ตลาดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากข้าวในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 24, 2008 14:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขนมหวานและขนมขบเคี้ยวนอกจากจะเป็นอาหารว่างที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานในระหว่างวันแล้ว ยังเป็นของขวัญหรือของฝากที่ชาวญี่ปุ่นชอบเลือกซื้อให้แก่ญาติมิตรในช่วงเทศกาลและโอกาสพิเศษด้วย ความนิยมขนมหวานของชาวอาทิตย์อุทัยสะท้อนให้เห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการซื้อขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่สูงประมาณร้อยละ 7 ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารทั้งหมดในแต่ละปี ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นตลาดขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วยมูลค่าการตลาดที่สูงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและหนึ่งในบรรดาขนมขบเคี้ยวที่ชาวญี่ปุ่นนิยม ก็คือ ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าว

พฤติกรรมการบริโภคและแนวโน้มของตลาด

ขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวเป็นขนมดั้งเดิมที่ชาวญี่ปุ่นบริโภคมานานนับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน และแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2007 ความต้องการบริโภคมีถึง 227,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นปริมาณที่ผลิตในประเทศ 219,200 ตัน และปริมาณนำเข้าจำนวน 11,600 ตัน

ผู้ผลิตในญี่ปุ่นได้พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างความแตกต่าง เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาด เช่น การผลิตขนมให้มีขนาดพอคำ (bite-sized product) เพื่อความสะดวกในการบริโภคในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เน้นวัตถุดิบจากแหล่งที่มีชื่อเสียง เช่น มีส่วนผสมของถั่วเหลืองชั้นดีจากเมือง Choshi จังหวัดชิบะ หรือผลิตจากข้าวคุณภาพเขต Tohoku เป็นต้น รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ขนมไส้ซอสถั่วเหลือง (soy sauce) หรือ “Nure — Okaki / Nure — Sembei” เข้าสู่ตลาด ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

          นอกจากนี้ในปัจจุบันผู้ผลิตขนมปังนิยมนำแป้งข้าวจ้าว (rice flour) มาผลิตหรือเป็นส่วนประกอบในการผลิตขนมปังมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการใช้เพียงจำนวนน้อยเพียงเพื่อผลิตสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่นิยมหรือร่างกายแพ้แป้งสาลี  และเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดเท่านั้น  แต่ปัจจุบันแนวโน้มการใช้แป้งข้าวจ้าวมีเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตขนมของญี่ปุ่น ประกอบกับราคาแป้งสาลีในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้แป้งข้าวจ้าวแทนมากขึ้น  โดยปัจจุบัน บริษัท Yamasaki Baking ซึ่งเป็นบริษัทผลิตขนมปังรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้เริ่มการผลิตขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวจ้าวอย่างเต็มรูปแบบ    รวมทั้งร้าน Lawson ซึ่งเป็นสะดวกซื้อชั้นนำที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่น      ได้เริ่มวางจำหน่ายขนมปังที่ผลิตจากแป้งข้าวจ้าวในทุกสาขากว่า 8,000 แห่ง ตั้งแต่เดือนกันยายน ที่ผ่านมา

กฎระเบียบการนำเข้า

การนำเข้าขนมหวานและขนมขบเคี้ยวในญี่ปุ่น อยู่ภายใต้กฎหมายสุขอนามัยอาหาร (Food Sanitation Law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมสินค้าอาหารสารประกอบอาหาร และภาชนะบรรจุอาหารโดยสรุปสาระสำคัญและขั้นตอน ดังนี้

ประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนมาใช้ระบบมาตรฐานสารเคมีตกค้าง ระบบ Positive List ในการตรวจสอบสินค้าอาหารที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2549

ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับสินค้าที่จะส่งออก ที่สำคัญ ได้แก่

  • ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ (ingredient)
  • กระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงขั้นตอนผลิตสุดท้ายรวมทั้งระยะเวลาและอุณภูมิที่ใช้ในการทำให้ปราศจากเชื้อ(sterilization)
  • ชื่อและที่อยู่ของโรงงานผลิต
  • คำอธิบายผลิตภัณฑ์ ( Description of Product)
  • ในกรณีที่สินค้านั้นมีส่วนประกอบของเนื้อวัวหรือสารที่สกัดจากเนื้อวัวจะต้องระบุประเทศแหล่งกำเนิดที่เลี้ยง ชำแหละ และผลิต

เอกสารรับรองสุขอนามัย (Sanitary Certificate) จากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองใน ประเทศผู้ส่งออก

ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้อง (Notification Form for Importation of Food) พร้อมทั้งเอกสารจากประเทศผู้ส่งออก ต่อด่านกักกันอาหารและยา (MHLV* quarantine station) ของกระทรวงสาธารณสุขฯ ของญี่ปุ่น

การนำเข้า-ส่งออกและโอกาสทางการตลาดของไทย

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวมายังญี่ปุ่น รายใหญ่เป็นอันดับ 1 ในสินค้าขนมขบเคี้ยวจากข้าว รหัส 1905.90321 และอันดับ 2 ในสินค้าขนมขบเคี้ยวจากข้าว รหัส 1905.90311รองจากจีน โดยมีมูลค่าส่งออกในปี 2551 (มค. — ตค.) จำนวน 2.46 และ 4.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกไทยซึ่งนอกจากจำเป็นต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยของอาหารสำหรับประเทศที่มีความอ่อนไหวด้านสุขอนามัยอาหารเช่นญี่ปุ่นแล้ว จำเป็นต้องติดตามรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากปริมาณความต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวของคนญี่ปุ่นในประเทศที่มีมากถึงประมาณ 300,000 ตันต่อปี และแม้ว่าขณะนี้ญี่ปุ่นจะนำเข้าขนมขบเคี้ยวจากต่างประเทศไม่มากนัก (สัดส่วนการนำเข้าเพียง 10%) แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดรองรับขนมหวานและขนมขบเคี้ยวที่มีศักยภาพสูงที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น   ขนม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ