อุตสาหกรรมการผลิตกุ้งในอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 22, 2008 12:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วงที่ผ่านมา อิหร่านได้พยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าที่มิใช่ปิโตรเลียม เช่นอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมประมงภายในประเทศ อิหร่านจึงมีนโยบายสนับสนุนการผลิตสินค้าประมงโดยให้การอุดหนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มเลี้ยงกุ้ง โดยมุ่งเน้นให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นทะเลทรายและพื้นราบให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศจากการผลิตและส่งออกกุ้ง ทั้งนี้อิหร่านมีพื้นที่ติดทะเลถึงสองด้านคือทางทิศเหนือติดทะเลสาบแคสเปี้ยนซึ่งเป็นทะเลปิดและมีแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 740 กิโลเมตร และทางทิศใต้ติดกับอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมานที่มีแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 1,700 กิโลเมตร ทำให้อิหร่านมีพื้นที่เหมาะสมในการทำการประมงและการทำฟาร์มกุ้ง อิหร่านจึงสามารถผลิตกุ้งได้จำนวนมากในแต่ละปี โดยปัจจุบันไม่พบว่าอิหร่านนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ แต่กลับเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ในภูมิภาค และขยายการผลิตและส่งออกกุ้งอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยร้อยละ 90 ของผลผลิตจากฟาร์มกุ้งจะส่งออกไปยุโรปและอาเซียน และร้อยละ 10 บริโภคภายในประเทศ

อิหร่านส่งออกอาหารทะเลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณอิหร่าน (มีนาคม-ตุลาคม 2551) มีปริมาณทั้งสิ้น 18,899 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนร้อยละ 154 แบ่งออกเป็นการส่งออกปลาเพาะเลี้ยงชนิดต่างๆ ร้อยละ 85 ที่เหลือเป็นการส่งออกกุ้งเพาะเลี้ยงในอัตราส่วนร้อยละ 15-10 ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา อิหร่านผลิตกุ้งได้ 2,500 ตันและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศอื่นๆ ในปริมาณ 2,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2551 อิหร่านจะสามารถผลิตและส่งออกกุ้งได้ 3,000 ตัน โดยจะส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อาทิเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ฮอนแลนด์ ตุรกี กรีซ โอมาน เกาหลีใต้และสเปน ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอิรักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อิหร่านมีนโยบายที่จะขยายตลาดส่งออกอาหารทะเลไปยังกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป และประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยินดีที่จะให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างประเทศจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเอควาดอร์

สำหรับปัญหาสำคัญด้านการส่งออกคือการบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและหีบห่อที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน ทำให้ประเทศผู้ซื้อเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสเปนนำผลิตภัณฑ์ไปทำการบรรจุหีบห่อใหม่และเปลี่ยนชื่อสินค้าเป็นของตนเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวต่างประเทศไม่รู้จักอิหร่านในฐานะประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้ผลิตกุ้งเท่าที่ควร

ชนิดของกุ้ง

การผลิตกุ้งในอิหร่านแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือกุ้งเพาะเลี้ยงและกุ้งทะเลที่จับได้ทางภาคเหนือของประเทศ (ทะเลสาบแคสเปียน) และทะเลทางตอนใต้ของประเทศอิหร่าน (อ่าวเปอร์เซีย) ส่วนกุ้งเพาะเลี้ยงในอิหร่านมี 3 ชนิด คือ (1) กุ้งพันธ์ Whiteleg shrimp ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Litopenaeus vannamei โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอิหร่านมีการเพาะเลี้ยงกุ้งเพาะกุ้ง (Whiteleg shrimp) ในจังหวัดกุลิสตาน (Ghulestan) มาซันดะรอน (Mazandaran) ยัซด์ (Yazd) บูเชะฮร์(Bushehr) ชีสตานและบลูชิสตาน (Chestan va Boluchestan) และคูซิสตาน (Khuzestan) เนื่องจากกุ้งดังกล่าวสามารถแพร่ขยายพันธ์ได้มากและทนต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ทั้งนี้ในปีปัจจุบันอิหร่านได้นำเข้ากุ้งพ่อพันธ์และแม่พันธ์ชนิดนี้จำนวน 10,000 ตัว (2) กุ้งพันธ์ Babreye Sabz หรือ Penaaeus Semisulcutus และ (3) กุ้งพันธ์ Sefede Hendi หรือPenaeus Indicuse ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 2 ตันต่อเฮกเตอร์ต่อปี

พื้นที่ฟาร์มกุ้ง

อิหร่านมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งประมาณ 15 ปี โดยฤดูกาลจับกุ้งของอิหร่านมีปีละ 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละฤดูใช้เวลาจับกุ้งนาน 45 วัน ทั้งนี้ อิหร่านมีพื้นที่สำหรับทำฟาร์มกุ้งจำนวน 5,300 เฮกเตอร์ แบ่งเป็นพื้นที่นาในจังหวัดบูเชะฮร์ (Bushehr) 4,000 เฮกเตอร์ มีบริษัทผู้ประกอบการ 60 บริษัท กุ้งที่ผลิตได้ในจังหวัดบูเชะฮร์ (Bushehr) คิดเป็นร้อยละ 60 ของกุ้งที่ผลิตได้ในประเทศอิหร่าน โรคระบาดกุ้งที่พบในอิหร่านได้แก่ โรค White Spot Syndrom Virus +

พฤติกรรมการบริโภคกุ้งของชาวอิหร่าน

สำหรับพฤติกรรมการบริโภคกุ้งของชาวอิหร่าน พบว่า กุ้งถือว่าเป็นอาหารฟุ่มเฟือยและมีราคาแพง แม้ว่า อิหร่านจะสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งได้เองก็ตาม แต่เนื่องจากปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง และขาดแคลนห้องเย็นเพื่อเก็บและจัดจำหน่าย ทำให้กุ้งมีราคาแพงและเป็นอาหารสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงในอิหร่าน ซึ่งมีเพียงประมาณร้อยละ 15-20 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ พบว่าวัฒนธรรมการประกอบอาหารของชาวอิหร่านไม่มีความหลากหลาย ทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคกุ้งไม่สูงนัก โดยชาวอิหร่านส่วนใหญ่มักนิยมรับประทานข้าวกับ ไก่ แกะและเนื้อเป็นหลัก จะเห็นได้ชัดว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่นิยมทานอาหารทะเลมากนัก ยกเว้นประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศที่นิยมรับประทานอาหารทะเลเป็นพิเศษ

การจำหน่าย

สินค้าอาหารทะเลและกุ้งสดจะจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาเก็ต เช่น ห้างชาร์วาน Shahrvand ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเตหะราน และมีอยู่ 10 สาขา มีแผนกอาหารทะเลแช่แข็งและกุ้งแช่แข็งจำหน่ายในตู้แช่อาหาร หรือตลาดปลา (Fish Market) ที่เป็นแหล่งขายปลารวมกันอยู่ที่เดียวกันใจกลางชุมชน และมีร้านเล็กๆ ขายอาหารทะเลกระจายอยู่ทั่วไปซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก

ราคา

เดือนธันวาคม 2551 ราคากุ้งสดจากทะเลที่เมือง Boushehr มีราคาประมาณ 5,000 เรียลต่อกิโลกรัม ในขณะที่กุ้งเลี้ยงจากฟาร์มมีราคาประมาณ 3,500-4,000 เรียลต่อกิโลกรัม

ราคากุ้งแช่แข็งจำหน่ายในตลาดกรุงเตหะราน เป็นกุ้งขนาดกลาง ประมาณ 2 - 3 นิ้ว ราคากิโลกรัมละ 200,000 - 240,000 เรียล หรือ 20 - 24 เหรียญสหรัฐฯ และกุ้งขนาดใหญ่ ประมาณ 3- 5 นิ้ว ราคากิโลกรัมละ 295,000 - 400,000 เรียล หรือ 29.5 - 40 เหรียญสหรัฐฯ

สรุป

การส่งออกกุ้งไทยไปยังอิหร่านอาจประสบปัญหาการแข่งขันกับผู้ผลิตกุ้งภายในประเทศอิหร่าน และประสบความยากลำบากในการช่วงชิงตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ ปัจจุบันอิหร่านมีนโยบายสนับสนุนการร่วมลงทุนจากต่างชาติมากกว่าการนำเข้า ดังนั้น การขยายตัวทางการค้าโดยการร่วมลงทุนระหว่างไทย-อิหร่านก็มีศักยภาพสูงเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกกุ้งไปสู่ภูมิภาคยุโรปโดยมีฐานการผลิตในอิหร่าน ไทยก็จะสามารถส่งออกกุ้งไปแข่งขันในตลาดยุโรปได้โดยอาศัยความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ถูกกว่าที่เกิดจากการขนส่งเพราะระยะทางจากอิหร่านไปยุโรปที่สั้นกว่าไทย นอกจากนี้โดยเฉลี่ยแล้ว ราคาต้นทุนต่างๆ อาทิ อาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง และการขนส่งที่ใช้บริษัทเดินเรือทะเลขนาดใหญ่ของอิหร่านต่ำกว่าของไทย ทำให้การลงทุนในอิหร่านมีแรงจูงใจสูงขึ้นไปด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ