อตกลงระหว่างกัน

  • Common Market for Eastern and Southern Africa (COMESA) ระหว่างประเทศใน แอฟริกา รวมทั้งอียิปต์ รวมจำนวน 20 ประเทศ ได้แก่ Angola, Burundi, Comoros, Congo, Djibouti, Egypt, Eritrea, Ethiopia, Kenya, Madagascar, Malawi, Mauritius, Namibia, Rwanda, Seychelles, Sudan, Swaziland, Uganda, Zambia, Zimbabwa

วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดทำข้อตกลง คือ การสนับสนุนและร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและด้านการตลาด รวมทั้งการยกเว้นภาษีนำเข้า และลดข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก COMESA

3 โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

3.1 โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศอียิปต์ ขึ้นอยู่กับสาขาการผลิตสินค้าและการบริการเป็นสำคัญ สาขาการผลิตสินค้าเรียงลำดับมูลค่าสูงสุด ประกอบด้วย อุตสาหกรรมต่างๆ 19.2% น้ำมันและผลิตภัณฑ์ต่างๆ 15.9% เกษตรกรรม 14.1% การค้า 11.23 % ค่าใช้จ่ายภาครัฐ 10.80 % การขนส่ง 3.9 %โดยปี 2550 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 7.2

จากการที่อียิปต์มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของโลก ที่มีเส้นทางเดินเรือเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลางแอฟริกาตอนเหนือ และประเทศภูมิภาคในเอเซีย โดยเฉพาะการใช้เส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอช ประกอบกับมีท่าเรืออำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า อียิปต์จึงสามารถทำหน้าที่เป็นประตูนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในปี 2550 มีจำนวนเรือแล่นผ่านคลองสุเอชประมาณ 24,000 ลำ ทำให้มีรายได้จากค่าผ่านคลอง 4,790 ล้านเหรียญสหรัฐ

3.2 ผลผลิตการเกษตรสำคัญ

  • ฝ้าย เป็นพืชส่งออกที่สำคัญ ผลผลิตฝ้ายของอียิปต์มีประมาณปีละ 2.5 -2.6 ล้านตันหรือร้อยละ 40 ของปริมาณฝ้ายของโลก
  • ข้าวสาลี ผลผลิตข้าวสาลีของอียิปต์มีประมาณ 5.4 ล้านตัน ใช้ในการทำขนมปัง ซึ่งเป็น อาหารหลักของชาวอียิปต์
  • ข้าว เป็นพืชที่ปลูกในอียิปต์มากกว่า 1,400 ปี เป็นข้าวเมล็ดสั้นกลม ผลผลิตข้าวอียิปต์มี ประมาณปีละ 5.8-6 ล้านเมตริกตัน ใช้บริโภคในประเทศประมาณ 3.2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปจำหน่ายในประเทศแอฟริกาและตะวันออกกลาง
  • มะเขือเทศ มีปริมาณการผลิตมากเป็นอันดับห้าของโลก ผลผลิตมีประมาณ 2.8-2.9 ล้านตัน โดยสามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี และเป็นพืชผักส่งออกอันดับหนึ่งไปยุโรปและประเทศอาหรับ รวมทั้งใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
  • หอมหัวใหญ่ อียิปต์ผลิตได้ประมาณ 9.8 ล้านตัน เป็นสินค้าส่งออกไปตลาดยุโรปสำคัญอีกชนิดหนึ่ง พืชผักที่มีความสำคัญรองลงมาคือ มันฝรั่ง
  • ส่วนผลไม้ที่เป็นสินค้าส่งออก คือ ส้ม มะม่วง องุ่น ผลไม้ อื่นๆที่ปลูกได้และส่วนใหญ่ใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศได้แก่ แอปเปิล สตรอเบอรี แตงโม เป็นต้น

3.3 ผลผลิตอุตสาหกรรม

  • อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มีมูลค่าการผลิตประมาณ 3-3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 1,500 โรง ผลิตสินค้าทั้งอาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปต่างๆนอกจากนี้ยังมีบริษัทอาหารชั้นนำของต่างชาติที่ร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอียิปต์เพื่อจำหน่ายในประเทศและใช้เป็นฐานส่งออกไปยังตลาดในตะวันออกกลาง ยุโรป และประเทศแอฟริกา
  • อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีโรงงานผลิตที่เป็นของรัฐ 12 แห่ง ผลิตชุดนอน ชุดชั้นใน เสื้อยืด ชุดสูทและเสื้อผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ โดยสินค้าส่วนใหญ่มีคุณภาพปานกลางและต่ำ มีผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปชั้นนำของภาคเอกชนที่ผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้าของตน รวมทั้งผลิตภายใต้ License หรือ Franchise ของบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของยุโรปและสหรัฐอเมริกา และบางรายก็รับจ้างผลิตให้กับบริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง เสื้อผ้านับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอียิปต์ประเภทหนึ่ง
  • อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า อียิปต์มีโรงงานทำรองเท้าและเครื่องหนังขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูง ปัจจุบันมีผู้ผลิตรองเท้าและเครื่องหนังหลายพันราย เป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่และทันสมัยประมาณ 500 ราย ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ และที่เขตอุตสาหกรรมเมือง 10th Ramadan และ 6th October
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ อียิปต์มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและ ประกอบรถยนต์หลายราย โดยโรงงานประกอบรถยนต์ ได้แก่ Arab American Vehicles (AAV), Citroen, General Motors (GM), Hyundai, , Nasco, Peugeot, Suzuki, Mercedes-Benz สำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกมีบริษัทประกอบรถโดยสารและรถบรรทุก ได้แก่ El-Tramco, Ghabbour, GM, MICAR, Nasco รถบรรทุกส่วนหนึ่งจะส่งออกไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาหรับ
  • อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อียิปต์มีกำลังคนในอุตสาหกรรมภาคนี้ถึง 1.2 ล้านคน ซึ่งถือว่ามี เป็นจำนวนมากที่สุดในตะวันออกกลาง ผู้นำตลาดรายใหญ่คือ Ceramica Cleopatra ตั้งขึ้นในปี 1987 เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เซรามิค กระเบื้อง ปูพื้น/ผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ส่งออกต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร กลุ่มประเทศอาหรับ และแอฟริกา
  • การท่องเที่ยว เป็นธุรกิจสำคัญที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศมาสู่อียิปต์จำนวนมาก โดยมี จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2550 ประมาณ 10 ล้านคน มีรายได้เข้าประเทศประมาณ 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ซึ่งมีเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

3.4 โครงสร้างเศรษฐกิจของอียิปต์

แม้จะมีการผลิตทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ในประเทศ และส่งออกในบางสินค้าได้ แต่ก็ยังต้องพึ่งการนำเข้าเพื่อนำใช้ในการผลิตในภาคเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ อาหารโดยการนำเข้าข้าวสาลี เนื้อสัตว์ พืชน้ำมัน อาหารแปรรูป ส่วนการนำเข้าภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้ากึ่งสำเร็จรูปประเภทชิ้นส่วน/ส่วนประกอบ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป อาทิ เส้นใยประดิษฐ์ คอมเพรสเซอร์ ชิ้นส่วน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

4 ภาพรวมทางการค้า

4.1 สภาพการค้า

โดยทั่วไป กล่าวได้ว่า อียิปต์มีการทำการค้ากับประเทศต่างๆทั่วโลก แต่การนำเข้าสินค้าจะมีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกจำนวนมาก เป็นผลให้ประสบกับการขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาโดยตลอด ถึงแม้ว่ามูลค่าที่ขาดดุลการค้าจะเริ่มลดลงในแต่ละปีก็ตาม

4.2 สินค้าหลักนำเข้า-ส่งออก และประเทศคู่ค้า

  • สินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฝ้ายและเส้นใยจากฝ้าย เหล็กและเหล็กกล้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าว มันฝรั่ง อะลูมิเนียม แก้วและภาชนะทำด้วยแก้ว ผลิตภัณฑ์เซรามิค ผลิตภัณฑ์ยา หนังดิบและหนังฟอก
  • สินค้านำเข้าสำคัญ คือ ข้าวสาลี ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานพาหนะและชิ้นส่วน กระดาษและสิ่งของที่ทำด้วยเยื่อกระดาษ เนื้อสัตว์บริโภค ยาสูบ ยางและสิ่งของทำด้วยยาง พืชน้ำมัน ทองแดงและสิ่งของทำด้วยทองแดง น้ำตาล ปลาและอาหารทะเล คอมพิวเตอร์ มอเตอร์และชิ้นส่วน อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็นและตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ นมและผลิตภัณฑ์ทำจากนม

ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิตาลี สหรัฐอเมริกา อินเดีย สเปน ซาอุดิอาราเบีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ส่วนตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ ซาอุดิอาราเบีย อินเดีย สเปน หากพิจารณามูลค่าการค้า จะเห็นได้ว่าประเทศคู่ค้าสำคัญคือ ประเทศในสหภาพยุโรป

4.3 สถิติการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์กับทั่วโลก

หน่วย พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

          ปี              ปริมาณการค้ารวม       อียิปต์ส่งออก        อียิปต์นำเข้า       ดุลการค้า
         2546                17.05              6.16            10.89          -4.73
         2547                20.52              7.68            12.84          -5.16
         2548                30.45             10.65            19.81          -9.17
         2549                34.31             13.72            20.59          -6.87
         2550                43.20             16.17            27.03         -10.87
อัตราขยายตัว 50/49            25.90%             17.84%           31.27%        -58.22%
ที่มา Central Agency for Public Mobilization and Statistics (CAPMAS)

4.4 การส่งออกสินค้า ไปยังประเทศแอฟริกาที่มีมูลค่าส่งออกสูงในอันดับแรก ได้แก่ ประเทศลิเบีย ซูดาน โมร็อกโก ตูนีเซีย เคนยา แอลจีเรีย ส่วนตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาราเบีย เลบานอนจอร์แดน ซีเรีย ยูเออี เยเมน และอียิปต์ได้นำเข้าสินค้าจากประเทศดังกล่าวเช่นกัน ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งสามารถมีบทบาทและเป็นประตูการค้า และส่งออกต่อได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต รวมถึงการค้าและการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปที่อยู่ใกล้เคียงกัน

5. การค้ากับประเทศไทย

5.1 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียิปต์ ในปี 2550 รวมกันประมาณ 486.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด โดยไทยส่งออกสินค้าไปอียิปต์มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 479.0ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้นำเข้าสินค้ามูลค่าประมาณ 7.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับในปี 2551 (ม.ค.-ก..ย.) มูลค่าสินค้าออกของไทยไปอียิปต์ ประมาณ 504.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 เมื่อเทียบกับปี 2550 ในช่วงเดียวกัน และนำเข้าสินค้าจากอียิปต์ เพิ่มขึ้นเป็น 68.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ

5.2 สินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องซักผ้าซักแห้งและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ใบยาสูบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบ หลอดภาพโทรทัศน์สี เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากอียิปต์ ได้แก่ น้ำมันดิบและเส้นใย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผักผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เป็นต้น

สินค้าไทยที่มีศักยภาพและแนวโน้มส่งออกมาอียิปต์ได้สูงขึ้นในอนาคต อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ของตกแต่งบ้านของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

5.3 สถิติการค้าระหว่างไทยกับอียิปต์

หน่วย ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          ปี              ปริมาณการค้ารวม     ไทยส่งออก     ไทยนำเข้า      ดุลการค้า
         2546                225.0           172.9        52.1         120.8
         2547                300.5           217.9        82.6         135.3
         2548                332.3           267.8        64.5         203.3
         2549                393.0           377.3        15.7         361.6
         2550                486.0           479.0         7.0         472.0
   2550 (ม.ค.-ก.ย.)          353.2           348.1         5.1         343.0
   2551 (ม.ค.-ก.ย.)          578.4           504.4        68.6         435.8
อัตราขยายตัว 51/50            63.75%          44.90%       1245%           27%
ที่มา ศูนย์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับกรมศุลกากร

6. ความต้องการนำเข้าสินค้า

สินค้าที่อียิปต์ต้องการทั้งสินค้าที่มีการผลิตในประเทศอยู่แล้ว หรือจำเป็นต้องนำเข้า อาจพิจารณาแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

6.1 สินค้ามุสลิม หมายถึงสินค้าที่สอดคล้องตาม วิถีชีวิต จารีตธรรมเนียมประเพณี และไม่เป็นข้อห้ามตามบทบัญญัติของศาสนา ได้แก่

  • ชุดพื้นเมือง หรือชุดประจำชาติ เช่น ชุดแต่งกายชาย(Jalabia) ที่มีเสื้อคลุมยาว (Camis) ชุดแต่งกายหญิง (Fostan) ที่มีผ้าคลุมหน้า (Nekap)
  • เครื่องประดับ ของแท้และเทียม โดยผู้ชายไม่สวมใส่เครื่องประดับทำด้วยทอง
  • อาหารฮาลาล ประเภทเนื้อสัตว์ที่มีการเชือดตามบัญญัติศาสนา ยกเว้น สุกร และสัตว์ป่ามีพิษ ฯลฯ รวมทั้งห้ามบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบแอลกอฮอล์
  • อาหารหลัก เช่น แป้งสาลีเพื่อทำขนมปัง อินทผลัม น้ำมันมะกอก
  • สินค้าในช่วงเทศกาลถือศีลอด (Ramadan) เช่น ประทีปโคมไฟ (Fanus) ผลไม้กวนสำหรับผสมน้ำดื่มก่อนรับประทานอาหาร

6.2 สินค้าที่มีการซื้อขายทั่วไป โดยเฉพาะพิจารณาในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีการผลิตและมีโอกาสส่งออกได้แก่

  • อาหารทะเล และอาหารแปรรูป
  • รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์/เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ/ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ/ ตู้เย็นและส่วนประกอบ
  • ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง/ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก/ กระดาษและผลิตภัณฑ์
  • สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ/ รองเท้าและชิ้นส่วน
  • ของใช้ในบ้านและครัวเรือน/ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
7. ช่องทางการตลาด

7.1 การติดต่อเสนอสินค้าต่อผู้นำเข้าโดยตรง เพื่อให้นำเข้าและสามารถส่งขายกระจายสินค้าไปยังผู้จำหน่าย คือ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายของชำ รวมทั้ง โรงงานสำหรับใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งผู้นำเข้าบางรายที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ จะเป็นผู้กระจายสินค้าเอง หรือส่งผ่านทางผู้แทนจำหน่ายในเครือข่ายของตน

7.2 ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีจำนวนมาก จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าเฉพาะอย่าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ขายส่งขายปลีกอยู่เดิม และจะมีตลาดรับซื้อที่เป็นลูกค้าของตนเองโดยเฉพาะ นับเป็นผู้กระจายสินค้าไปยังผู้ใช้ผู้บริโภคโดยตรงและอย่างทั่วถึงที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่ง บางครั้งจะเป็นผู้นำเข้าเพื่อส่งออกต่อด้วย

7.3 การจำหน่ายสินค้าโดยอาศัยเอเย่นต์หรือผู้จัดจำหน่าย ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งอาจพิจารณาบริษัทที่ติดต่อสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าไทยมาระยะหนึ่ง หากมียอดการสั่งซื้อตามเป้าหมาย

7.4 สินค้าไทยเหมาะสำหรับตลาดระดับกลาง โดยมีโอกาสที่สามารถจะเจาะขยายตลาด และตอบสนองความต้องการของตลาดสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ปานกลาง-สูง โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพ รูปแบบที่ทันสมัย

7.5 สินค้าไทยมีโอกาสที่จะขยายการส่งออกสินค้าประเภท ส่วนประกอบและชิ้นส่วน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น คอมเพรสเซอร์ เส้นใยประดิษฐ์ หลอดภาพทีวี รวมทั้งสินค้าที่จำเป็นต้องสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตไม่เพียงพอ เช่น ยางธรรมชาติ ยางรถยนต์ กุ้งสดแช่แข็ง ไมโครเวฟ เป็นต้น

7.6 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อให้ทราบความต้องการ ศึกษาตลาด การพบเจรจาการค้าและโอกาสเสนอขายสินค้า ฯลฯ

8. ข้อเสนอแนะทางการค้า

8.1 กลยุทธ-แนวทาง

  • ดำเนินนโยบายการค้าแบบสองทาง (Two-way Trade) โดยพิจารณานำเข้าสินค้าจำเป็น(น้ำมัน วัตถุดิบ) และส่งออกสินค้าที่ตรงกับตลาดต้องการ
  • สนับสนุนการเพิ่มชนิดและกระจายประเภทสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แทนการพึ่งพาสินค้าส่งออกไม่กี่ชนิด
  • ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และใช้ตราเครื่องหมายการค้าของตนเองสำหรับกลุ่มเป้าหมายตลาดระดับกลาง และระดับบน
  • เพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้า โดยการเดินทางไปเยือนของคณะผู้บริหารระดับสูงคณะนักธุรกิจ และผู้แทนการค้า ทั้งในระดับรัฐและเอกชน
  • สนับสนุนการจัดกิจกรรม ส่งเสริมการส่งออก โดยการแนะนำประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู่จักต่อเนื่อง
  • ระยะยาว สนับสนุนการเข้ามาลงทุนและร่วมลงทุนของไทย ในประเทศที่มีศักยภาพ

โดยมีแหล่งทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ และ/หรือเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า และ/หรือ ศูนย์ธุรกิจการค้าและการบริการสำคัญ เพื่อเป็นฐานและเครือข่ายช่วยกระจายสินค้าไทยในภูมิภาค

8.2 การดำเนินกิจกรรมทางการค้า

  • ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไทย แหล่งติดต่อซื้อขาย ภาพลักษณ์และคุณภาพของสินค้าแก่ผู้นำเข้า และให้ข้อมูลผู้สนใจซื้อแก่ผู้ส่งออก
  • นำผู้นำเข้าไปเยือนงานแสดงสินค้าในไทย เยี่ยมชมสินค้า
  • จัดคณะผู้นำเข้าพบเจรจาการค้ากับผู้ส่งออก ทั้งเดินทางมาไทยและไปพบต่างประเทศ
  • นำคณะผู้ส่งออกเดินทางไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

8.3 สรุปข้อเสนอในทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ตลาดของผู้ส่งออก

  • ผู้ส่งออก สอบถามข้อมูลสำหรับติดต่อผู้นำเข้า จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทางโทรสาร และอีเมล์ รวมทั้งข้อมูลการค้าอื่นๆที่สนใจ เพื่อการติดต่อเสนอสินค้าโดยตรง
  • ผู้ส่งออก ให้ความสนใจและตอบรับการจัดนัดหมายพบเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าที่เดินทางมาซื้อสินค้าไทยและติดตามผลเจรจาอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ส่งออก แจ้งความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งออกและขยายตลาดในประเทศตลาดใหม่โดยเฉพาะ การร่วมในคณะเดินทางไปพบเจรจาการค้า และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ตามที่กรมฯแจ้งเชิญเข้าร่วม
  • ผู้ส่งออก เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและ/หรือเยี่ยมพบผู้นำเข้าด้วยตนเอง โดยเฉพาะ หากได้มีการส่งออกไปยังประเทศนั้นๆด้วยแล้ว
  • ผู้ส่งออก สนับสนุนร่วมมือกับผู้นำเข้าสินค้า/ตัวแทน/เอเยนต์ จัดกิจกรรมส่งเสริมขายเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาด
  • ผู้ส่งออกรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า และติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบการค้าในประเทศที่ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากในบางประเทศ เพิ่งมีการเปิดตลาดการค้าขึ้นใหม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงไคโร

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ