ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนสุนัขและแมวมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อันเป็นผลมาจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดที่ลดต่ำลง คนญี่ปุ่นจึงนิยมมีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนและนับเป็นสมาชิกของครอบครัว บ่อยครั้งที่จะได้เห็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขในชุดที่ตัดเย็บมาเป็นพิเศษตามฤดูกาล โดยมีเจ้าของคอยจูงบนท้องถนนในญี่ปุ่น นอกจากนี้มีร้านจำหน่ายอุปกรณ์-อาหารสุนัข สถาบันฝึกสุนัข รวมทั้งโรงแรมสุนัขเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแสดงถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นที่กำลังขยายตัวได้ดี
ปัจจุบันจำนวนสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวในญี่ปุ่นมีถึงประมาณ 25 ล้านตัว และอัตราส่วน 1 ใน 3 ของครัวเรือนในประเทศที่มีสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนโดยแนวโน้มอัตราการขยายตัวของสัตว์เลี้ยงดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากจำนวนครัวเรือนและจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องมีมูลค่าทางการตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ
- ธุรกิจขายและเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง
เนื่องจากในปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายควบคุมการเพาะพันธุ์และการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงสามารถเพาะพันธุ์และนำเข้าสัตว์เลี้ยงได้อย่างเสรี คนญี่ปุ่นสามารถเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้โดยง่าย เพียงการเข้าไปหาซื้อตามร้าน pet shop โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ซื้อแต่อย่างใด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้ตลาดสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นขยายตัว
- ธุรกิจบริการด้านการรักษาพยาบาล (Pet Medical Clinic)
จากค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรม และบริการใหม่ๆ รวมทั้งมีการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยี การนำเสนอรูปแบบบริการธุรกิจต่อเนื่องที่กำลังขยายตัวตามตลาดสัตว์เลี้ยงอย่างหนึ่ง คือ ธุรกิจบริการด้านการรักษาพยาบาล โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบจากโรงพยาบาลสัตว์ (animal hospital) มาเป็นคลินิคสัตว์เลี้ยง (pet clinic) ซึ่งเป็นธุรกิจเฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉลี่ยคลีนิค 1 แห่ง จะมีเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงมาใช้บริการแห่งละประมาณ 5,000 ราย นอกจากนี้การรักษาพยาบาล ยา และอุปกรณ์ มีการพัฒนาไปอย่างมาก รวมทั้งมีจำนวนสัตวแพทย์เฉพาะทาง (pet doctor) ที่เพิ่มมากขึ้น
- อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (Pet Food)
อาหารสัตว์ (Pet Food) เริ่มผลิตและจำหน่ายในญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2502 โดยบริษัท Kyodo Shiro ภายใต้ชื่อ “Vita - One” และภายหลังจากนั้นมีบริษัทผู้ผลิตทั้งในประเทศญี่ปุ่นเอง และจากต่างประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งมีการข่งขันกันในตลาดอาหารสัตว์ในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ของประเทศญี่ปุ่นประมาณ 894 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
- เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและของใช้ (Pet Accessories)
อีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตตามกระแสและไม่ควรมองข้าม คือ ธุรกิจเสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่นและอุปกรณ์ต่างๆ (Pet Accessories) ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
นอกจากนี้ด้วยสาเหตุจากต้นทุนการผลิตสูง บริษัทญี่ปุ่นจึงมักจ้างโรงงานในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเป็นฐานการผลิต แหล่งผลิตที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ประเทศจีน และประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก จนเข้าสู่ยุคสภาพเศรษฐกิจขยายตัวเป็นต้นมาจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย คนญี่ปุ่นเริ่มจับจ่ายใช้สอยและแสวงหาความสุขให้แก่ตนเองมากขึ้น สัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของ จากกระแสที่ชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเอาใจใส่ดูแลเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามนำเสนอรูปแบบบริการต่างๆ อาทิ ประกันภัยชีวิต/สุขภาพสัตว์เลี้ยง สปา สถาบันฝึกสุนัข อุปกรณ์และพีธีการสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งธุรกิจบริการเหล่านี้มีสัดส่วนทางการตลาดสูงถึง 2,600 ล้านเยน หรือประมาณ 925 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้การเรียกร้องถึงความปลอดภัยในด้านอาหารและสุขภาพของสัตว์เลี้ยงก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารสัตว์ก็ตาม แต่เพื่อสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยอาหารสัตว์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ (Pet Food Manufacturers Association) ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารสัตว์ ได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับอาหารสัตว์ของสมาคมขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการออกกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2552 ภายใต้ Animal Protection and Management Act กฎระเบียบนี้จะใช้ครอบคลุมเพียงอาหารสุนัข และแมว โดยกำหนดมาตรฐานตั้งแต่กระบวนการผลิต การติดฉลาก และส่วนประกอบของอาหาร
นับว่าอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโต ซึ่งหมายถึงโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะเข้ามาทำตลาดในสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงยังมีอีกมาก ทั้งนี้โดยคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยควบคู่กัน โอกาสเพิ่มปริมาณและมูลค่าส่งออกของไทยจะยิ่งสูงขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ เมืองฟูกูโอกะ:
ที่มา: http://www.depthai.go.th