สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ขอรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ในเขตคันไซ คิงกิและชิซึโอกะ (พื้นที่ดูแลของสคต.โอซาการวม 17 จังหวัด คือ โอซากา เกียวโต วากายาม่า นารา ชิกะ ฟุกุอิ อิกาว่า โตยาม่า มิเอะ ไอจิ กิฟุ ชิซึโอกะ นากาโน่ คากาว่า โทกุชิม่า เอฮิเมะ โคจิ เฮียวโกะ) ในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2551 สรุปได้ดังนี้
1. การส่งออกสินค้าทั้ง 17 จังหวัดมายังประเทศไทยมีมูลค่า 13,998.43ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีมูลค่า 12,864.94 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ทั้งนี้สินค้าขาออกจากญี่ปุ่นไปยังไทยจะผ่านทางท่าเรือในเขตที่สคต.โอซากาดูแลคิดเป็นร้อยละ 56.47 ของปริมาณการส่งออกจากทั้งหมดจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยในช่วงเดียวกัน (มูลค่า 24,788.92 ล้านเหรียญสหรัฐ)
2. การนำเข้าสินค้าทั้ง 17 จังหวัดจากประเทศไทยมีมูลค่า 7,558.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2550 ซึ่งมีมูลค่า 7,630.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 0.9 ทั้งนี้สินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะส่งมาที่ท่าเรือในเขตที่สคต.โอซากาดูแลคิดเป็นร้อยละ43.32 ของปริมาณการนำเข้าประเทศไทยทั้งหมดมายังญี่ปุ่นในช่วงเดียวกัน (มูลค่า 17,448.85 ล้านเหรียญสหรัฐ)
3. สัดส่วนของสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่ส่งออกมาประเทศไทย ได้แก่ เครื่องจักร (ร้อยละ29.1) สินค้าส่วนประกอบ(ร้อยละ 23.5) อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ (ร้อยละ18.8) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ11.8) ชิ้นส่วนยานยนต์(ร้อยละ 11.1) สินค้าจำพวกวัตถุดิบ (ร้อยละ 1.3) อาหาร (ร้อยละ0.4) และเชื้อเพลิง (ร้อยละ0.2) อื่นๆ (ร้อยละ3.8)
4. สัดส่วนของสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่นำเข้าจากประเทศไทยได้แก่ ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ (ร้อยละ18.2) เครื่องจักร(ร้อยละ15.7) อาหาร (ร้อยละ 13.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 13.2) สินค้าส่วนประกอบ (ร้อยละ 13.1) วัตถุดิบ (ร้อยละ 6.8) ชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 4.5) เชื้อเพลิง (ร้อยละ 3.5)และอื่นๆ (ร้อยละ11.7)
จากสถิติดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงขาดดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกจากญี่ปุ่น(เฉพาะในเขตที่สคต.ดูแล) มายังประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกมีการขยายตัวถึงร้อยละ 8.5 ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากไทยในรอบ 9 เดือนลดลงร้อยละ 0.9 (รายละเอียดดังแนบ)
5. ยอดขายรถยนต์ใหม่ เดือนพ.ย.51 ลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยสมาคมผู้ค้ารถญี่ปุ่นเปิดเผยในวันที่ 1 ธ.ค.51 ว่ายอดขายรถมือหนึ่งภายในประเทศ ( ยกเว้นรถประเภทที่มีเครื่องต่ำกว่า 1,000cc ) ประจำเดือน พ.ย.51 ลดลงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า มีจำนวน 215,783 คัน เป็นการลดลงติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว และนับเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในรอบ 39 ปี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้สู่ญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยิ่งตกต่ำลงมากขึ้น
6. บริษัทฮอนด้า มอเตอร์คาดการณ์ว่าผลกำไรในปี 2551 ของบริษัทจะมีมูลค่าน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ราว 60 เปอร์เซนต์ และอาจต้องปรับลดเงินเดือนของพนักงานในระดับผู้จัดการลงถึง 10 เปอร์เซนต์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ โดยที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ประกาศยุติการมีส่วนร่วมในการแข่งขันรถยนต์สูตร 1 (ฟอร์มูล่าวัน) เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว
สาเหตุหลักในการลดลงของผลกำไรมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่ลดค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเยน ทำให้ผลกำไรในต่างประเทศของฮอนด้าไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ทางบริษัทฯคำนวนว่าทุกๆหนึ่งเยนที่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์และเยนเปลี่ยนไปบริษัทฯจะสูญเสียกำไร (Operating profit) ไป 18 พันล้านเยนหรือประมาณ 6,426 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน/0.357 บาท)
7. บริษัท นิสสัน มอร์เตอร์ประกาศลดการผลิตรถยนต์ส่วนของตลาดภายในประเทศลงเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้อีก 78,000 คันรวมเป็น 225,000 คันหรือ 16 เปอร์เซนต์ จากที่ตั้งเป้าการผลิตไว้ 1.4 ล้านคันก่อนเกิดวิกฤตการณ์
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา
ที่มา: http://www.depthai.go.th