การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 23, 2008 15:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปัญหาและการแก้ไข

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบทำให้อัตราขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ผู้บริโภคลดการใข้จ่าย ธุรกิจที่อยู่อาศัยหดตัว และภาคอุตสาหกรรมลดการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยลงไปอีก ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Bank) ได้เข้ามาแก้มาปัญหาด้วยการใช้มาตราการลดอัตราดอกเบี้ยที่ให้แก่สถาบันการเงิน (Federal Fund) จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน นับได้ว่าเป็นช่วงการปรับลดที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐ

ผลกระทบ

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มสนับสนุนการลดดอกเบี้ยมีความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยรักษาระดับราคาสินค้ามิให้ต่ำลงไปมาก ซึ่งหากราคาสินค้าลดลงไปเรื่อยๆ จะเป็นผลให้ทำลายเศรษฐกิจในที่สุดและเพื่อหวังผลด้านจิตวิทยา ให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกที่ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่จูงใจให้ผู้บริโภคออมเงิน แต่จะผลักดันให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย มีความมเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำมาก เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดต่อการปล่อยเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงตามสัดส่วนที่ธนาคารฯ กลางลดลง เนื่องจากลูกค้าที่มาขอกู้จำนวนมากยังมีความเสี่ยงสูง จึงไม่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนั้นแล้ว ผู้บริโภคมีหนี้สินที่ต้องชำระจำนวนมาก จึงไม่สามารถเพิ่มการใช้จ่ายได้ ดำเนินการดังกล่าว ไม่สามารถบอกได้ว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไร หรือผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มหรือไม่ ประการสำคัญ การลดอัตราดอกเบี้ย มิได้ทำให้หนี้สินของผู้บริโภคลดลงไป

สรุปและเสนอแนะ

1. นักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่ามาตรการการคลัง ในด้านเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐบาล เช่น การก่อสร้าง ซ่อมบำรุง ถนน ทางหลวง สะพาน และ ระบบขนส่งมวลชน ตามที่รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดี Barack Obama ประกาศว่าจะดำเนินการ จะเห็นผลได้ชัดเจนและมีผลสูงต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศมากกว่ามาตรการด้านการเงิน

2. กลุ่ม Fix Housing First ซึ่งเป็นองค์กรประกอบด้วยผู้ประกอบการในธุรกิจที่อยู่อาศัยกว่า 600 บริษัท มีความเห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมาจากปัญหาการยึดบ้าน (Foreclosure) ของธุรกิจที่อยู่อาศัย ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงควรเน้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เป็นสำคัญ โดยใช้มาตรการการช่วยเหลือด้านการเงิน (Stimulus Package) แก่ภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย เข้ามาช่วยลดภาระหนี้สินเงินกู้ที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค เช่น การเข้ามาซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน การให้ดอกเบี้ยเงินกู้ระดับต่ำแก่เจ้าของบ้านที่สูญเสียบ้านเพื่อสามารถผ่านชำระธนาคารได้ และการให้เงินกู้ในอัตราต่ำแก่ผู้ประกอบในธุรกิจสร้างที่อยู่อาศัย หรือการให้การลดหย่อนภาษี (Tax Credit) แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อผลประโยชน์ด้านการเพิ่มอำนาจการซื้อของผู้บริโภคเพื่อ และการรักษาเสถียรภาพของราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบต่อขยายตัวการผลิตและการจ้างงาน รวมไปถึงการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ