ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลามเข้าสู่เวียดนามแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 17, 2008 12:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เวียดนามเริ่มรับรู้ถึงสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แม้ในช่วงแรกเริ่มของการเกิด ‘ hamburger crisis’ รัฐบาลเวียดนามจะออกมาให้ความมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจของประเทศยังมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก แต่โดยที่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งนี้ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP โลก และเป็นตลาดที่สั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกคิดเป็น 15% ของมูลค่าการนำเข้าของโลกเมื่อเกิดภาวะวิกฤตจึงมีผลกระทบต่อการค้า การลงทุนและการเงินทั่วโลก รวมทั้งเวียดนามที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้

ผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การลดลงในอัตราการเติบโตของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มูลค่าการส่งออกของปี 2551 คาดว่าจะเป็นเพียง 63.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ ทำให้รัฐบาลต้องปรับลดเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกในปี 2552 จากเดิม 18% เหลือเพียง 13% นอกจากนี้ สภาแห่งชาติของเวียดนามได้ให้ความเห็นชอบในการปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ( GDP growth ) ของปี 2551 จาก 9% เป็น 6.7% ตามที่รัฐบาลเสนอและเลือกกรณีเลวร้ายที่สุดสำหรับการตั้งเป้า GDP growth ปี 2552 ณ ระดับ 6.5% แทนที่จะเป็น 7% หรือ 7.5% ตามข้อเสนอของรัฐบาล

ปัจจุบันรัฐบาลได้ปรับนโยบายจากเดิมที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อการลดภาวะเงินเฟ้อมาเป็นการป้องกันภาวะเงินฝืด ( deflation ) แทนแม้จะยังคงให้ความสำคัญต่อการ anti — inflation แต่ก็ไม่ใช่เป็น top priority ของรัฐบาลอีกต่อไป

เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม ปี 2551

          GDP growth          6.5%
          inflation           Under 15%

per capita GDP US$ 1,200

export turnover US$ 72.3 พันล้าน ( + 13% year-on-year )

trade deficit US$ 17-18 พันล้าน

อัตราเงินเฟ้อลดลง : สัญญาณการบริโภคชะลอตัว

หลังจากที่ราคาสินค้าใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภค ( Consumer Price Index: CPI ) ได้ลดลง -0.19% จากเดือนที่ผ่านมาและเดือนพฤศจิกายนได้ลดลงอีก -0.76% การลดลงของ CPI เนื่องจากการลดลงของราคาอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร ( ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 40% ของรายการสินค้าที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ) น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีผลต่อค่าขนส่ง และวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ( General Statistic Office : GSO ) คาดว่า CPI ในเดือนธันวาคมจะยังคงลดลง และเงินเฟ้อตลอดปี 2551 จะเป็น 22% ลดลงจากที่เคยคาดไว้ 24% เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2551 ( ตามรายงานของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่แถลงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ )

สิ่งนี้เป็นสัญญาณว่าผู้บริโภคในประเทศใช้จ่ายน้อยลงซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติเพราะประชาชนมักจับจ่ายใช้สอยมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะก่อนเทศกาลตรุษเวียดนาม ( Tet ) ที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมักจะเป็นช่วง peak ของการบริโภคและสินค้าจะมีราคาสูงกว่าช่วงอื่นๆ

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง: เพิ่มการว่างงาน

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 อัตราการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ระหว่าง 16 -19 % เทียบกับช่วงเดียวกันของที่ผ่านมาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการซื้อของประเทศลูกค้าลดลง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน ตุลาคมและพฤศจิกายน เติบโตเพียง 15.2% 15.4% และ 15.6% ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

การที่มูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ลดลงเนื่องจากมาตรการของรัฐในการลดภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีและผลกระทบจากวิกฤติการเงินซึ่งมีผลต่อการบริโภคลดลงของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เวียดนามส่งออกไปยังประเทศลูกค้าที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น หลายอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศลดลงหรือแม้แต่ขอระงับสัญญา ขอให้ปรับกำหนดการส่งมอบให้ล่าช้าออกไป หรือขอเซ็นสัญญาฉบับใหม่ ทำให้มีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก

สมาคมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs) ของเวียดนามได้รายงานว่าประมาณครึ่งหนึ่งของ SMEs ในเวียดนามซึ่งจำนวนประมาณ 320,000 ราย ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงมากคือ 20% ต่อปีหรือมากกว่า อันเป็นผลจากนโยบายเข้มงวดทางการเงินของรัฐบาลและ SMEs จำนวน 60,000 รายกำลังประสบปัญหาล้มละลาย ซึ่งในจำนวนนี้ 30,000 รายได้หยุดดำเนินกิจการแล้ว

นักวิชาการเวียดนามได้ออกมาเตือนรัฐบาลว่าการชะลอตัวลงของการผลิตอาจทำให้สาขาธุรกิจบางสาขา เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ IT และการท่องเที่ยว เป็นต้น ลดคนงานลงในปี 2552 รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มเข้มงวดในการรับคนเข้าทำงานเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพสูง จะนำไปสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งอาจส่งผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจมากกว่าภาวะเงินเฟ้อและเสนอแนะให้รัฐบาล ใช้มาตรการกระตุ้นความต้องการของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะตลาดในชนบทซึ่งคิดเป็น 70% ของประชากรทั้งหมดเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงของการส่งออกซึ่งคิดเป็น 60% ของ GDP

มาตรการของรัฐ : ปรับจากต่อสู้เงินเฟ้อเป็นรับมือเงินฝืด

ปัจจุบัน การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดเป็น top priority ของรัฐบาลเวียดนามโดยได้ประกาศมาตรการ 5 ข้อ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2552 ที่สภาแห่งชาติของเวียดนามได้ความเห็นชอบแล้ว มาตรการดังกล่าวคือ

1. กระตุ้นให้เกิดการผลิต การดำเนินธุรกิจและการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุด

2. กำหนดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการให้สามารถลงทุนดำเนินกิจการต่อไปได้เร่งให้ดำเนินการตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนยากจนและคนงาน

3. ใช้มาตรการทางการเงินและการธนาคารที่มีความยืดหยุ่นและทันเวลาเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

4. ลดความอดหยากของชุมชนที่ยากจนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ

5. สร้างความมั่นใจในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีมติให้กระทรวงการคลังนำเงินสำรองเงินตราต่างประเทศของชาติจำนวน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ออกมาใช้สนับสนุนโครงการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

การดำเนินการของธนาคารแห่งชาติของเวียดนาม ( State Bank of Vietnam: SBV )

รัฐบาลได้อนุญาตให้ธนาคารแห่งชาติลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ( prime interest rate) และอัตราที่สำคัญอื่นๆ ลงซึ่งภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ได้มีการประกาศลดถึง 4 ครั้ง สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมเงินของผู้ประกอบการให้สามารถกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจต่อไปได้

การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ( prime interest rate) ของธนาคารแห่งชาติของเวียดนาม

หน่วย : % ต่อปี

วันที่มีผลใช้บังคับ      prime interest rate   refinancing    discount rate    overnight rate
11 มิถุนายน 2551              14%
21 ตุลาคม  2551              13%            14%               12%                14%
5 พฤศจิกายน2551              12%            13%               11%                13%
พฤศจิกายน 2551               11%            12%               10%                12%
5 ธันวาคม 2551               10%            11%                9%                11%

ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ( prime interest rate) จาก 14% ต่อปีเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เป็น 13% 12% 11% และ 10% ภายในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2551 ตามลำดับทำให้อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บต่อปีลดลงเป็น 15% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ที่เป็น 16.5% และอัตราอื่นๆ ของธนาคารได้ลดลงเช่นกัน คือ refinancing และ overnight inter-bank rates ที่ชำระผ่านทางอิเล็คทรอนิกส์ ลดลงจาก 14% เมื่อเดือนตุลาคม 2551 เป็น 11% ในเดือนธันวาคม 2551 และ discount rate ลดจาก 12% เป็น 9% ส่วนอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือ 9%

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามยังได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ลดเงินสำรองของธนาคารทั้งที่เป็นเงินเวียดนามด่องและเงินตราต่างประเทศลง 2% เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์

ความเห็นของนักวิชาการ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2552 คงเป็นเพียง 2.2% เปรียบเทียบกับตัวเลขคาดคะเนของการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2551 ที่เป็น 3.7% และ 5% ของปี 2550 ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 2552 จะเป็น -0.7% สหภาพยุโรป -0.5% และญี่ปุ่น -0.2% ดังนั้นเศรษฐกิจเวียดนามจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการลดลงของการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่ลดลงซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิจัยจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ที่เชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2552 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 5.5% ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย 6.5% ที่สภาแห่งชาติได้กำหนด และคาดว่าธนาคารแห่งชาติของเวียดนามจะลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงไปอีกเป็น 9% ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552

ส่วนนักวิชาการในประเทศได้แนะนำให้รัฐบาลควรมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมและควรมองวิกฤตการณ์ครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจให้มีความพร้อมในการรองรับการเข้ามาของนักลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว

ส่วนในระดับจุลภาค นักวิชาการเสนอแนะให้นักธุรกิจควรพยายามพัฒนาตลาดในประเทศและขยายกิจกรรมการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกเหนือจากตลาดดั้งเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ได้เสนอแนะให้พิจารณาตลาดใหม่ๆ ที่เริ่มนำเข้าสินค้าจากเวียดนามแล้ว เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ โมรอคโค และไนจีเรีย เป็นต้น รวมทั้งการเพิ่มการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ